โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘พระนคร On the Move’ ย้อนอดีตอย่างเข้าใจไปในย่านเมืองเก่า

The Momentum

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 10.35 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 10.35 น. • โอ๊ต มณเฑียร

In focus

  • นิทรรศการหมุนเวียนล่าสุด ‘พระนคร On The Move’ ของมิวเซียมสยาม จะพาทุกคนย้อนเวลาไปทำความเข้าใจอดีต ผ่านย่าน สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด ที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๔ มาจนถึงยุคคุณตาคุณยายยังเด็ก
  • นายช่างฝรั่งที่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในนิทรรศการนี้คือ ‘โจอาคิม แกรซี’ ผู้สร้างวังบูรพาภิรมย์ วังสะพานถ่าน และวังสามยอด จากรูปถ่ายที่นำมาจัดแสดง เราจะเห็นได้ว่า ผู้อยู่อาศัยในวังเหล่านี้ เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยกันแล้ว 
  • อีกหนึ่งวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในย่านนี้คือ ‘โรงฉายภาพยนตร์’ โซนนี้เราจะได้ดูภาพยนตร์โบราณเรื่อง รูปประดาน้ำ (Scaphandrier), รูปศรีต่อยมวย (Boxeurs) ซึ่งเคยมาฉายครั้งแรกในไทยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว!
  • แหล่งชิลล์ยอดนิยมของเหล่าโก๋หลังวัง ต้องยกให้ ‘บูรพาไอศกรีม’ ตรงข้ามโรงหนังคิงส์ เราจะได้ดูวิดีโอสัมภาษณ์คุณลุงที่เคยเป็นลูกค้าประจำของที่นั่น ท่านบอกว่าสมัยก่อนถ้าจะพาสาวไปเลี้ยงไอศกรีม ต้องเตรียมเงินไปถึง 10 บาท! 
  • นอกจากนี้ในโซนหลัง เราจะได้ไปทำความรู้จักกับเจ้าของบริษัทจากนานาชาติ ย่านพาหุรัด มาเล่าถึงประวัติการเข้ามาในพื้นที่ อีกทั้งสินค้าที่เขาเคยขาย (หลายเจ้าก็ยังขายอยู่) เรียกได้ว่าเดิน window shopping กันสนุกสนานทีเดียว

สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด สามชื่อนี้อาจเป็นที่คุ้นหูบ้างสำหรับคนกรุงเทพฯ แต่อาจจะไม่ทุกคนที่รู้ลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชื่อเหล่านี้เท่าไรนัก อาจจะแปลกใจด้วยซ้ำหากเราบอกว่าย่านนี้ ในยุคหนึ่ง ถือเป็นสถานบ่มเพาะการปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่ของสยามประเทศเลยทีเดียว วันนี้เราเลยอยากพาทุกท่านมาเช็คอินที่นิทรรศการหมุนเวียนล่าสุด ‘พระนคร On The Move’ ของมิวเซียมสยาม ที่จะพาทุกคนย้อนเวลาไปทำความเข้าใจอดีต เพื่อมองปัจจุบันและอนาคตผ่านมุมมองใหม่ ในรูปแบบที่ทั้งสนุกและตื่นเต้นกว่าเดิม #รูปสวยสาระแน่น กันรัวๆ

นิทรรศการนี้สามารถเข้าชมได้ฟรีในอาคารเอนกประสงค์ของมิวเซียมสยาม เมื่อเข้ามาด้านในแล้ว เราจะได้พบกับแผนที่เมืองเก่าแบบ interactive ที่นำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงของย่านพระนครกันให้เห็นชัดๆ โดยนับตั้งแต่ถนนเจริฐกรุงถูกตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ การปรับเปลี่ยนทางกายภาพของเมืองบางกอกก็เริ่มขึ้น ถนนสายอื่นๆทยอยเกิดขึ้นตามมามากมาย 

หนึ่งในสิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือการรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา ซึ่งวิธีแรกๆในการปรับตัวของเมืองสยามคือการปรับสร้าง อาคารบ้านเรือน ในรูปแบบที่ ‘ทันสมัย’ ขึ้น โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ การสร้างตึกตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกก็เริ่มมีบ้างแล้ว แต่เป็นการเลียนแบบโดยช่างจีน อย่างไรก็ดีในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นจึงเริ่มมีสถาปนิdฝรั่งตัวจริงเสียงจริง เริ่มมาถวายงานเจ้านายสยามหัวก้าวหน้าทั้งหลาย 

นายช่างที่ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในนิทรรศการนี้คือนาย ‘โจอาคิม แกรซี’ ผู้สร้างผลงานชิ้นเอกในย่านนี้หลายชิ้น อาทิ วังบูรพาภิรมย์ วังสะพานถ่าน และวังสามยอด 

