โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ’ นิทรรศการว่าด้วยผู้ลี้ภัยนอกสายตา

a day magazine

อัพเดต 27 ก.พ. 2563 เวลา 13.32 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 10.30 น. • สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

จากชื่อนิทรรศการ ‘ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ’ เราสงสัยเหมือนใครหลายคน

ใครคือ ‘ฉัน’ และใครคือ ‘คุณ’

เมื่ออ่านคำอธิบายงาน เราพอจะเข้าใจมากขึ้นว่า ‘ฉัน’ คือคำเรียกแทนผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถ้าเช่นนั้นแล้วคงไม่ยากที่จะเดาต่อว่า ‘คุณ’ นั้นหมายถึงคนเมืองนั่นเอง

ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ
ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ
ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ
ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ

‘ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ’ หรือ I am not allowed to live in your reality คือนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เลือกใช้เทคโนโลยีภาพเสมือน (Virtual Reality: VR) เป็นสื่อกลางในการพาผู้ชมเข้าไปเรียนรู้โลกอีกใบของผู้ลี้ภัยซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเช่นกัน ด้วยความหวังว่าผลงานอาจช่วยสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นระหว่างคนในสังคมและผู้ลี้ภัย และตั้งคำถามกับการมองเห็นของทุกคน

“เราไม่ได้ตั้งใจพูดถึงผู้ลี้ภัยโดยตรง แต่กำลังตั้งคำถามถึงการรับรู้และโลกความจริงของคุณ เราอยากให้คนได้ย้อนถามตัวเองว่าคุณประกอบสร้างโลกความจริงของตัวเองด้วยอะไรบ้าง” จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์อธิบายให้เราฟังอย่างตั้งใจในฐานะศิลปินเจ้าของนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากเป็นศิลปิน เขายังเป็นอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสารคดีและการผลิตสื่อวีดิทัศน์รูปแบบต่างๆ ด้วย

หลังจากที่เดินสำรวจพื้นที่ของนิทรรศการครบหนึ่งรอบ เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของจิรวัฒน์ที่อยากจะดึงตัวผู้ชมให้ถอยออกมามอง ‘โลกความจริง’ ใบนี้ที่เราอาศัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ตั้งคำถามกับมัน และมองเห็นแง่มุมเล็กๆ ที่กำลังรอการเปลี่ยนแปลง

ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ
ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ

 

มนุษย์ล่องหน

ย้อนกลับไปสมัยเรียนปริญญาตรี ความสนใจด้านสังคมและการเมืองเป็นต้นทุนที่ทำให้จิรวัฒน์เลือกเรียนคณะโบราณคดีเพื่อคลุกคลีกับเรื่องราวสังคมมนุษย์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเสพงานศิลปะ ภาพยนตร์ และวิดีโออาร์ตต่างๆ เมื่อต้องเลือกสาขาวิชาในระดับปริญญาโท สาขา experimental film ที่ Kingston University London ประเทศอังกฤษ จึงเป็นจุดหมาย

ถ้าการเลือกครั้งนั้นคือการทดลอง ผลที่ออกมาน่าจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ เพราะคอร์สเรียนที่ว่าจุดประกายให้เขาเห็นวิธีผสานความสนใจในสังคม การเมือง และศิลปะ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว 

ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ
ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ

“วันที่ผมเข้าไปเรียนศิลปะทำให้ผมค้นพบว่า นอกจากงานวิดีโอที่เราชอบ โลกของศิลปะยังมีเครื่องมือต่างๆ อยู่เต็มไปหมด และถ้าเรามองฟอร์มของศิลปะเป็นแค่เครื่องมือ นั่นหมายความว่าเราสามารถเลือกใช้เทคนิคอะไรก็ได้เพื่อรับใช้แนวคิดของเรา”

นับแต่นั้นจิรวัฒน์จึงเริ่มนำศิลปะรูปแบบต่างๆ มาผสมกับความอินในประเด็นทางสังคม​จนเกิดเป็นผลงานศิลปะเข้มข้น​ เช่น ครั้งที่เขาลงไปคลุกคลีกับครอบครัวและคนใกล้ชิดของคนที่ถูกอุ้มหายและพัฒนาเป็น This Is Not A Political Act นิทรรศการภาพถ่ายที่เล่าเรื่องการอุ้มหายได้อย่างสั่นสะเทือน

มาครั้งนี้จิรวัฒน์ใช้ความสนใจประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นจุดเริ่มต้น เขาทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในโลกก่อนลงลึกไปทำความเข้าใจปัญหาของผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยการติดตามเจ้าหน้าที่องค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปเจอผู้ลี้ภัยหลากชนชาติ หลายที่มา หลายครั้งที่เขาได้ฟังเรื่องราวสะเทือนใจ และมีบางครั้งที่เขาไม่ได้จบกระบวนการที่บทสนทนาแต่ยังต่อยอดไปยังการทำงานศิลปะร่วมกัน

