โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘ทรัมป์’ เสนอแผนป้องกันประเทศย้อนยุค ‘สตาร์วอร์ส’

The Momentum

อัพเดต 20 ม.ค. 2562 เวลา 17.17 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2562 เวลา 17.17 น. • สาธิต มนัสสุรกุล

In focus

  • ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดตัว รายงานทบทวนการป้องกันขีปนาวุธเสนอให้ประเทศทุ่มเงินพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสกัดกั้นจรวดที่อาจโจมตีแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาได้
  • กระทรวงต่างประเทศของรัสเซียตอบโต้ว่า แผนการของทรัมป์จะจุดชนวนการแข่งขันสร้างสมอาวุธในอวกาศ ถือเป็นการรื้อฟื้นโครงการสตาร์วอร์สของรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน เมื่อทศวรรษ 1980
  • ขีปนาวุธที่น่ากลัวในเวลานี้ คือ ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) กับยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (hypersonic glide vehicle – HGV) ซึ่งอเมริกายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสกัดกั้นได้อย่างอุ่นใจ

ด้วยการกระทำต่างๆ ที่สหรัฐฯ แสดงออกมา ทั้งข้อเสนอแผนพัฒนาระบบสกัดกั้นขีปนาวุธ เช่น ส่งยานโคจรติดตั้งมิสไซล์ขึ้นไปดักยิงที่นอกชั้นบรรยากาศ ส่งเครื่องบินลาดตระเวนใกล้ฐานของข้าศึก พร้อมยิงทำลายทันทีที่ขีปนาวุธถูกปล่อย รวมถึงอาวุธเลเซอร์ สร้างความวิตกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจฟื้นความตึงเครียดแบบยุคสงครามเย็น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงที่กระทรวงกลาโหม เปิดตัว รายงานทบทวนการป้องกันขีปนาวุธเสนอให้ประเทศทุ่มเงินพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสกัดกั้นจรวดที่อาจโจมตีแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาได้

อาวุธที่รายงาน Missile Defense Reviewฉบับนี้ เพ่งเล็งเป็นพิเศษ คือ ขีปนาวุธทิ้งตัวและขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ของจีนและรัสเซีย

รายงานซึ่งจัดทำโดย Missile Defense Agency นำเสนอบทวิเคราะห์ภัยคุกคามจากขีปนาวุธ และขีดความสามารถของเครือข่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ เองในการสกัดกั้นภัยเหล่านั้น รวมทั้งเสนอแนวทางพัฒนาสมรรถนะในการป้องกัน

ถ้อยแถลงของทรัมป์เรียกปฏิกิริยาจากมหาอำนาจคู่แข่งทันที เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศของรัสเซียตอบโต้ว่า แผนการของทรัมป์เป็นการเผชิญหน้า และแผนติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธนอกโลกจะจุดชนวนการแข่งขันสร้างสมอาวุธในอวกาศ ถือเป็นการรื้อฟื้นโครงการสตาร์วอร์สของรัฐบาลโรนัลด์ เรแกน เมื่อทศวรรษ 1980

ประเมินคู่แข่ง

ประเด็นหลักที่องค์การป้องกันขีปนาวุธของเพนตากอนแสดงความกังวล มีสองรื่อง ได้แก่  ‘ความเร็ว’ กับ ‘ชนิด’ ของขีปนาวุธที่จีนกับรัสเซียกำลังพัฒนา

ในเรื่องความเร็ว ยิ่งอาวุธนำวิถีเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะตรวจพบ ติดตามเส้นทาง และยิงสกัดกั้นได้สำเร็จ ก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

ในเรื่องชนิด ขีปนาวุธที่น่ากลัวในเวลานี้ คือ ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) กับยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (hypersonic glide vehicle – HGV) ซึ่งอเมริกายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะสกัดกั้นได้อย่างอุ่นใจ

ที่ผ่านมา อเมริกาเน้นการป้องกันขีปนาวุธจากประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด เช่น เกาหลีเหนือ ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สำหรับภัยจากมหาอำนาจคู่แข่งนั้น สหรัฐฯฝากความหวังในการป้องกันไว้กับการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) คือ หวังว่าฝ่ายปรปักษ์จะยับยั้งชั่งใจหากคิดจะยิงขีปนาวุธทิ้งตัวโจมตีสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ มีขีดความสามารถที่จะตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ขืนโจมตีก็พินาศทั้งคู่

ขีปนาวุธทิ้งตัวมีความน่ากลัวตรงที่ว่า ขีปนาวุธจำพวกนี้ทะยานขึ้นจากฐานยิงด้วยแรงขับดันของจรวดนำส่งหลายท่อน จนกระทั่งถึงระดับความสูงใกล้ขอบชั้นบรรยากาศในกรณีที่เป็นขีปนาวุธพิสัยกลาง หรือทะลุเลยขึ้นไปถึงระดับวงโคจรย่อยในกรณีที่เป็นขีปนาวุธข้ามทวีป จากนั้นมันจะทิ้งตัวกลับลงสู่เป้าหมายด้วยความเร็วสูง เทียบเคียงได้กับอุกกาบาต ดังนั้น ขีปนาวุธสกัดกั้นเท่าที่มีอยู่จึงยากที่จะยิงทำลายได้ทันการณ์

