โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘สุข สูงสว่าง’ ครั้งหนึ่งของเมืองหนังสือ ‘ดวงกมล’ - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 11 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เมื่อปี 2537 เมืองไทยเคยมีศูนย์หนังสือที่ใหญ่สุดในเอเชียอาคเนย์อยู่ที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ 

ผู้คนนับหมื่นต่างเรียงรายเข้ามาเยี่ยมชมความอลังการและหนังสือนับแสนที่อัดแน่นในดินแดนแห่งนี้

แม้สุดท้ายเมืองหนังสือในห้างใหญ่จะหลงเหลือเพียงตำนาน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหายไป คือความฝันของสุภาพบุรุษสูงวัยเจ้าของร้าน ที่หวังยกระดับเมืองไทยให้ก้าวสู่สังคมการอ่านที่แท้จริง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากชักชวนทุกคนมารู้จักเรื่องราวชีวิตที่ไม่ธรรมดาของ‘สุข สูงสว่าง’ ชายผู้เปิดประตูการอ่านให้คนไทยผ่านร้านหนังสือที่ชื่อ‘ดวงกมล’

01

ร้านหนังสือของ ‘คนรักเมีย’

ย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 กว่าปีก่อน ไม่มีใครไม่รู้จักร้านหนังสือและสำนักพิมพ์ ‘ดวงกมล’

ที่นี่เป็นก้าวย่างแรกๆ ของนักเขียนและบรรณาธิการมากมาย ทั้ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี, อรุณ วัชระสวัสดิ์, วิมล ไทรนิ่มนวล, มาลา คำจันทร์, ชาติ กอบจิตติ, จำลอง ฝั่งชลจิตร, เจตนา นาควัชระ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ฯลฯ

แต่รู้หรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นของร้านหนังสือแห่งนี้มาจากความเป็น‘คนรักเมีย’ ของสุข ผู้ก่อตั้งร้าน

สุขกับ ‘คริสติน’ ภรรยาชาวเยอรมันพบกันที่ห้องสมุดในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ทั้งคู่เป็นหนอนหนังสือตัวยง เมื่อแต่งงานและกลับมาตั้งรกรากที่เมืองไทย สุขจึงอยากเอาใจภรรยาด้วยการสั่งซื้อหนังสือดีๆ จากเมืองนอกเข้ามาให้ เพราะรู้ดีว่ายุคนั้น หนังสือต่างประเทศเป็นสินค้าหายากในบ้านเรา และจำกัดอยู่ในวงคนมีฐานะเท่านั้น

พอสั่งมาเรื่อยๆ บ้านของสุขก็เริ่มกลายเป็นห้องสมุดขนาดย่อมๆ หนังสือเริ่มระเกะระกะกองพะเนินเต็มไปหมด สุขก็เลยเกิดความคิดว่า เหตุใดถึงไม่เปิดร้านหนังสือเองเสียเลย

สุขยกข้อดีของการเปิดร้านว่า อย่างน้อยคริสตินก็จะได้มีหนังสืออ่านต่อเนื่อง แล้วเขาเองก็ยังได้กำไรจากการขายอีกด้วย ที่สำคัญร้านนี้อาจกลายเป็นชุมชนของชาวต่างชาติที่อยากหาหนังสือดีๆ อ่าน และสุดท้ายเขาเชื่อว่าตลาดนี้มีโอกาสเติบโต หากเขาคิดก่อน ทำก่อนก็ย่อมมีสิทธิประสบความสำเร็จไม่ยาก

‘บุ๊คส์มาร์ท’ เริ่มต้นเมื่อปี 2508 บริเวณตึกแถวปากซอยสุขุมวิท 24

“ตอนนั้นเรามีคอนเนกชันกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งยุโรป และอเมริกา เพื่อให้เขาส่งหนังสือมาให้ ปรากฏว่า 3 เดือนหลังเปิดร้าน มีสำนักพิมพ์ร้อยกว่าแห่งติดต่อมา ส่งตัวอย่างหนังสือมาให้ผมกับภรรยา แรกๆ เราใช้ชื่อบุ๊คส์มาร์ท หมายถึงตลาดหนังสือ โดยผมให้ภรรยาเป็นคนแบ่งประเภทหนังสือ คือที่เธออ่านแล้ว ขายราคาหนึ่ง และที่ยังไม่อ่านจะขายอีกราคาหนึ่ง กระทั่งได้เงินจากการขาย ผมจึงเริ่มสั่งซื้อหนังสือจากต่างประเทศเข้ามา”

ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นชุมนุมชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อหนังสือ รวมถึงนักอ่านชาวไทยที่อยากฝึกภาษา และอยากรู้จักผลงานระดับโลก โดยหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่สุขเป็นผู้เปิดประตูให้คนไทยรู้จักคือ Penguin Books

เมื่อมีลูกค้าคนไทยมากขึ้น หลายคนจึงถามสุขว่าเหตุใดไม่รับงานของสำนักพิมพ์ไทยมาขายบ้าง เขาจึงตัดสินใจสั่งซื้อวรรณกรรมไทยเข้าร้าน จนลูกค้าแน่นขนัด ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจขยายสาขา ด้วยการเช่าตึก 2 คูหาที่สยามสแควร์ พร้อมตั้งชื่อร้านใหม่ว่า ‘ดวงกมล’

เดิมที ‘ดวงกมล’ เป็นชื่อสำนักพิมพ์ที่สุขเคยตั้งกับเพื่อน ดร.สาทิส อินทรกำแหง ปรมาจารย์ชีวจิต พิมพ์หนังสือขายยากเช่น ‘จากดวงใจ’ หนังสือเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก แต่ทำได้ 2-3 ปีก็ต้องปิด เพราะไม่มีร้านหนังสือยอมรับฝากขาย

แม้จะเคยล้มเหลว แต่สุขเชื่อว่า ดวงกมลเป็นชื่อที่ดี เพราะหมายถึงการกระทำที่เกิดจากใจ เขาเลยไม่ลังเลที่จะดึงมาเป็นชื่อร้าน และก็เป็นจริงดังคาด ดวงกมลรุ่งเรืองมีลูกค้าทั้งไทยทั้งเทศเป็นแฟนประจำ โดยเฉพาะบรรดานิสิตนักศึกษา เนื่องจากที่นี่มีหนังสือวิชาการอยู่ในคลังมากมายเต็มไปหมด

จุดเด่นของดวงกมล คือสุขไม่เคยปฏิเสธหนังสือดีที่ขายยาก หลายเล่มจึงมีขายที่นี่แห่งเดียว

ที่สำคัญเขาไม่เคยต่อว่านักอ่านที่เข้ามาโดยไม่ซื้อเลย เพราะแต่ก่อนสุขก็อ่านฟรีมาตลอดเหมือนกัน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องอาศัยอ่านหนังสือของเพื่อนๆ หรือตามบอร์ดหน้าสำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่งหวังประชาสัมพันธ์หนังสือออกใหม่

หากแต่นโยบายที่ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำร้าน และยังถูกกล่าวขานมาเรื่อยมา คือ ที่นี่ไม่ลดราคาหนังสือเด็ดขาด

บริเวณหน้าร้าน สุขจะเขียนป้ายด้วยลายมือว่า‘..หนังสือร้านนี้ไม่ลดราคา เพราะเจ้าของต้องการมากๆ เอาไว้ซื้อเหล้ากิน..’ แม้ดูเหมือนเรื่องหยอกกันเล่น แต่นี่คือกุศโลบายที่สะท้อนว่า หนังสือแต่ละเล่มที่ถูกเลือกเข้ามาวางขายล้วนมีคุณค่า หากยอมลดราคาก็เท่ากับลดทอนคุณค่าของหนังสือนั่นเอง

“ตอนนั้นอาจารย์ทางจุฬาฯ ติดผมมากเลย เพราะว่าผมรู้เรื่องหนังสือหมด อาจารย์บางคนที่ต้องหาหนังสือนอกเวลาให้นักศึกษาอ่าน ต้องมาถามผมว่า คุณสุข อ่านอะไรที่จะให้นักศึกษาอ่านดี ผมก็เลยแนะนำว่า เรื่องนั้นๆ มันมีคติอย่างไรบ้าง ตอนที่ทำร้านอยู่ที่สยามสแควร์เป็นช่วงที่ดีที่สุด เพราะตอนนั้นผมรู้เรื่องหนังสือดีมาก”

ด้วยปณิธานที่ให้เกียรติหนังสือและผู้อ่านเป็นที่สุด ดวงกมลจึงกลายเป็นร้านหนังสืออันดับ 1 ในใจใครหลายคน และสามารถขยายสาขาได้ถึง 73 สาขาทั่วประเทศ

02

หยั่งรากวรรณกรรมไทย

จากความสำเร็จของร้านหนังสือดวงกมล ทำให้สุขมีความฝันตามมาเต็มไปหมด

หนึ่งในนั้นคือการสร้างสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง เพื่อพิมพ์งานที่มีคุณภาพ และเมืองไทยยังขาดแคลน

