โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ต่อมความควบคุมโดนทำลาย’ –อีกปมปัญหาสุขภาพจิต ที่มาพร้อมไวรัสโคโรน่า - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

อัพเดต 06 มี.ค. 2563 เวลา 04.56 น. • เผยแพร่ 03 มี.ค. 2563 เวลา 09.16 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

อาทิตย์นี้ ว่าจะเขียนเรื่อง โรคทางจิตใจ ที่อาจมาพร้อมๆ กับโรคทางกายที่หนักหนารุนแรงเหลือเกินอย่างไวรัสโคโรน่าตอนนี้ แต่เหลือบไปเห็นเพจของหมอเอิ้น พิยะดา อธิบายไว้อย่างครอบคลุมหมดแล้ว งั้นเราโฟกัสที่ประเด็นนี้ไปเลยดีกว่า

‘ความรู้สึกสูญเสียการควบคุม’

.

.

.

อย่างที่พอเดาได้อยู่

ว่าการระบาดของโรคโคโรน่า และการเสพย์ข่าวรัวๆ ของพวกเราทุกคนนี้

ทำให้เกิดทั้งความเครียด ความวิตกกังวล จนอาจเลยไปถึงอาการซึมเศร้า หมดหวังในชีวิต

แต่อีกหนึ่งความอึดอัดกระอักกระอ่วน ที่มันมากระทบการดำเนินชีวิตของเรามากเช่นกัน

ก็คือ ‘ความรู้สึกขาดการควบคุม’

ซึ่ง ความรู้สึกขาดการควบคุม –ที่เราควบคุมมันไม่ได้นี้

อาจนำมาซึ่ง 2 โรคนี้ได้

OCD (Obsessive-Compulsive Disorder) –โรคย้ำคิดย้ำทำ

และ Anorexia Nervosa -โรคผิดปกติทางการกิน ประเภท ไม่ยอมกิน = เห็นอาหารเป็นศัตรู

.

.

.

อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เรารู้สึกสูญเสียการควบคุมบางอย่างในชีวิต

เราก็จะหันหาพฤติกรรม-ความคิดใดๆ ก็ตามที่เราสามารถควบคุมมันได้ชัดเจน -เพื่อให้เราสบายใจขึ้น

  • โรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน นั้นคือส่วน ‘ย้ำคิด’ –มีความคิดหรือภาพในหัวต่างๆ ที่มันช่างน่ารำคาญ/น่ากลัว/น่าหวาดระแวง รู้สึกหมกมุ่น ทำให้ตัวเองอยู่ไม่เป็นสุข

ส่วนที่สองก็คือส่วน ‘ย้ำทำ’ –กระทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำๆ อย่างมีจุดหมาย เพื่อหวังจะคลายความกลัวหรือความวิตกนั้น

หลายคนที่มีอาการแบบนี้ มักจะรู้ว่าเรื่องที่ตัวเองกำลังคิดและทำนั้นมันไม่มีเหตุผล แต่ก็ห้ามความคิดและการกระทำนั้นไม่ได้

ทางด้านการย้ำคิด มันมักจะเป็นความคิดที่คนๆ นั้นรู้สึกแย่/อับอาย/ผิดศีลธรรม ที่นำไปสู่ความกังวลให้เจ้าตัว

ส่วนทางด้านย้ำทำ คือเหมือนกลายเป็นพิธีอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวันไปแล้ว และเชื่อว่ามันจะคลายความไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือความคิดที่เราต้องการกำจัดมันออกไปได้

ยกตัวอย่างเช่น

เด็กน้อยอายุ 5 ขวบ ที่ทุกครั้งที่แม่ของเขาออกจากบ้าน เขาจะกลัวว่าแม่จะถูกรถชน(เพราะเคยเห็นเหตุการณ์รถชนกับตาตัวเองมาก่อน) แล้วยิ่งพอคิดว่าแม่จะถูกรถชน ก็ยิ่งกลัวว่ามันจะกลายเป็นเรื่องจริง เมื่อควบคุมความคิดและควบคุมไม่ให้แม่ไม่ถูกรถชนไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีโทรหาแม่เพื่อถามว่าแม่ปลอดภัยมั้ย ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ย้้ำอยู่อย่างนั้นทั้งวันจนแม่กลับบ้าน

