โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘ชาติเอเชีย’ ส่อแวว ‘ฟื้นไข้โควิด-19’ ดีกว่าตะวันตก

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 06.54 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 12.00 น.
FILE PHOTO: People wear protective face masks, following an outbreak of the novel coronavirus disease (COVID-19), at Lujiazui financial district in Shanghai
FILE PHOTO : REUTERS/Aly Song/File Photo

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดช

โรคปอดอักเสบอันเนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามขยายวงกว้างไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยสถานการณ์พลิกกลับจากเดิมที่จีนและเอเชียเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาดหนัก กลายเป็นยุโรปตะวันตกและอเมริกาเป็นศูนย์กลางแพร่ระบาดใหญ่แทน กระทั่งยุโรปหลายชาติถึงขั้นปิดประเทศ ส่วนอเมริกาต้องปิดบางรัฐแบบเดียวกับที่จีนเคยทำ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทั้งโลกแทบจะชะงักทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยว-บริการ

วิกฤตไวรัสครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนพูดตรงกันว่า ต่างจากวิกฤตครั้งอื่น ๆ มาก และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผลกระทบของมันจะรุนแรง โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายสุดทั่วโลกอาจมีผู้ตกงานราว 24.7 ล้านราย กรณีปานกลาง 13 ล้านราย กรณีดีสุด 5.3 ล้านราย โดยสมมุติฐานดังกล่าวคำนวณจากระดับฐานของประชาชน 188 ล้านคนที่ว่างงานในปี 2019 ขณะเดียวกัน หากเทียบกับวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงในสหรัฐระหว่างปี ค.ศ. 2008-09 จำนวนผู้ว่างงานทั่วโลกมีประมาณ 22 ล้านคน

ใน สหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์ประเมินว่า จำนวนผู้ตกงานในสหรัฐจะอยู่ในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยมีความเป็นไปได้ที่เฉพาะแค่เมษายนเดือนเดียวผู้ว่างงานอาจมากถึง 5 ล้านคน เลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ขณะที่ช่วงเกิดวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 เดือนที่มีผู้ตกงานมากสุดยังอยู่แค่ระดับ 8 แสนคน

ด้าน เจพี มอร์แกน เชส เชื่อว่าไตรมาสแรกปีนี้จีดีพีสหรัฐจะหดตัว 5.3% ส่วนไตรมาส 2 จะหดตัว 14% เลวร้ายกว่าไตรมาส 4 ปี 2008 ที่หดตัว 7.2% อย่างไรก็ตาม โดยรวมตลอดปีคาดว่าจีดีพีสหรัฐจะหดตัว 1.9%

ส่วน IHS Markit บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลทั่วโลกในลอนดอน ประเมินว่า จีดีพีโลกปีนี้จะเติบโตเพียง 0.7% หรือถดถอยนั่นเอง โดยขณะนี้เชื่อว่าญี่ปุ่นถดถอยเรียบร้อยแล้ว ส่วนอเมริกากับยุโรปจะถดถอยในไตรมาส 2

ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ นักลงทุนย่อมแสวงหาแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ซึ่งตามคำแนะนำของ แอนดรูว์ ฮาร์มสโตน ผู้จัดการพอร์ตลงทุนอาวุโสของมอร์แกน สแตนเลย์ ชี้ว่า นักลงทุนควรมองไปที่การลงทุนในเอเชีย เพราะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวและออกจากวิกฤตไวรัสได้ดีกว่าชาติตะวันตก

“มันสมเหตุผลที่จะย้ายพอร์ตของคุณไปที่จีนหรือเอเชีย เพราะไวรัสได้ย้ายศูนย์กลางระบาดจากเอเชียไปตะวันตก ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้”

ฮาร์มสโตน และนักวิเคราะห์อีกหลายคน ระบุว่า เหตุผลที่จะทำให้เอเชียฟื้นตัวจากวิกฤตได้ดีกว่าตะวันตก เป็นเพราะเอเชียมีการเตรียมความพร้อมมากกว่า เนื่องจากมีประสบการณ์จากวิกฤตครั้งก่อน ๆ การระบาดรุนแรงของโรคต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเอเชีย เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี ค.ศ. 2003 เอเชียก็เผชิญกับโรคซาร์สมาแล้ว ทำให้บรรดารัฐบาลเอเชียจัดเตรียมตัวเองให้แข็งแกร่งเพื่อรับมือหายนะในครั้งถัดไป เช่นเตรียมฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งไว้พร้อมรองรับแรงช็อกจากภายนอก

ขณะเดียวกัน ชาติเอเชียยังเรียนรู้และเอาอย่างจากจีน อีกด้วยในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ต่างใช้มาตรการที่เข้มงวด ดังนั้น จึงทำให้มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว

นอกจากนี้ บรรดาบริษัทเอเชียมีฐานะเงินสดสุทธิแข็งแกร่งกว่าตะวันตก เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทเอเชียใช้วิธีควบคุมต้นทุนและมีวินัยในการลงทุน ทำให้พวกเขาสามารถกลับไปลงทุนในธุรกิจและคว้าส่วนแบ่งตลาดกลับมาทันทีที่สถานการณ์เข้าสู่ปกติ

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ ธนาคารกลางในเอเชียยังมีช่องว่างให้สามารถลดดอกเบี้ยลงไปได้อีก จึงมีโอกาสที่จะใช้มาตรการทางการเงินเพื่อผลักดันเศรษฐกิจ ต่างจากสหรัฐ ยุโรปที่ดอกเบี้ยต่ำมากจนเป็นศูนย์หรือติดลบ ดังนั้น ธนาคารกลางเอเชียจึงมีกระสุนที่จะสู้กับเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐหรือยุโรปที่เริ่มจะหมดเครื่องมือแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0