สำนักพิมพ์ดวงกมล เวอร์ชันใหม่ต่างจากตอนที่เริ่มทำกับ ดร.สาทิส เมื่อปี 2498 เพราะครั้งนั้นเขาไม่มีร้านหนังสือเป็นจุดกระจายสินค้า หนังสือดีๆ (แต่ดูแล้วไม่ขาย) ก็เลยถูกปฏิเสธเกือบหมด โดยหนังสือประเภทแรกที่สุขพิมพ์ขาย คือ หนังสือวิชาการ ประเภทรวมเรื่องน่ารู้ ทั้งวรรณคดี ประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง และสังคมวิทยา

สุชาติ สวัสดิ์ศรี หนึ่งในมือทำงานของสุข เคยเล่าว่า “คุณสุขอยากส่งเสริมคนเขียนหนังสืออยู่แล้ว ฉะนั้นใครมีอะไรมาเสนอ แกก็พิมพ์ให้หมด บางรายแค่ดื่มเบียร์กันคืนเดียว แกก็ถือเป็นเพื่อนแล้ว พอเอางานมาให้ก็พิมพ์เลย”

พอขายดี สุขจึงเริ่มขยายปีกไปในกลุ่มวรรณกรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า เขามอบหมายให้สุชาติกลับไปค้นเรื่องสั้นที่น่าสนใจมาพิมพ์ จนได้รวมเรื่องสั้น 4 เล่ม

เมื่อพิมพ์เสร็จ สุขก็จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้นักเขียนทันที 10% ของราคาปก คูณด้วยยอดพิมพ์ โดยนักเขียนคนไหนที่หาตัวไม่พบเพราะใช้นามแฝง สุชาติก็นำไปมอบให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นำกลับไปทำกิจกรรมต่างๆ

นับแต่นั้น ดวงกมลจึงกลายเป็นศูนย์รวมของเหล่าปัญญาชน นักคิด นักเขียน แต่ละวันจะมีนักเขียนทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หอบต้นฉบับมาให้สุขพิจารณา อาทิ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, คำพูน บุญทวี หรือแม้แต่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังออกจากป่าสำนักพิมพ์แรกที่เขานึกถึงก็คือ ดวงกมล

“ถนนทุกสายมุ่งมาที่ดวงกมล คุณสุขจะเปิดรับต้นฉบับง่ายๆ ไม่มีสัญญา ไม่มีการเซ็นรับใดๆ ไม่มีหลักฐานอะไรเลย มีแต่ความเชื่อกันในฐานะสุภาพบุรุษ..บางเล่มในฐานะบรรณาธิการ ผมก็เตือนแก บอกแกว่าปฏิเสธไปบ้างก็ได้ แต่แกมักพูดว่า เขากำลังเดือดร้อน.. อย่างแรกคืนเมือง เสกสรรค์ก็ลำบากไม่แพ้เพื่อนคนอื่นๆ และมีแผนจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ตอนนั้นผมจำได้ว่าคุณสุขจ่ายค่าต้นฉบับ 15%” เจ้าของนามปากกาสิงห์สนามหลวงอธิบาย

นอกจากนี้ สุขยังเปิดนิตยสารโลกหนังสือ เพื่อเป็นพื้นที่กลางสำหรับโลกวรรณกรรมและนักเขียนร่วมสมัย โดยมอบหมายให้สุชาติ รับหน้าที่บรรณาธิการเช่นเดิม และหนังสือเล่มนี้เองที่ถูกต่อยอดไปเป็น ‘ช่อการะเกด’ เบ้าหลอมสำคัญที่สร้างนักเขียนมือดีประดับวงการนับไม่ถ้วน

แต่ด้วยกลุ่มผู้อ่านที่ค่อนข้างจำกัด ยอดขายของโลกหนังสือก็เลยทุลักทุเลเรื่อยมา ทำมา 6 ปีเต็ม ขาดทุนสะสมไป 6 ล้านกว่าบาท แต่สุขก็ไม่เคยคิดหยุดทำ กระทั่งสุชาติทนไม่ไหว ต้องเป็นฝ่ายขอหยุดเอง

“คุณสุขแกพูดกับผมเสมอว่า แกคือพ่อค้าคนหนึ่ง แกทำธุรกิจก็ต้องการกำไร แต่สิ่งที่แกทำนั้นไม่คล้ายพ่อค้าเหมือนที่แกพูด และไม่เหมือนพ่อค้าในแบบที่เราคุ้นเคยกันด้วย มันสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่สูงส่ง และเห็นความสำคัญของแวดวงวรรณกรรม นักคิด นักเขียน” สุชาติสรุปตัวตนของชายที่ชื่อ ‘สุข สูงสว่าง’