เริ่มจาก ‘วังบูรพาภิรมย์’ ซึ่งถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่านนี้ ด้วยเป็นที่ตึกที่ใหญ่ที่สุดในพระนครสมัยนั้น มีพื้นที่กว้างถึง 15 ไร่ ออกแบบให้กับ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมหลวงภาณุพันธุ วงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นอนุชาร่วมชนกชนนีเดียวกันกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ๕ ตัวตำหนักใหญ่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ ‘พาลลาเดียน’ แถมยังเป็นอาคารแห่งแรกในไทยที่มีการวาง ‘ศิลาฤกษ์’ (foundation stone) แบบฝรั่ง ด้านในบรรจุจดหมายเหตุ และ เงินตรา ส่วนที่มาของชื่อนั้นมาจากที่ตั้งด้านทิศตะวันออกของเมือง (บูรพทิศ) และเป็นวังที่จัดงานรื่นเริงอยู่เสมอ จึงได้ชื่อวังว่า บูรพาภิรมย์ 

วังที่สองคือ ‘วังสะพานถ่าน’ เป็นวังของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ แต่เดิมมีท้องพระโรงแบบเรือนทรงไทย ต่อมาสร้างวังใหม่เป็นตึกแบบฝรั่ง ก่อสร้างโดยนายแกรซีเช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับวังบูรพาภิรมย์ และมีรูปแบบอาคารที่คล้ายคลึงกันพอสมควร วังนี้ตั้งอยู่ริมคลองซึ่งเป็นย่านขายถ่านซึ่งเป็นที่มาของชื่อวังนั่นเอง 

สุดท้ายคือ ‘วังสามยอด’ ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นวังที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองและใกล้กับประตูเมืองที่มีสามยอด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วังสามยอด จากหลักฐานรูปถ่ายที่นำมาจัดแสดง เราจะเห็นได้ว่า ผู้อยู่อาศัยในวังนี้ เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยกันแล้ว อาทิ กล้องถ่ายรูป และ เครื่องปั่นไอศกรีม เป็นต้น

นอกจากวังของเจ้านายแล้ว เรายังได้เห็นการสร้างอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวแบบฝรั่งริมถนนสำคัญอย่างเจริญกรุงด้วย โดยเปิดให้เช่าเป็นห้างร้านต่างๆ ตั้งแต่ครั้งที่สยามเปิดตลาดการค้าเสรีเป็นต้นมา หนึ่งในกิมมิคที่น่ารักของนิทรรศการนี้คือการพูดถึงร้านถ่ายรูปของ นาย โรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพชาวเยอรมันที่มาตั้งห้าง ‘โรเบิต แลนซ์ แลบริษัท’ ขึ้นในพระนครเนื่องด้วยการชักชวนของรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จฯประพาสชวา เมื่อปี ๒๔๓๙ โดยทรงแวะที่สิงคโปร์และทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ที่สตูดิโอของนายเลนซ์ที่นั้น ทำให้ในเวลาเพียงสามเดือนถัดมา นายเลนซ์ก็มาเปิดโรงชักรูปที่สยาม ตรงแยกสะพานถ่าน ก่อนที่รัชกาลที่ ๕ จะเสด็จฯ กลับถึงสยามด้วยซ้ำ! 

ในนิทรรศการเราจะได้เปิดสมุดรูปที่มีคำบรรยายจำลองของนายเลนซ์ พูดถึงรูปเจ้านายสำคัญแต่ละพระองค์ อีกทั้งรูปวาบวิวของสาวๆ สยามที่เป็นที่ชื่นชอบของเขาด้วย เสียดายที่เมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมัน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๖๐) ห้างของนายเลนซ์ผู้เป็นชาวเยอรมัน จึงถูกยึดกิจการโดยรัฐบาล และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ห้องฉายานรสิงห์’ ไปเสีย 

อีกหนึ่งวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในย่านนี้คือ ‘โรงฉายภาพยนตร์’ตั้งแต่การฉาย ‘ซีเนมาโตกราฟ’ ครั้งแรกที่โรงละคร หม่อมเจ้าอลังการ, การมีโรงภาพยนตร์ ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ ในช่วงก่อนสงคราม และ โรงหนัง ‘คิงส์-ควีน-แกรนด์’ เรียกได้ว่าชาวพระนครได้เรียนรู้ความเป็นไปของโลกผ่านทางภาพยนตร์นี่เอง โซนนี้เราจะได้ดูภาพยนตร์โบราณเรื่อง รูปประดาน้ำ(Scaphandrier), รูปศรีต่อยมวย(Boxeurs) ซึ่งเป็นสองเรื่องเดียวกับที่เคยมาฉายครั้งแรกในไทยเมื่อวันที่ ๑๐ มินายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ร้อยกว่าปีที่แล้ว!

