โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘สายชล​ เพยาว์น้อย’ ผู้สร้างตำนาน ‘บ้านใร่กาแฟ’ กับสองทางออกสุดท้าย แต่ ‘ไม่ท้ายสุด’ (จบ)

The Bangkok Insight

อัพเดต 24 ก.ค. 2562 เวลา 02.02 น. • เผยแพร่ 24 ก.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • The Bangkok Insight
‘สายชล​ เพยาว์น้อย’ ผู้สร้างตำนาน ‘บ้านใร่กาแฟ’ กับสองทางออกสุดท้าย แต่ ‘ไม่ท้ายสุด’ (จบ)

ผ่านพ้นถึงวันนี้ บ้านใร่กาแฟ ในความคิดของสายชล มองว่า เป็นการเข้าสู่ยุคที่สาม คือยุคของการใช้แบรนด์ บ้านใร่กาแฟ ให้กลับมาอีกครั้ง อย่างเช่นการสร้างเป็นตลาดโรงคั่ว ถือเป็นการใช้แบรนด์ นั่นคือ ตลาดโรงคั่วบ้านไร่กาแฟ ซึ่งก็พบว่า มีคนรักบ้านใร่กาแฟ หรือเขาเรียกว่า “มิตรรักแฟนกาแฟ” ตามมากเยอะมาก ตั้งแต่การทำพิพิธภัณฑ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สาขาแรกของบ้านใร่กาแฟก็ยกมาที่นี่ทั้งหลัง ชื่อบ้าน “เก้าแรก” เป็นความทรงจำที่มีค่าต่อจิตใจ

บ้าน ‘เก้าแรก’ สาขาแรกของบ้านใร่กาแฟ
บ้าน ‘เก้าแรก’ สาขาแรกของบ้านใร่กาแฟ

เราเรียกว่าที่นี่ว่า พื้นที่อันเป็นหัวใจขององค์การบ้านใร่กาแฟ เพราะทุกอย่างมันรวมอยู่ที่นี่ เราเคารพธงชาติ สวดมนต์ เข้าแถว มีการบรรยายให้คนที่สนใจฟังฟรี จนเปิดเป็นตลาดโรงคั่ว แต่ไม่เก็บค่าเข้าชม ให้เข้าชมฟรี เพราะเรารู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีเงิน อย่างคนในพื้นที่เค้าอยากมาดูให้เห็นแล้วดีใจที่เราอนุรักษ์ความเป็นท้องถิ่นไว้”

แม้วันนี้ สายชลจะบอกว่า ตกอยู่ในฐานะลำบาก แต่เขายังคงทำเท่าที่ทำได้จากความสามารถที่มีเพื่อช่วยชุมชน และสังคม ตามแนวทางที่เขาเป็น โดยเฉพาะการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวเจ๊กเชย มะม่วงหนองแซง การใช้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาวัฒนธรรมประเพณี และความเป็นอยู่ดั้งเดิมของท้องถิ่นให้คงอยู่ และบอกต่อไปยังคนรุ่นหลัง

“ตั้งแต่ยุคผม 30 รุ่งเรืองก็บริจาคตั้งแต่ตอนนั้น ช่วยคนตอนรวยก็เป็นเรื่องปกติ น่าจะรู้สึกอยากแบ่งปันตั้งแต่ตอนนั้น ตอนนี้ก็ยังคิดแบบนั้นอยู่แต่อาจจะไม่แรงแบบตอนนั้นเพราะเราอายุมากแล้ว และไม่ได้รวยก็แบ่งปันเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่แนวคิด การกระทำ กำลังแรงกาย แรงใจ”

เมื่อถามถึงอนาคตของบ้านใร่กาแฟหลังจากนี้ สายชลย้อนว่า ที่ผ่านมาได้ถึงวันนี้เพราะวิธีการคิด และมีมิตรที่ดี ทุกวันนี้ผมยังอยู่ได้ ผมใช้คำว่า ปัญหามันยังไม่ได้คลี่คลายเลยตั้งแต่วันนั้น ปีครึ่งปัญหายังไม่คลี่คลาย แต่ว่า ผมอยู่ได้เพราะรอบข้าง ถึงลูกน้องบางทีก็หนีเราไปบ้าง แต่เราก็เข้าใจ “ทัศนะบวกสร้างลบ” ผมชอบพูด การอุ้มชู หนี้สิน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันนี้ ช่วยกันวิ่งซ้ายวิ่งขวากัน แต่เหมือนเดิม เหมือนมันหลอก หนี้ 30 ล้าน เยอะสำหรับเรา

เมื่อต้องแบกหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน มีสองเส้นทางที่ สายชล มองว่าเป็นทางออก นั่นคือ การหาทุนเพื่อขยายธุรกิจต่อ และหาเงินมาใช้หนี้ ซึ่งจะมาจากการหาผู้ร่วมลงทุน หรือขายสูตร ขายร้าน ไปจนถึงขายแบรนด์บ้านใร่กาแฟ และกิจการทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ ขอเหลือพิพิธภัณฑ์ กับคำว่า “บ้านใร่” และตลาดโรงคั่วให้ทำต่อไปได้ เพราะยังต้องใช้ ไม่งั้นจะไปอยู่ที่ไหน ลูกน้องจะไปอยู่ที่ไหน