03

ตำนานเมืองหนังสือ

หลังหยัดยืนบนธุรกิจร้านหนังสือเกือบ 30 ปี สุขก็เริ่มคิดการใหญ่ อยากสร้างร้านหนังสือที่ใหญ่สุดในภูมิภาค

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อสุขได้รับเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้เดินทางไปยังโฮจิมินห์ซิตี้ เพื่อให้ข้อมูลการจัดตั้งศูนย์หนังสือ

กลยุทธ์ของเวียดนามเวลานั้นคือ ใช้หนังสือพัฒนาบุคลากร โดยกำหนดให้โฮจิมินห์ซิตี้เป็นแหล่งผลิตหนังสือดี ราคาถูก รวมทั้งเป็นศูนย์รวมหนังสือจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลกด้วย

พอกลับมาถึงเมืองไทย สุขเลยคิดว่าอาจถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยต้องพัฒนาเรื่องการอ่านอย่างจริงจัง ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ตระกูลซอโสตถิกุล กำลังเริ่มโครงการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บนถนนศรีนครินทร์ เขาจึงใช้โอกาสนี้สร้างเมืองหนังสือขนาด 5,300 ตารางเมตร หรือประมาณ 1 สนามฟุตบอล

“ถ้าผมไม่ทำก็คงไม่มีคนอื่นกล้าทำ เพราะธุรกิจนี้ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไรได้ มันลงทุนสูง แต่ผลประโยชน์น้อยมาก หักค่าใช้จ่ายแล้วผมมีกำไรเพียง 4% ของราคาทุนเท่านั้น”

แม้เส้นทางจะลำบาก แต่สุขก็ไม่เคยถอย เขาเชื่อว่า เมืองไทยสามารถก้าวสู่ดินแดนนักอ่าน ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเคยถูกตีตราผ่านพจนานุกรมระดับโลกว่าเป็นศูนย์กลางแห่งโสเภณี

4 กันยายน 2537 ร้านหนังสือดวงกมล สาขาซีคอนสแควร์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกับหนังสือนับแสนเล่ม ที่ถูกลำเลียงเข้ามาจนเต็มปีกซ้าย ชั้น 3 ของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ติดอันดับโลกในยุคนั้น

สุขหวังใช้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ที่มีอยู่ในใจ ทั้งการสร้างร้านหนังสือดวงกมล ในเวียดนาม และกัมพูชา การจัดนิทรรศการหนังสือ การสร้างหมู่บ้านนักเขียน การนำร้านดวงกมลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้อ่านได้เป็นเจ้าของร้านหนังสือนี้ร่วมกัน

ไม่เพียงแค่นั้น เขายังผลักดันแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือไปยังภาครัฐ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องภาษี ซึ่งเป็นก้างชิ้นโตที่ขัดขวางการพัฒนาของสำนักพิมพ์ในเมืองไทย รวมถึงการสร้างห้องสมุดตามชุมชนต่างๆ

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือการสร้างพื้นที่ความคิดให้คนรุ่นใหม่ เหมือนที่เคยมาแล้วที่สยามสแควร์ โดยบริเวณรอบร้าน สุขได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่จำหน่ายไวน์รสเลิศให้คอหนังสือได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด ตลอดจน DK Film House โรงหนังนอกกระแสขนาดเล็กที่เปิดโลกภาพยนตร์แก่ผู้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“Film House นี้มีลูกน้องมาบอกว่าไม่มีโอกาสได้ดูหนังดีๆ ในเมืองไทยเลย ผมเลยบอกว่าต้องไปหาคุณอึ่งอ่างทะเลที่บางกอกโพสต์ ถามเขาว่าช่วยอะไรได้บ้าง เขาก็บอกว่า เฮ้ย! ยูเอาเครื่องฉายของไอไปใช้เลย แล้วก็แนะนำว่าหนังเรื่องไหนควรเอาไปฉาย ซึ่งส่วนตัวผมเองก็ชอบดูมาก ตอนผมไปอยู่ที่อังกฤษ ต้องสมัครเมมเบอร์ดูหนังคลาสสิก”

ทว่าสุดท้าย ความหวังของสุขก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะนอกจากหนังสือจะกำไรต่ำแล้ว 3 ปีต่อมา ดวงกมลยังต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ตัวเลขยอดขายจึงติดตัวแดงเรื่อยมา จากที่ตั้งเป้าเดือนละ 30 ล้านบาท กลับขายจริงได้เพียง 7 ล้านบาท

