โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘สภาพอากาศเลวร้าย’ คือภัยคุกคามทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศร่ำรวย

Xinhua

เผยแพร่ 05 ธ.ค. 2562 เวลา 09.42 น.
‘สภาพอากาศเลวร้าย’ คือภัยคุกคามทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศร่ำรวย

มาดริด, 4 ธ.ค. (ซินหัว) -- เยอรมันวอทช์ (Germanwatch) คลังสมองด้านสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี รายงานว่าสภาพอากาศที่เลวร้ายเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะสำหรับประเทศยากจนและมีความเสี่ยงสูง แต่ขณะเดียวกันประเทศที่มีรายได้สูง ก็กำลังได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างกัน

ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Global climate risk index) ซึ่งเผยแพร่โดยเยอรมันวอทช์ ณ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP25) ในกรุงมาดริด พบว่าเมื่อปี 2018 ประเทศอุตสาหกรรม อาทิ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งติดอันดับ 1 และ 3 ตามลำดับ เผชิญกับคลื่นความร้อนและภัยแล้งรุนแรง

ดัชนีฯ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากมิวนิค รี (Munich Re) บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลก รวมทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าเยอรมนีครองอันดับ 3 เนื่องจากช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ได้เผชิญอากาศร้อนขั้นสุด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,200 ราย และก่อให้เกิดภัยแล้งบริเวณกว้างในปี 2018

ดัชนีระยะยาวยังระบุด้วยว่าตั้งแต่ปี 1999-2018 ประเทศยากจนต้องเผชิญกับผลกระทบที่สูงขึ้นมาก ซึ่ง 7 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ โดยเปอร์โตริโก เมียนมา และเฮติ เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดยืนยันถึงการเชื่อมโยงที่เป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความถี่ และความรุนแรงของคลื่นความร้อน อาทิ ยุโรปที่ขณะนี้มีคลื่นความร้อนขั้นรุนแรงสูงกว่าศตวรรษที่แล้วถึง 100 เท่า

ทั้งนี้ ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเกือบ 500,000 รายทั่วโลก ซึ่งมีสาเหตุโดยตรงมาจากสภาพอากาศที่เลวร้ายมากกว่า 12,000 ครั้ง คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 3.54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100 ล้านล้านบาท)

"ดัชนีฯ สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบร้ายแรงโดยเฉพาะสำหรับประเทศยากจน ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงมากขึ้นในประเทศอุตสาหกรรม เช่น ญี่ปุ่นหรือเยอรมนีอีกด้วย" เดวิด เอ็กสไตน์ (David Eckstein) แห่งเยอรมันวอทช์ ผู้เรียกร้องเงินสนับสนุนแก่ประเทศยากจนที่เผชิญสภาพอากาศเลวร้ายกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0