“คิดว่าจะขายได้แต่ต้องใช้เวลา ผมไม่เคยประกาศ ใช้การบอกต่อ คนรู้ว่าบ้านใร่มีแบรนด์ที่ไม่ได้สร้างง่ายๆ ทุกวันนี้ เราก็มีพนักงาน 60-70 คน ทำงานสองวันสามวันต่อสัปดาห์ คนนึงมีสองหรือสามอาชีพ ซึ่งทำแบบนี้มาตั้งแต่เรารุ่งเรือง พอมีวิกฤติเยอะก็มีอาชีพที่สอง อย่างเป็นครู วันเสาร์อาทิตย์มาทำงานบ้านไร่ เพราะเราใช้หลักคิด ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน”

ถามว่า เสียดายแบรนด์ที่สร้างมากับมือไหม เขายอมรับว่า “เสียดาย” แต่หากมีคนเก่งๆ และมาช่วยสานต่อพลิกฟื้นให้แบรนด์ไปต่อได้ ย่อมดีกว่าจะปล่อยให้แบรนด์จางหายไป เพราะหากไม่ทำตอนนี้ เชื่อว่า อีกไม่เกิน 5 ปี ชื่อของบ้านใร่กาแฟอาจถดถอยเลือนไปจากความทรงจำของผู้บริโภค ซึ่งนั่นยิ่งน่าเสียดายมากกว่า

อีกทางหนึ่งคือ การขายที่ดินส่วนตัวที่มีอยู่ 24 ไร่ที่หนองแซง เพื่อนำเงินมาใช้หนี้และขยายธุรกิจต่อ โดยขณะนี้พื้นที่อ.หนองแซง กำลังได้รับการโปรโมทด้านการท่องเที่ยวไปทั่วโลกจากทีม แอร์บีเอ็นบี และเป็นอำเภอที่มีถนนเชื่อมต่อไปยังภาคเหนือทางอยุธยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านทางสระบุรี รวมทั้งอยู่ใกล้โครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะสร้างไปภาคเหนืออีกด้วย

“ที่หนองแซงจะเป็นโลกในฝัน เพราะขึ้นหมู่บ้านไม่ได้ เป็นพื้นที่สีเขียว มีความสงบ เราจะสานต่อโดยใช้ตลาดโรงคั่วบ้านใร่เป็นไทม์แมชชีน บวกการเข้ามาสนับสนุนของแอร์บีเอ็นบี จะทำให้แบรนด์บ้านใร่อยู่กับคู่ท้องถิ่น ทำให้คนรู้จักที่นี่ มีเวทีแสดง ให้เด็กมาเรียนโขน มีรำนกยูงเพราะที่นี่มีนกยูง รำกาแฟ คั่วกาแฟ มีอาหารลาวเวียงจันทน์ ส้มตำใช้น้ำอ้อย ผ้าย้อมกาแฟ”

เหนืออื่นใดคือ สายชลยังมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ความเป็นไทยเหมือนที่ทำมาตั้งแต่ก้าวแรกของบ้านใร่กาแฟ อยากให้เมื่อคนนึกถึงความเป็นไทยแล้วต้องนึกถึงบ้านใร่ ด้วยวิธีการจัดการแนวคิด เช่น ที่บ้านใร่ห้ามไขว่ห้าง ถ้านุ่งกระโปรงต้องไขว่เล็ก เพราะมีไขว่เล็กกับไชว่ใหญ่ถ้าไม่ทำแล้วใครจะทำ ต้องเริ่มทำแล้วลูกน้องจะเชื่อ

“ผมอนุรักษ์ ผมชาตินิยม เขียนเลขไทยอยู่ทุกวันนี้ คนเคยบอกแนวนี้ไม่กี่ปีก็ไม่รอด ผมก็ยืนหยัด ผ่านไป 10 ปี ผมยังรอดนะ ทุกวันนี้ผมก็ว่าผมก็ยังรอด เพราะถ้าไม่มีตรงนี้ผมก็ไม่มีที่ยืนแล้ว ตัวตนของผมแบบไม่ต้องเผ็นอะไร ผมพอใจกับทุกวันนี้”

ท้ายสุด แต่ไม่สุดท้ายในชีวิต สายชลปิดท้ายว่า ถึงวันนี้ หากมองเป้าหมายในชีวิตของเขาคือ การ “ได้ทำอย่างที่คิด” เพราะความสุขของคนคือการได้ทำตามที่คิดไว้ และทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์ ใช้ความมีชื่อเสียง ที่จะทำให้เราสื่อสารเรื่องการทำเพื่อผู้อื่นออกไปได้ง่ายขึ้น

และเขาจะรอให้วันนั้นกลับมาอีกครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0