โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘จ้างงาน’ สูงกว่า ‘ว่างงาน’ สายไอทียังปัง แนะองค์กร ดูดคนเก่งร่วมงาน

The Bangkok Insight

อัพเดต 20 พ.ย. 2562 เวลา 13.12 น. • เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 00.30 น. • The Bangkok Insight
‘จ้างงาน’ สูงกว่า ‘ว่างงาน’ สายไอทียังปัง แนะองค์กร ดูดคนเก่งร่วมงาน

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส เผยผลสำรวจแนวโน้มอัตราเงินเดือนประจำปี 2563 ของบุคลากรในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายอาชีพไอทีเงินเดือนพุ่งต่อ ตามความต้องการของตลาดยุคเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แนะองค์กรวางกลยุทธ์ช่วงชิงคนเก่ง ต้องเข้าใจความคาดหวังของพนักงาน

นางสาวปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจแนวโน้มอัตราเงินเดือนประจำปี 2563 ที่จัดทำโดย โรเบิร์ต วอลเทอร์ส พบว่า จากจำนวนนิติบุคคลเปิดใหม่ในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2562 ที่มีถึง 38,222 ราย โดยสามอุตสาหกรรมที่เปิดตัวมากที่สุดคือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง, อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร

นอกจากนี้ยังพบว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในประเทศไทยช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2562 สูงสุดยังเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีการลงทุนถึง 143 โครงการ คิดเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีการลงทุนรวม 130 โครงการ แม้ว่าเงินลงทุนโดยรวมจะลดลงจาก 12,020 ล้านบาทในปี 2561 เหลือ 6,460 ล้านบาทในปีนี้ แต่เป็นเพราะในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการลงทุนจำนวนมากเนื่องจากมีความตื่นตัวในเรื่องของ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในปีนี้จึงเป็นการลงทุนเพิ่มเติมและลงทุนต่อเนื่องเท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่า แม้จะมีข่าวการปิดกิจการจำนวนมากในปีนี้ แต่ก็มีบริษัทที่เปิดดำเนินกิจการใหม่จำนวนมากเช่นกัน และสายงานด้านไอที ยังคงเป็นกลุ่มที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง จากการขยับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการปรับตัวขององค์กรเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคหรือลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเทคโนโลยี

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 14,620 ล้านบาท ในปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 137% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการลงทุนรวม 6,290 ล้านบาท เป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงความต้องการจ้างงานในสายงานนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

"ปัจจุบัน สถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทย ตลาดการจ้างงานยังมีความต้องการผู้สมัครงานสูงกว่าผู้หางาน ซึ่งสวนทางกับข่าวปิดกิจการจนเกิดการตกงาน เนื่องจากการปิดกิจการจะกระทบกับแรงงานในส่วนของภาคผลิต ขณะที่กลุ่มแรงงานระดับผู้จัดการขึ้นไป ยังมีความต้องการสูงในตลาดจ้างงาน"นางสาวปุณยนุช กล่าว

เมื่อเจาะลึกถึงผลสำรวจเงินเดือนและแนวโน้มการจ้างงานของไทย พบว่า การที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคโมบายล์ เฟิร์ส ทำให้องค์กรต้องปรับกลยุทธ์ตาม และเกิดความต้องการจ้างงานบุคลากรในสายงานดิจิทัลเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเดือนสำหรับคนที่เปลี่ยนสถานที่ทำงานใหม่ในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20-30%

ในส่วนของโบนัสในปี 2563 นั้น 75% ของพนักงานคาดว่าจะได้โบนัสประมาณ 15% ขึ้นไปของเงินเดือน ซึ่งสิ่งที่จูงใจพนักงานและสร้างความพึงพอใจในการทำงาน ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี อีกทั้งยังพบว่า 29% ของพนักงานให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในอาชีพเป็นแรงตูงใจหลักในการเปลี่ยนงานใหม่

จากภาพรวมดังกล่าว สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า นายจ้างต้องเร่งปรับตัวเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ ตั้งแต่การสรรหาที่เปิดกว้าง ให้โอกาสในการอบรมพนักงานเพื่อสร้างการเติบโตในสายอาชีพและพัฒนาบุคลากรเพื่อให้การบริหารจัดการพนักงานเกิดความยั่งยืน ซึ่งจะทำให้การลาออกลงดลง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนขององค์กรในการเปิดรับและอบรมพนักงานใหม่อีกด้วย และสิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ลืมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ผลตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม

ที่มา : โรเบิร์ต วอลเทอร์ส
ที่มา : โรเบิร์ต วอลเทอร์ส

ทั้งนี้ หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจากผลสำรวจเงินเดือนประจำปี 2563 พบว่า

บัญชีและการเงิน ทักษะการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Management) ทักษะทางด้านโปรแกรมที่ช่วยจัดการสายงานทุกสายงานของธุรกิจให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ (SAP/ system implementation) ยังมีความต้องการสูง ขณะที่ 49% ของบุคลากรในสายงานนี้คาดว่าจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน 7-15% ส่วนบุคลากรที่มีการย้ายงานจะได้รับเงินเดือนปรับขึ้นเฉลี่ย 15-25% โดยปัจจุบัน 21% ของพนักงานในสายงานนี้มีอายุงานเฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี

• การบริการทางการเงินและการธนาคาร ตำแหน่งที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก คือ ผู้จัดการสัมพันธ์ฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ ที่ปรึกษาด้านการวางแผนทางการเงิน และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฏระเบียบ โดย 30% ของพนักงานในสายงานนี้มีอายุงานเฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี สำหรับผู้ที่มีการย้ายงาน คาดว่าจะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยปรับขึ้น 20-25%

วิศวกรรมและการผลิต ตำแหน่งงานยอดนิยม ได้แก่ ผู้บริหารฝ่ายควบคุมคุณภาพ วิศวกรรมโครงการและปรับปรุงคุณภาพ ซึ่งแรงจูงใจสำคัญในการย้ายงานคือ การได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่มากขึ้น สำหรับผู้ที่มีการย้ายงาน คาดว่าจะได้รับเงินเดือนเฉลี่ยที่ปรับขึ้นประมาณ 15-30%

ทรัพยากรบุคคล หนึ่งในสี่แรงจูงใจในการย้ายงานอันดับแรก คือ ความก้าวหน้าในอาชีพซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 36% ในขณะที่ทักษะสำคัญในสายงานที่เป็นที่ต้องการ ประกอบไปด้วยบทบาทการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ความคิดเชิงตรรกะและกลยุทธ์ รวมถึงการคิดเชิงวิเคราะห์

กฏหมาย ทักษะภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม ความคิดเชิงพาณิชย์และความเชี่ยวชาญรอบด้าน เป็นทักษะสำคัญในสายงาน ซึ่ง 61%  ของบุคลากรที่ย้ายงานให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการเป็นอันดับแรก ขณะที่ 56% คาดว่าจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน 7-15% และพนักงาน 27% คาดหวังว่าจะได้รับการขึ้นเงินเดือน 15% ขึ้นไป

ฝ่ายขายและการตลาด เป็นสายงานที่มีอัตราการลาออกสูง ซึ่ง 36% ของพนักงานมีอายุงานน้อยกว่า 2 ปี และ 34% ของพนักงานให้ปัจจัยความก้าวหน้าในอาชีพเป็นแรงจูงใจหลักในการเปลี่ยนงาน มีการคาดการ์ณว่าการปรับขึ้นของเงินเดือนพนักงานที่ย้ายงานใหม่จะอยู่ระหว่าง 15-30% ทักษะยอดนิยมที่เป็นที่ต้องการในสายงานนี้ ประกอบไปด้วย การขายระดับภูมิภาค การบริหารฐานลูกค้าและผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล

ที่มา : โรเบิร์ต วอลเทอร์ส
ที่มา : โรเบิร์ต วอลเทอร์ส

ซัพพลายเชนและจัดซื้อ พบว่า 62% ของพนักงานจะได้รับเงินเดือนปรับขึ้นเฉลี่ย 7-15% ซึ่งปัจจัยสำคัญในการย้ายงาน คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ ตามด้วยความต้องการค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงขึ้น และโอกาสในการทำงานในต่างประเทศ ซึ่งตำแหน่งงานยอดนิยม คือ การจัดซื้อจัดจ้าง การวางแผนด้านซัพพลายเชน การบริหารการขนส่ง

เทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่าน ความก้าวหน้าทางอาชีพ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ เป็นปัจจัยสำคัญในการย้ายงาน และ 32% ของพนักงานในสายงานนี้มีอายุงานเฉลี่ยน้อยกว่า 2 ปี ตำแหน่งงานยอดนิยม คือ นักพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชั่น(full stack / mobile developers) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientists) และวิศวกรด้าน UI/UX

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0