หลังจากเดินทางไปเจอผู้ลี้ภัยนับสิบ ปัญหาหนึ่งที่เขาพบคือแม้ว่าผู้ลี้ภัยจะอาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันกับเรา แต่พวกเขาแทบมีสถานะ ‘ล่องหน’ น้อยคนที่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ หรือถึงรู้ก็มองว่าพวกเขาเป็น ‘คนอื่น’ ทำให้การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นไปได้ยาก เพราะถ้ามองไม่เห็นแม้การมีอยู่จะตระหนักรู้ถึงปัญหาของพวกเขาได้ยังไง

แต่ก่อนจะว่ากันถึงปัญหา จิรวัฒน์เริ่มต้นจากการเล่าวิธีที่ทำให้ทุกคนมองเห็นผู้ลี้ภัยในเมืองก่อน ด้วยการใช้เทคนิค Virtual Reality (VR) คือการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง และ Augmented Reality (AR) หรือการจำลองวัตถุเสมือนจริงเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงเพื่อทำหน้าที่เชิงสัญญะ สะท้อนถึงโลกคู่ขนานที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่

“ผมคิดว่าเราต้องมีวิธีการทำให้คนในสังคมมองเห็นผู้ลี้ภัย ไม่ใช่แค่เจอกันในทางกายภาพ แต่เราอยากให้คนรับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ของพวกเขา การใช้ VR จึงตอบโจทย์เรื่องการสร้างโลกเสมือน เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมโลกของคนเมืองเข้ากับโลกของผู้ลี้ภัย”

 

เก้าอี้ 6 ตัว / ผู้ลี้ภัย 3 คน

บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 ของหอศิลปกรุงเทพฯ คือสถานที่จัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ พื้นที่ลานโล่งถูกจัดวางและออกแบบอย่างเรียบง่าย ขณะเดียวกันก็สื่อสารออกมาอย่างทรงพลัง 

สิ่งแรกที่สะดุดตาเราคือเก้าอี้ไม้จำนวน 3 คู่ วางหันหน้าเข้าหากัน ฟากหนึ่งติดตั้งชุดอุปกรณ์ VR ให้ผู้เข้าชมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปชม ในขณะที่อีกฟากเป็นเพียงเก้าอี้ว่างเปล่า

เมื่อเรานั่งบนเก้าอี้พร้อมกับสวมแว่น VR ภาพแทนผู้ลี้ภัยคนหนึ่งก็ปรากฏขึ้นบนเก้าอี้ตรงหน้า ทำหน้าที่บอกเล่าประสบการณ์ ความคิด และความรู้สึกของเขาในฐานะคนคนหนึ่ง ที่พิเศษคือเก้าอี้แต่ละตัวนั้นเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยคนละคนที่ต่างอายุ เชื้อชาติ และเหตุผลที่ต้องจากบ้านเกิด แม้ใช้เวลานั่งดูเพียงไม่กี่นาที เราก็ดำดิ่งเข้าสู่มิติคู่ขนานของพวกเขาได้เต็มตัว

“ตอนที่ศึกษาปรากฏการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในเมือง เราได้เจอเด็กชาวเวียดนามที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางศาสนา เจอคุณแม่ชาวโซมาเลียที่เจอปัญหาสงครามชนเผ่า เจอคนจีนที่ต้องเผชิญกับภัยความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งที่ตัวเขาเรียนปริญญาเอกอยู่อังกฤษแต่ก็พยายามช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อของรัฐบาลท้องถิ่นในจีน”

จากเรื่องราวมากมายที่พบเจอ เขาตัดสินใจให้ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงและหนึ่งในผู้ที่ทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเมือง เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยทั้ง 3 คน เพราะบางครั้งผู้ลี้ภัยอาจตกอยู่ในสถานะของผู้ถูกตามจับ จึงต้องระมัดระวังในแง่ความปลอดภัยของพวกเขา

“ผมอยากสื่อสารว่า เรามักจะเห็นผู้ลี้ภัยเป็นคนที่ไกลตัวจากเรา เขาต้องไม่เหมือนเรา ต้องพูดอีกภาษา มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่ถ้าเราลองทำความเข้าใจความหมายของผู้ลี้ภัยจริงๆ ในประวัติศาสตร์โลกหรือประวัติศาสตร์ไทย โลกของเรามีผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากและประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยก็เกิดขึ้นตลอด ถ้ามองย้อนกลับไปที่ตัวเราและบรรพบุรุษก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนย้ายของประชากรเหมือนกัน