ในที่สุดเมืองหนังสือแห่งนี้ก็ทำให้สุขมีหนี้สะสมถึง 700 ล้านบาท

เช่นเดียวกับสถานการณ์ของบริษัทดวงกมลเองที่เต็มไปด้วยความคุกรุ่น เกิดความขัดแย้งภายในอย่างหนัก แต่สุขก็ไม่เคยยอมแพ้ และพร้อมลุกขึ้นสู้เสมอ เพราะเขารู้ดีว่า เป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร ดังคำพูดที่เคยเอ่ย

“ผมมีหนี้สินไม่เป็นไร ขออย่างเดียวให้ผมได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม”

04

ความฝันที่ไม่เคยจาง

หลังพยายามจัดการปัญหาภายในบริษัท รวมถึงหนี้สินต่างๆ สุขจึงเริ่มกลับมาตั้งหลักอีกครั้ง

เขาปล่อยบ้านพักย่านสุขุมวิทให้ฝรั่งเช่า ส่วนตัวเองก็มาซื้อตึกที่ย่านพงษ์เพชร เปิดร้านเล็กๆ จำหน่ายผลงานของดวงกมลยุครุ่งเรือง ทั้งวรรณกรรม หนังสือวิชาการ รวมถึงวรรณกรรมไทยที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ

สุขใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ สลับกับดูแลศูนย์หนังสือกับร้านไวน์ที่ซีคอนสแควร์ นอกจากนี้ยังเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ ‘สำนักพิมพ์นายสุข’ โดยกู้เงินจากเมืองนอกมา 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งใจจะพิมพ์หนังสือสัก 3,410 เรื่อง

หนังสือที่สุขวางแผนพิมพ์ตอนนั้น คืองานวรรณกรรม เขาเชื่อว่าบ้านเรายังมีผลงานดีๆ อีกมาก หากได้รับการส่งเสริมก็น่าจะไปตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งโครงการหนึ่งที่เขาเตรียมการณ์ไว้คือ แปลงานของชาติ กอบจิตติ นักเขียนซีไรต์ 2 สมัยเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมตั้งความหวังจะเห็นนักเขียนไทยสักคนได้รับรางวัลโนเบล

ส่วนงานอีกประเภทที่สุขเริ่มพิมพ์จำหน่ายบ้างแล้วคือ งานเชิงวิชาการ และเชิงความคิด เช่น ทำไมประเทศไทยจึงไม่ขุดคอคอดกระ, อนาคตหนองงูเห่าอนาคตประเทศไทย และคู่มือนายกรัฐมนตรี

“ผมมองเห็นว่าที่ประเทศชาติเราเป็นอย่างนี้ เนื่องจากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ค่อยจะรู้อะไรเท่าไหร่ ผมจึงเห็นว่า เราน่าจะพิมพ์หนังสือเหล่านี้ออกมาบ้าง อย่างน้อยผู้ปกครองบ้านเมืองอ่านแล้วจะได้นำความรู้มาปรับใช้ หรือคนไทยอ่านแล้วจะได้ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงของประเทศอยู่ตรงไหน เหมือนเป็นการจุดประกายความคิดให้ผู้อ่านอีกทาง”

แต่สุดท้ายสิ่งที่เขาคิดก็กลายเป็นเพียงความฝัน เพราะเศรษฐกิจบ้านเรายังคงตกสะเก็ดเรื่อยมา

สุขมีอาการเครียดอย่างหนัก แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นลมหมดสติ ล้มศีรษะฟาดพื้น เส้นเลือดในสมองแตก แม้จะผ่าตัดช่วยชีวิตได้ แต่ร่างกายก็เป็นอัมพฤกษ์ ขยับเขยื้อนไม่ได้ โชคดีที่ยังสามารถพูดโต้ตอบได้ แต่ก็ไม่คล่องแคล่วนัก

สุขเป็นผู้ป่วยติดเตียงนานหลายปี ก่อนจากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 หลงเหลือเพียงความฝันที่จะสร้างสังคมการอ่านให้เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้

ติดตามบทความของ เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบ

- ความเจ็บปวดของ สุข สูงสว่าง ทำไม? เขาจึงทำกับผมแบบนี้ โดย ชาตรี ชะนะภัย

- นิตยสาร ฅ.คน ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 เดือนเมษายน 2549

- นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 28 ฉบับที่ 329 เดือนมีนาคม 2550

- นิตยสาร GM ปีที่ 14 ฉบับที่ 227 เดือนมิถุนายน 2542

- หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2538

- http://www.thaidk.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0