ยานร่อนความเร็วเหนือเสียงยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ เพราะขณะกำลังตกกลับเข้าสู่บรรยากาศชั้นสูง มันมีระบบขับดันที่ช่วยยกตัวให้ขีปนาวุธไต่ระดับกลับขึ้นไปที่นอกชั้นบรรยากาศอีกครั้ง เป็นการเพิ่มระยะทางในการเคลื่อนที่ ทำให้ยิงได้ไกลขึ้น จากนั้น มันจะกลับลงมาด้วยความเร็วเหนือเสียง แถมยังมีระบบร่อนช่วยในการหลบหลีกเรดาร์ตรวจจับ และควบคุมทิศทางไปสู่เป้าหมายด้วย จึงช่วยเพิ่มความแม่นยำ

มีรายงานว่า จีนกำลังซุ่มพัฒนายานร่อน HGV ในชื่อเรียกว่า DF-ZF  ในขณะที่รัสเซียก็กำลังทดสอบแบบไม่ปิดบังกันเลยทีเดียว เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่า รัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธที่สามารถโจมตีเป้าหมายได้เกือบทุกจุดบนโลก และสามารถหลบหลีกระบบป้องกันของสหรัฐฯ ได้

หนึ่งในระบบอาวุธแบบใหม่ของมอสโกก็คือ ยานร่อน Avangard ซึ่งปูตินไปชมการทดสอบก่อนติดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม และประกาศผลสำเร็จในเวลาต่อมา ขีปนาวุธรุ่นนี้เดินทางด้วยอัตราความเร็ว 33,000 กม./ชม.

*อย่างกับหนังฮอลลีวู้ด *

พอเห็นขีดความสามารถของคู่แข่ง รัฐบาลทรัมป์จึงเสนอแผนป้องกันสามชุด ชุดแรกให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการติดตามเส้นทางขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงโดยใช้เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในอวกาศ พร้อมกับติดตั้งขีปนาวุธไว้กับยานที่โคจรรอบโลก เพื่อคอยดักยิงทำลายหัวรบขณะกำลังเดินทางในอวกาศ

แผนชุดที่สอง เสนอให้พัฒนาขีดความสามารถที่จะทำลายขีปนาวุธทิ้งตัวในทันทีที่มันถูกยิงขึ้นจากแท่นปล่อย เนื่องจากในระยะที่ขีปนาวุธกำลังยกตัวสู้กับแรงดึงดูดของโลก มันยังมีความเร็วต่ำพอที่จะสกัดกั้นได้

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ใช้สกัดกั้นขีปนาวุธก็คือ ขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้น ซึ่งพุ่งไปยังหัวรบที่กำลังเดินทางในอวกาศ ซึ่งโอกาสยิงเข้าเป้ายังต่ำอยู่

การยิงในทันทีตามแผนชุดที่สองนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการนำเอาระบบป้องกันเข้าไปจ่ออยู่ใกล้ๆกับฐานยิง วิธีที่เสนอก็คือ ส่งเครื่องบินรบล่องหน เอฟ-35 ไปบินลาดตระเวนใกล้กับที่ตั้งที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นฐานปล่อยขีปนาวุธ ยุทธวิธีนี้เสนอให้ใช้กับเกาหลีเหนือ

แผนชุดที่สาม พัฒนาอาวุธแสงเลเซอร์ สำหรับทำลายขีปนาวุธทิ้งตัว

‘เงินน่ะมีมั้ย’

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า แผนการซึ่งฟังดูราวกับหนังสงครามแนววิทยาศาสตร์แบบนี้จะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะนอกจากต้องคำนึงถึงความยากในทางเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องคำนวณถึงอุปสรรคทางการเมืองด้วย

คำถามมีอยู่ว่า ถ้าจะฟื้นแผนสตาร์วอร์ส รัฐสภาอเมริกันจะเอาด้วยหรือเปล่า ต้องไม่ลืมว่าตอนนี้พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และคองเกรสเคยคว่ำแผนการคล้ายๆ กันนี้มาแล้วในยุครัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

เหตุที่สภาอาจไม่อนุมัติแผนการเหล่านี้ก็เพราะต้องใช้เงินมหาศาล นักวิจัยเคยศึกษาพบว่า นับแต่ปี 1983 ที่เรแกนเสนอแผน Strategic Defense Initiative ที่เรียกกันว่า โครงการสตาร์วอร์ส สหรัฐฯ หมดเงินกับการป้องกันขีปนาวุธไปแล้วเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์

และอุปสรรคทางการเมืองอีกด้านหนึ่งก็คือ แรงเสียดทานจากนานาชาติ

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0