โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘สื่อ-เทคโน-ค้าปลีก’ เตรียมตัว! ปีหน้า Disrupt หนักกว่าเดิม

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 16 พ.ย. 2561 เวลา 01.27 น. • The Bangkok Insight
‘สื่อ-เทคโน-ค้าปลีก’ เตรียมตัว! ปีหน้า Disrupt หนักกว่าเดิม

อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่กันแล้ว ถึงตอนนี้ไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านได้ผ่านตาบทความเกี่ยวกับการทำ Digital Tranformation กันมาแล้วกี่บทความ และส่วนใหญ่ของบทความเหล่านั้นแนะนำอะไรที่เฉพาะเจาะจงได้หรือไม่ นอกเสียจากคำว่า “เราต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนเราจะถูก Disrupt”

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะสถานการณ์ปัจจุบันต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนลิบลับ โดยเมื่อ 10 ปีก่อน แทบทุกวงการสามารถฟันธงได้ว่า ปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป เทรนด์ของตลาดจะเป็นเช่นไร ต้องใช้ดิจิทัลแบบไหน จึงจะสอดรับกับเทรนด์ แต่ปัจจุบัน หากถามลึกลงไปว่าธุรกิจต้องเปลี่ยนอะไร หรือตรงไหน ผู้เชี่ยวชาญแทบจะทุกคนที่ออกมาให้คำแนะนำต่างก็ยอมรับกันตรง ๆ ว่า ไม่สามารถฟันธงได้เลยว่ายุคแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลครั้งนี้ เราจะเปลี่ยนอะไรดี รวมถึงว่ามันจะเปลี่ยนเราไปสู่อะไร

เพียงแต่ภาพที่เราอาจจะต้องเจอ ก็เริ่มปรากฏออกมาบ้างแล้ว เช่น ภาพของสาขาธนาคารที่ทยอยปิดตัว ภาพของโรงงานที่ลดการจ้างแรงงานคน และหันไปใช้แขนกลในการทำงานต่าง ๆ แทน ภาพระบบขนส่งมวลชนที่เป็นรถอัจฉริยะ หรือแม้กระทั่งภาพของการดูแลสุขภาพ ที่หมอกับคนไข้อาจอยู่ห่างกันคนละโยชน์ แต่ก็ยังให้การรักษาได้อย่างดี

หนึ่งในคำตอบของการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้แบบเป็นรูปธรรมที่สุดอาจมาจากการบอกเล่าจากนายวีซี โกปาลรัทนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (CIO) และประธานบริหารฝ่ายยุทธศาสตร์การวางแผน และปฏิบัติการของซิสโก้ ที่บอกว่า การออกมา Transformation ของภาคธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ให้ดูที่จำนวนลูกค้า ถ้าลูกค้ายังอยู่กับเรา ยังซื้อของกับเรา ก็ให้ถือว่า การ Transformation นั้นประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่งก่อนจะพัฒนาไปสู่ระดับถัดไป

(ซ้าย) นายวีซี โกปาลรัทนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (CIO) และประธานบริหารฝ่ายยุทธศาสตร์การวางแผน และปฏิบัติการของซิสโก้ และนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์, กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน
(ซ้าย) นายวีซี โกปาลรัทนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (CIO) และประธานบริหารฝ่ายยุทธศาสตร์การวางแผน และปฏิบัติการของซิสโก้ และนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์, กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน

“จิตวิทยาคือศาสตร์ที่จำเป็นที่สุดในยุคนี้ เพราะจิตวิทยาทำให้เราเข้าใจลูกค้า และสามารถรักษาลูกค้าเอาไว้ได้”

เช่นเดียวกับโลกการแข่งขัน โดยนายวีซีเผยว่า การแข่งขันในยุคต่อไปจะไม่ใช่การแข่งระหว่างบริษัทกับบริษัท หากเป็นการแข่งระหว่างเมืองด้วยกันเอง ว่าใครจะเป็นเมืองที่ดีและสะดวกสบายพอที่จะมีคนหลั่งไหลเข้าไปอยู่อาศัย ซึ่งเมืองจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ อาจต้องอาศัยชื่อ “อัจฉริยะ” พ่วงต่อท้ายเข้ามาอีกคำหนึ่งเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City นั่นเอง