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในสังคมโลกอย่างมาก ในเมืองไทยก็เช่นกัน วัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาทางสื่อทั้งหนังฮอลลีวู้ด แฟชั่น และ เพลงร็อกแอนด์โรล โดยมี ‘เอลวิส เพรสลี่’ เป็นไอคอนชั้นดี เรียกได้ว่าเมื่อหนังที่เอลวิสเล่นถูกนำมาฉายที่โรงหนังคิงส์ (วังบูรพาเก่านั่นแหละ) ต่อเนื่องกัน ๓ เรื่อง คือ ฤทธิ์คะนอง(Loving You), หนุ่มเลือดร้อน(Jailhouse Rock), และ นักร้องนักเลง(King Creole) ทำให้เกิดกระแสที่หนุ่มสาวแต่งตัวนำสมัยมาแฮงเอาท์กันแถวนั้น และนิยามคำว่า ‘โก๋หลังวัง’ ขึ้น (ว่ากันว่าคำว่า ‘โก๋’ มาจากคำว่า ‘Gigolo’ จากภาพยนตร์นั่นเอง) ส่วนแหล่งชิลล์ยอดนิยมของคนเหล่านั้นต้องยกให้ร้าน ‘บูรพาไอศกรีม’ ตรงข้ามโรงหนังคิงส์ ในนิทรรศการจะมีวิดีโอสัมภาษณ์คุณลุงที่เคยเป็นลูกค้าประจำของที่นั่น ท่านบอกว่าสมัยก่อนถ้าจะพาสาวไปเลี้ยงไอศกรีมและก็ ต้องเตรียมเงินไปถึง 10 บาท!ซึ่งไม่ใช่เงินน้อยๆ เลยทีเดียว นี่ยังไม่นับเหรียญที่จะต้องเอาไปหยอดตู้เพลงเพิ่มความสวีทกันอีกด้วยนะ

ในช่วงยุคจอมพลสฤษดิ์ มีนโยบายให้รื้อถอนอาคารในย่านนี้จำนวนไม่น้อย อีกทั้งการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมพื้นที่ค้าขายให้ตอบโจทย์ไลฟสไตล์ของคนในสมัยนั้นจวบจนสมัยนี้ โซนสุดท้ายของนิทรรศการจึงเริ่มเปลี่ยนผ่านมาสู่ชื่อที่เราคุ้นเคยกัน อาทิ จากวังบูรพา สู่โรงภาพยนตร์คิงส์ เปลี่ยนเป็นเมอร์รี่คิงส์ เปลี่ยนเป็น เมก้าพลาซ่าอย่างทุกวันนี้ หรือ ห้างประตูสามยอดสโตร์ เปลี่ยนเป็น ตึกคัคณางค์ (โรงพยาบาลทาเคดะ) เปลี่ยนเป็นห้างขายยาศรีจันทร์ และเป็น โรงแรม คชาเบดโฮเต็ลในปัจจุบัน ฯลฯ 

ในโซนนี้เราจะได้ไปทำความรู้จักกับพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของบริษัทจากนานาชาติ ย่านพาหุรัด มาเล่าถึงประวัติการเข้ามาในพื้นที่ อีกทั้งสินค้าที่เขาเคยขาย (หลายเจ้าก็ยังขายอยู่) เรียกได้ว่าเดิน window shopping กันสนุกสนาน อาทิ กระดุมของนาย ไตเย็บ คัมบาตี พ่อค้าแขกจากเมืองคัมบ๊าด ที่ตั้งห้างนำเข้าผ้าลูกไม้และกระดุมหรูหรา โดยปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจการโดยทายาทรุ่นที่ 3 ภายใต้ชื่อร้าน ‘ไตเย็บใหม่’, บัญชีเงินสด และ สมุดบัญชีสินค้าคงคลัง ผลิตจากโรงพิมพ์ ‘โมฮำมัด’, ข้าวของเครื่องสำอางค์จากร้าน ‘ไนติงเกล-โอลิมปิค’ ที่ทำเดินกิจการมากว่า 90 ปีแล้วเช่นกัน  หรือแม้กระทั้ง ‘โอวันติล’ และ ‘นมตราหมี’ ที่นำเข้ามาโดยบริษัท บี.กริม เกือบร้อยปีที่แล้ว และยังคงเป็นที่นิยมอยู่อย่างน่าอัศจรรย์

ขณะที่เราออกจากนิทรรศการ เราได้รับแผนที่เส้นทางสำหรับไปเดินต่อในย่าน ‘สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด’ ให้ได้เทียบเคียงประวัติศาสตร์ที่เราเพิ่งได้เรียนรู้มากับสภาพของปัจจุบัน อีกทั้งยังชวนให้ตั้งคำถามไปถึงอนาคตที่เกิดขึ้นสำหรับย่านนี้พร้อมๆ กับการขยายสายรถไฟฟ้าใต้ดินด้วย 

โดยรวมต้องบอกว่าเป็นนิทรรศการที่เนื้อหาเยอะได้โล่ห์ และมีเสียงการเล่าที่สนุกสนานสไตล์มิวเซียมสยาม แต่ความเยอะก็มาพร้อมกับความยากในการเรียบเรียงเนื้อหาในหัวผู้ชมเช่นกัน แต่สำหรับแฟนๆ ประวัติศาสตร์และเมืองเก่า หรือนักท่องเที่ยวที่อยากจะได้ ‘บทนำ’ สำหรับการเดินเล่นในเมืองเก่า ห้ามพลาดนิทรรศการนี้ด้วยประการทั้งปวง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0