“อย่างช่วงที่จีนปฏิวัติวัฒนธรรม คนจีนจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นมายังประเทศไทย ณ ตอนนี้เหตุการณ์คล้ายกันก็กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่บนโลกจากเหตุผลเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง สังคม และศาสนา โดยที่มวลมนุษย์ในปัจจุบันก็เยอะกว่าในอดีตมาก ปริมาณการโยกย้ายประชากรโลกในปัจจุบันนี้จึงเรียกได้ว่ามหาศาลมาก 

“นอกจากนี้ผมอยากให้คนได้ทำความเข้าใจว่าผู้ลี้ภัยไม่จำเป็นต้องเป็นนักโทษทางการเมืองเสมอไป และอยากให้คนได้เห็นความหลากหลายในเชิงอายุ เพศ เชื้อชาติ และบทบาทของเขา เราจะเห็นทั้งความเป็นลูก ความเป็นแม่ หรือแม้กระทั่งความเป็นนักศึกษา 

“และเมื่อใดที่เราเริ่มมองเห็นพวกเขา มันน่าจะช่วยลดอคติต่อกันลง ช่วยทลายกำแพงความเป็นอื่น และจะได้ทำความเข้าใจผู้ลี้ภัยในฐานะคนคนหนึ่ง”

 

สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์

พื้นที่ฝั่งตรงข้ามของเก้าอี้ทั้ง 6 ตัว เรามองเห็นพื้นสีขาวที่มีรอยฝ่ามือกระจายเด่นทั่วบริเวณ

จิรวัฒน์เอ่ยชวนให้เราโหลดแอพพลิเคชั่นของนิทรรศการมาสแกนร่องรอยเหล่านั้น และเมื่อส่องกล้องโทรศัพท์ไปยังรอยมือ ผลงานภาพวาดของเจ้าของมือก็จะปรากฏขึ้นในจอ คู่ขนานไปกับเรื่องราวเบื้องหลังที่บรรจุอยู่ในสูจิบัตรเล่มเล็ก ทั้งหมดเพื่อบอกเราว่ารอยฝ่ามือเหล่านี้ล้วนมีชีวิต มีเรื่องเล่าทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะมองเห็นพวกเขาหรือไม่ก็ตาม

“ภาพมือที่ปรากฏบนพื้นมีความหมายในเชิงโบราณคดี ผมได้ไอเดียมาจากภาพมือในผนังถ้ำ ซึ่งมีความหมายคือการพยายามบอกว่า ‘I was here.’ หรือ ‘ฉันเคยอยู่ที่นี่’ ผมมองว่ามันคือการตกค้างทางประวัติศาสตร์ งานนี้ก็ต้องการหาบางสิ่งที่จะเป็นตัวแทนการตกค้างในห้วงเวลาของผู้ลี้ภัย เป็นตัวแทนบอกว่าพวกเขาเคยอยู่ตรงนี้ เมื่อสแกนรอยมือผ่านแอพฯ ภาพที่ปรากฏขึ้นมาเป็น hand drawing ของผู้ลี้ภัยที่ได้จากกิจกรรมเวิร์กช็อปวาดภาพแทนตัวเองหรือสิ่งที่เขารู้สึกกับตัวเอง” 

ภาพเรือสำเภาที่ลอยเคว้งอยู่กลางทะเลคือผลงานชิ้นหนึ่งที่สะดุดตาเราตั้งแต่แวบแรก ในแง่หนึ่งมันอาจสะท้อนถึงความไร้หลักแหล่งของเจ้าของลายเส้นหรืออาจหมายถึงการเดินทางที่ไม่สิ้นสุดก็ได้เช่นกัน

“ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่ได้ต้องการที่จะมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย” จิรวัฒน์อธิบายด้วยเข้าใจดีว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่คิดว่าผู้ลี้ภัยคือคนที่เข้ามาแย่งทรัพยากรและงานของคนในประเทศ

“จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยส่วนมากแค่ต้องการเดินทางไปประเทศที่สาม แต่เพราะประเทศไทยมีสำนักงาน UNHCR (องค์กรของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย) เขาจึงเดินทางมาที่นี่เพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยและรอเข้าสัมภาษณ์ในสถานทูตประเทศต่างๆ เพื่อเดินทางต่อไป ซึ่งกว่าจะได้เข้าสัมภาษณ์อาจใช้เวลานานถึง 4-5 ปี

“ปัญหาคือประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ทำให้พวกเขาไม่มีสถานะผู้ลี้ภัยในเชิงกฎหมาย เหมือนคนที่ไม่ได้ทำสูติบัตรและไม่มีบัตรประชาชนยืนยันว่าเรามีตัวตนอยู่ ดังนั้นเวลาที่ผู้ลี้ภัยเจอตำรวจ ต่อให้มีบัตรผู้ลี้ภัยจาก UNHCR เขาก็สามารถถูกจับตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองได้ และต้องเข้าไปอยู่ในสถานกักกันซึ่งสภาพก็คือคุกนั่นแหละ ที่น่าเศร้าคือหลายคนที่ไม่มีเงินประกันตัวจะไม่มีทางออกจากสถานกักกันได้เลย บางคนอาจถูกขังลืมและไม่มีหวังได้กลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้อีก”

 

จงตั้งคำถาม

ใครคือผู้ลี้ภัย เขาอยู่ตรงไหนในสังคมเมือง ปัญหาของพวกเขาคืออะไร และเราจะแก้ไขได้ยังไง

เหล่านี้คือคำถามที่ค่อยๆ ผุดขึ้นมาระหว่างดู VR และ AR ในนิทรรศการ และแม้ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่จิรวัฒน์ยืนยันว่าเพียงแค่ตั้งคำถามก็ถือว่างานมีผลตอบรับที่ดีแล้ว

“ตลอดเวลาที่ทำงานมาเราได้เห็นว่ายังมีวิธีแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอีกหลายแบบมากๆ มีทั้งการพยายามต่อสู้ การพยายามนำเสนอข้อมูล ซึ่งผมคิดว่ามันดีและถูกต้องแล้ว แต่ส่วนที่เราทำได้คือการย้อนกลับไปยังจุดแรกสุด คือทัศนคติของคน เรารู้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่มีต่อผู้ลี้ภัยได้ด้วยการพูดถึงข้อมูลอย่างเดียว ดังนั้นเราจึงต้องพยายามหาทางเล่าเรื่องราวให้ง่ายและชวนให้เขาเกิดคำถามในใจ

“การตั้งคำถามแปลว่าเราอาจทำอะไรบางอย่างต่อไปได้ การพัฒนาส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นจากคำถามที่เรามีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากคำถามที่ว่าทำไมแอปเปิลถึงตกลงมาบนหัวทำให้บางคนค้นพบบางสิ่งบางอย่าง ได้เจอความจริงอีกชุดซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน ผมจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องสร้างคำถามขึ้นมา” ศิลปินหนุ่มพูดอย่างหนักแน่น

 

หรือแค่การเพิกเฉยของเรา

“ถ้างานนี้สามารถลบอคติในใจคนได้จริง จากนั้นเราจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่โครงสร้างได้ไหม” เราสงสัย

“มันน่าจะย้อนกลับมาที่การตั้งคำถามของคนทั่วไป ลดทอนอคติและเรียกร้องเพื่อบอกรัฐว่าเราไม่โอเคกับประเด็นนี้นะ จากนั้นมันจึงอาจจะพาเราไปสู่การเคลื่อนไหวของรัฐได้

“สุดท้ายแล้วผมไม่ได้คิดว่าทุกคนดูงานนี้เสร็จแล้วจำเป็นต้องกลับไปทำอะไร คุณไม่ต้องกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัยในเมืองและไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนผมก็ได้ ผมแค่หวังว่ามันจะทำให้เกิดการตั้งคำถามกับชีวิตประจำวันของเรา ว่าอัตตาของเรากำลังกดทับอะไรบางอย่างหรือเปล่า หรือการเพิกเฉยของเราส่งผลกระทบอะไร 

“เพราะแค่การเพิกเฉยของคุณก็เหมือนการยินยอมให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นแล้ว”

ตามไปดูนิทรรศการ ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ ได้ที่โถงกิจกรรม ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2563 (ปิดวันจันทร์) เวลา 10:00-21:00 น.

Highlights

  • ‘ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ’ หรือ I am not allowed to live in your reality คือนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เลือกใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางในการนำผู้ชมที่เป็นคนเมืองเข้าไปเรียนรู้โลกของผู้ลี้ภัยซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเดียวกับเรา
  • หลังจากเดินทางไปเจอผู้ลี้ภัยนับสิบ ปัญหาหนึ่งที่ จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ เจอคือ แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันแต่ผู้ลี้ภัยแทบมีสถานะ ‘ล่องหน’ น้อยคนที่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ หรือถึงรู้ก็มองว่าพวกเขาเป็น ‘คนอื่น’ 
  • ความตั้งใจของนิทรรศการนี้คือการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทำความเข้าใจที่มาที่ไปของผู้ลี้ภัยแต่ละคน เข้าใจปัญหาของพวกเขา และตั้งคำถามต่อโลกรอบตัวมากขึ้น
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0