“สมาร์ทซิตี้ คือเมืองที่เข้าใจดาต้า และสามารถใช้ดาต้านั้นแก้ปัญหาได้ เช่น มีเซนเซอร์เก็บข้อมูลอากาศ น้ำ การจราจร ก็สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ อากาศสกปรกหรือไม่ เป็นต้น”

เมื่อหันกลับมามองมูลค่าของการลงทุนด้าน Digital Transformation ในประเทศไทย ซิสโก้ ซิสเต็มส์เผยว่า จากปัจจุบันถึงปี 2565 (ค.ศ. 2022) จะมีมูลค่ารวม 96,000 ล้านดอลลาร์ โดยมาจากภาครัฐ 20,000 ล้านดอลลาร์ และเอกชนอีก 76,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับธุรกิจไทยที่ออกตัวแรงนั้น นายวีซีกล่าวว่า กลุ่มหลัก ๆ คือสถาบันการเงิน, ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และกลุ่มโรงพยาบาล แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นไปได้ว่า แม้กระทั่งคนขับรถบรรทุกก็อาจต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลไว้ติดตัว มิเช่นนั้นก็อาจตกงานได้

ภาพจากเอเอฟพี
ภาพจากเอเอฟพี

“การทำ Digital Transformation จะไม่จบลงภายใน 1 – 2 ปีนี้อย่างแน่นอน เพราะในปี 2563 เรายังมีรถอัจฉริยะไร้คนขับที่เตรียมจะเปิดตัว มี AR/VR ที่กำลังจะมา” เหล่านี้จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนขึ้นอีกนิดว่า เพราะอะไรมนุษย์เราจึงควรทำตัวให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเอาไว้นั่นเอง

นายวีซียังได้กล่าวถึงคุณสมบัติด้านการบริหาร ว่าซีไอโอ (Chief Information Officer) ควรต้องมีทักษะอะไรบ้าง แบ่งได้เป็น 5 ข้อดังนี้

1. มีความสามารถด้านคลาวด์

  1. มีทักษะด้านการเก็บและวิเคราะห์ดาต้าเพื่อช่วยให้ธุรกิจรู้จักลูกค้าของตนเองดีขึ้น
  2. สามารถบริหารจัดการด้านซีเคียวริตี้ได้
  3. มีทักษะด้านเน็ตเวิร์ก
  4. ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้ และพนักงาน

ส่วนอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักมากขึ้นในปี 2562 ในมุมของซิสโก้นั้น นายวีซีมองว่าเป็นอุตสาหกรรมสื่อ, เทคโนโลยี, ค้าปลีก และสถาบันการเงิน (เรียงจากมากไปหาน้อย) ขณะที่ภาคการศึกษา อาจเกิดรูปแบบ Remote Teacher มากขึ้นสำหรับให้เด็กได้เข้าถึงแหล่งความรู้ เนื่องจากครูจะหาได้ยากมากขึ้น

สุดท้ายสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี นายวีซีเผยว่า เอสเอ็มอีไม่ว่าจะไทยหรือประเทศบ้านเกิดเขาอย่างอินเดียต่างก็เจอสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือมีเงินไม่มากพอจะลงทุนพัฒนาดิจิทัลได้เหมือนบริษัทใหญ่ ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่สามารถช่วยเอสเอ็มอีเหล่านั้นได้ผ่านบริการประเภท Subscription เพื่อให้เอสเอ็มอีมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก และสามารถสเกลการใช้บริการได้ตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้อาจเป็นภาพที่เรียกได้ว่าชัดเจนที่สุดอีกภาพหนึ่งของอนาคตในปีหน้า และอาจถือเป็นคำเตือนสุดท้ายสำหรับใครที่ยังไม่ปรับตัวให้เริ่มปรับเปลี่ยนเสียที  เนื่องจากการปฏิเสธที่จะมองว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปนั้น สุดท้ายแล้วอาจไม่เกิดประโยชน์กับใครเลยแม้แต่ตัวเราเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0