**หรือในกรณีไวรัสโคโรน่านี้ ที่บางคนอาจวิตกจนต้องเดินไปล้างมือถูสบู่ทุก 10 นาที แม้ว่าจะไม่ได้ไปแตะอะไรสาธารณะ เพราะจินตนาการภาพเชื้อโรคไต่ขึ้นมาตามผิวหนัง เลื้อยเข้าไปในจมูกผ่านท่อลมหายใจของเราสู่ปอดจนหลอน เป็นต้น แบบนี้เรียกอีกอย่างว่า Germophobia หรือโรคกลัวเชื้อโรค

(เคยมีเคสตัวอย่างที่เรียนมา ผู้หญิงคนหนึ่งที่เชื่อว่า ตัวเองจะสะอาดหมดจดจริงๆ ก็ต่อเมื่อเธอต้องอาบน้ำตอนเช้าครั้งละ 3 ชั่วโมง และเธอต้องตื่นมาเปิดฝักบัวแช่อยู่ในห้องน้ำ 3 ชั่วโมงทุกเช้า ไม่งั้นออกจากบ้านไม่ได้ หลายครั้งก็ทำให้ไปโรงเรียนสาย)

.

.

.

  • โรคอะนอเร็กเซีย

หลายคนจะชินกับการเรียกว่า ‘โรคคลั่งผอม’

โรคนี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการ ‘อยากผอมตามดารานางแบบ’ อย่างเดียวเท่านั้น

บางครั้งมันก็เกิดจากเหตุการณ์บางอย่าง ที่มากระทบจิตใจจนชีวิตสูญเสียการควบคุม จึงเอาตัวเองมุ่งเข้าหาสิ่งเดียวที่สามารถควบคุมได้แน่ๆ นั่นคือ ‘การกิน’

เช่น เด็กคนหนึ่งถูกเพื่อนล้อเลียนกลั่นแกล้งที่โรงเรียนว่าอ้วน เลยรู้สึก ‘เกลียดอาหาร’ ขึ้นมา ทำให้ทุกครั้งที่ต้องกินอาหาร ก็จะบังคับตัวเองให้อาเจียนออกมา หรือกินให้น้อยที่สุด

ในหนังสือเรียนก็มีตัวอย่าง คุณพ่อที่ไปรับลูกสาวกลับจากโรงเรียน แต่เมื่อถึงบ้าน พ่อก็ข่มขื่นเธอในห้องนอนของเธอ ‘ระหว่างที่คุณแม่กำลังทำอาหารเย็นอยู่’ และหลังจากนั้น พ่อ-แม่-ลูก ก็ต้องมานั่งกินอาหารเย็นพร้อมหน้าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กก็สะสมความน่ารังเกียจที่ควบคุมชีวิตไม่ได้นี้เอาไว้ พอเรียนจบ ได้ย้ายออกมาจากบ้าน เลยเกลียดชังอาหารเข้าไส้ เพราะมันเตือนเธอถึงภาพเหตุการณ์นั้นทุกครั้ง ก็เลยเลือกที่จะไม่กิน เพื่อหวังจะบรรเทาความคิดน่าขยะแขยงของเธอได้บ้าง

**ในกรณีไวรัสโคโรน่านี้ การรับข่าวสาร 24 ชั่วโมง มันทำให้เราหัวหมุน รู้สึกสิ่งเลวร้ายมันเกิดเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ สูญเสียการควบคุม ‘ชีวิตดีๆ’ ที่เราเคยคิดว่ามี

สิ่งที่ทำให้จิตใจเย็นลงเพราะเราสามารถควบคุมมันได้ อาจเป็นการควบคุมอาหาร นับแคลอรี่อย่างหนักหน่วง ให้ชีวิตมีบางส่วนที่มันเป็นระเบียบกลับเข้าสู่ระบบที่เราต้องการได้บ้าง

.

.

.

ทั้งนี้ ทั้งนั้น

เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่า การกระทำเหล่านี้มันสุดเหวี่ยง จนทำลายการดำเนินชีวิตปกติประจำวันของเรา ขยับตัวทำอะไรแทบไม่ได้

เมื่อนั้น เราถึงควรคิดว่าจะไปหานักบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อปรึกษารับการช่วยเหลือดีมั้ย

(แต่พอคิดจะไปโรงพยาบาล ก็เชื้อโรคเยอะอีก ฮือ)

อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0