โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘สุชาติ’ เต็งประธานสภา พปชร.เปิดทาง หากปชป.ต้องการ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 06.00 น.

ไทม์ไลน์การเมืองไทยกำหนดไว้ชัดเจนว่า หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แล้ว ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม กกต.จะต้องประกาศรายชื่อ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 95% จากส.ส.ระบบเขต 350 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ขณะที่ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะต้องนำรายชื่อวุฒิสภาทั้ง 250 คน ขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง

เมื่อได้ส.ว. 250 คนแล้ว ทำให้องค์ประกอบรัฐสภาครบถ้วน คือมีทั้งส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน ขณะเดียวกันใน 15 วันหลังวันประกาศผลเลือกตั้ง (ภายใน 23 พ.ค.) จะเสด็จฯ เปิดประชุมรัฐสภา เพื่อวันรุ่งขึ้นที่ประชุมรัฐสภาจะได้โหวตเลือก ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา

สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญ ในฐานะเป็น 1 ใน 3 เสาหลักประชาธิปไตย นอกจากบทบาทสำคัญของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วยังมีภารกิจหลักในการคุมเกมในสภาฯ

 

“สุชาติ”เต็งประธานสภา

ขณะที่ที่มาของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีประธาน สภา 1 คน และรองประธานสภา 1 หรือ 2 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภา ซึ่งการเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภานั้น สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ โดยการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

ในกรณีมีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าหากมีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ เมื่อลงมติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม และให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์

แม้ว่าขณะนี้ทาง กกต.ได้ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อประกาศรายชื่อส.ส. ให้ทันวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด อีกด้านหนึ่งแต่ละพรรคการเมือง นอกจากเตรียมจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะต้อง เตรียมรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะความอาวุโสทางการเมือง มีประสบการณ์ แม่นยำเรื่อง กฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภา และต้องวางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่

ปัจจุบันตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่างลง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ทำหน้าที่ประธานสภา แทนจนกว่ามีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560

แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แกนนำ พรรคได้วางตัวแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้แล้ว โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ พปชร. จะเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ส.ส.ฉะเชิงเทรา และแกนนำซุ้มการเมืองบ้านริมนํ้า ที่ยกทีมอดีตส.ส.กว่า 40 คนซบพรรคพปชร. ให้เป็นประธานสภา เนื่องจากเคยผ่านประสบการณ์ในการทำหน้าที่รองประธานสภา มาแล้วในปี 2548

เปิดเส้นทาง “สุชาติ”

“สุชาติ” เกิดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2501 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ จบปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ จาก Notre Dame de Namur University ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าสู่สนามการเมืองตั้งแต่ปี 2529 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปัตย์ หลังเกิดเหตุการณ์ “กลุ่ม 10 มกรา” สุชาติ ย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทย ในปี 2534 รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูก รสช. ยึดอำนาจ จึงย้ายมาอยู่พรรคสามัคคีธรรม ของพ่อเลี้ยง “ณรงค์ วงศ์วรรณ” ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.มหาดไทย ในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ปี 2535 แต่อยู่ในเก้าอี้ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 

*สุชาติ ตันเจริญ *

ต่อมามีการเลือกตั้งในปี 2532 สุชาติย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา พร้อมก่อตั้งกลุ่ม 16 ซึ่งเป็นกลุ่มส.ส.หนุ่มจากหลายพรรคการเมือง อาทิ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, เนวิน ชิดชอบ, จำลอง ครุฑขุนทด, สนธยา คุณปลื้ม มีบทบาทโดดเด่นมากที่สุดในยุคนั้น โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประชาธิปัตย์ กรณี ส.ป.ก.4-01 ส่งผลให้สุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา

สุชาติ ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “ตี๋กร่าง” เพราะมีเอกลักษณ์ที่ไม่ยอมใครง่ายๆ

 

พร้อมยก“ปธ.สภา”ให้ปชป. 

อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งประธานสภานั้น ยังมีรายงานว่า ขณะนี้แกนนำพลังประชารัฐ รอมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตัดสินใจร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพปชร. และต้องการตำแหน่งประธานสภา ทางพลังประชารัฐ ก็พร้อมยกตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติให้ ปชป. ซึ่งเห็นว่าใน ปชป.มีคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้หลายคน

“วิสุทธิ์”ลุ้นชิงประธานสภา 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แม้มีจำนวนส.ส.ระบบเขตมากเป็นอันดับ1 แต่เป็นที่รู้กันดีว่าแกนนำพรรคที่เคยทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร อาทิ โภคิน พลกุล, ยงยุทธ ติยะไพรัช และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ หรืออดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่าง “สามารถ แก้วมีชัย” กลายเป็นส.ส.สอบตก หมดสิทธิ์นั่งเก้าอี้ใหญ่ในสภา

จึงคาดว่าพรรคเพื่อไทย จะมีชื่อ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ว่าที่ส.ส.พะเยา เป็นหนึ่งในแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเคยเป็นอดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เคยได้รับการยอมรับจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่าทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ดี และมีความเป็นกลางที่สุด

“วิสุทธิ์” เกิดวันที่ 13 พฤษภาคม 2501 จบปริญญาตรี เทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาสัตวศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.จังหวัดพะเยา สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี 2544 และ ปี 2554 ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ส่วนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา “วิสุทธิ์” ใส่เสื้อพรรคเพื่อไทย ลงชิงส.ส.สนามพะเยา เขต 2 โดยในระหว่างเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้ง “วิสุทธิ์” ถูกยึดทรัพย์ 170 ล้านบาท ในข้อหาหลอกลวงลงทุนในหุ้นนํ้ามัน

จากบทบาทสำคัญในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ยอม รับของทุกฝ่าย ไม่แพ้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่คานอำนาจฝ่ายบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องจับตาดูว่า ในที่สุดแล้ว “ใคร” จะได้ทำหน้าที่ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ คงได้รู้กัน… 

รายงาน โดย ดารารัตน์ มหิกุล

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21 - 24 เมษายน 2562

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0