โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ขยะอาหาร’ ตัวการเกิดโลกร้อนที่ทุกคนมองข้าม

Mango Zero

เผยแพร่ 28 ม.ค. 2563 เวลา 11.30 น. • Mango Zero
‘ขยะอาหาร’ ตัวการเกิดโลกร้อนที่ทุกคนมองข้าม

ตอนเด็กๆ ทุกครั้งที่กินข้าว เราคงเคยได้ยินเสียงจากผู้ใหญ่เตือนเรื่องกินข้าวให้หมดอยู่บ่อยๆ ทั้ง “อย่ากินทิ้งกินขว้าง สงสารชาวนาบ้าง” “นึกถึงคนที่เขาไม่มีข้าวกิน” หรือแม้กระทั่งการพูดถึงความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่โพสพมาตักเตือนว่าการกินข้าวไม่หมดว่าจะทำให้เจ้าแม่โพสพเสียใจ ซึ่งคำพูดเหล่านั้นก็เป็นกลยุทธ์ในการกระตุ้นให้เรากินข้าวหมด และมันก็ค่อนข้างใช้ได้ผลในวัยเด็ก แต่ผลกระทบจากการกินข้าวเหลือไม่ได้มีแค่เพราะเหตุผลเหล่านั้นหรอกนะ เพราะนอกจากจะกระทบไปถึงเศรษฐกิจโลก แล้วเศษอาหารเหลือเป็นปัญหาใกล้ตัวที่กระทบถึงระดับโลกเลยทีเดียว

ปัจจุบันปริมาณขยะ 1 ใน 3 ของโลก เป็นเศษอาหารเน่าเสีย และคิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของการสร้างคาร์บอนทั้งหมดบนโลก ที่เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง ก่อนจะรู้ว่าขยะอาหารทำให้โลกร้อนได้อย่างไร เราก็ต้องรู้จักคำว่า Carbon Footprint กันก่อน

Carbon Footprint คืออะไร

หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้กัันมาบ้าง แต่น้อยคนที่จะเข้าใจจริงๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ แล้วมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับขยะอาหาร คำว่า “Carbon Footprint” มีทั้งในชีวิตประจำวันของคน และของผลิตภัณฑ์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ผลิต เก็บเกี่ยว แปรรูป ขนส่ง ใช้งาน จนย่อยสลาย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา

หมายความว่าทุกๆ กิจกรรมที่เราทำแล้วเกิดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือมีเทนก็ตาม ล้วนแต่เป็นการปล่อย Carbon Footprint ที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนนั่นเอง แน่นอนว่าในกระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นยันจบกระบวนการ ก็มีการปล่อย Carbon Footprint ออกมามากมายเช่นเดียวกัน

กว่าจะมาเป็นอาหารหนึ่งจาน

ก่อนที่จะเป็นอาหารให้เรากินแต่ละจาน ไม่ได้ผ่านแค่กระบวนการเดียว แต่ต้องมองย้อนไปตั้งแต่ต้นกำเนิดของอาหาร ทั้งการเพาะปลูก รดน้ำใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว เลี้ยงสัตว์ และให้อาหาร ล้วนต้องใช้พื้นที่เยอะ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาล อาจฟังดูโอเวอร์ไปหน่อย แต่รู้มั้ยว่าแค่วัวตดก็เกิดก๊าซมีเทนแล้ว

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น! เมื่อเราได้วัตถุดิบเตรียมประกอบอาหารแล้ว ก็ต้องเข้ากระบวนการผลิตเพื่อแปรรูปอาหารเพื่อเตรียมส่งไปยังผู้บริโภคอีก ลองนึกภาพโรงงานดูแล้วกันนะ ว่าการผลิตแต่ละครั้งใช้พลังงานและปล่อยมลพิษออกมามากเท่าไหร่ โดยเฉพาะพวกก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เรียกกันว่า Carbon Footprint นั่นแหละ กว่าจะถึงมือผู้บริโภคอย่างเรา ก็ยังต้องผ่านกระบวนการขนส่ง การประกอบอาหารที่ใช้ความร้อน การเผาไหม้ และพลังงานมากมาย ไปจนถึงการย่อยสลาย และเป็นแบบนี้กับอาหารทุกจานที่เรากิน

ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จะได้สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาหารแต่ละประเภท ดังนี้

  • เนื้อสัตว์ 56.6%
  • ผลิตภัณฑ์นม 18.3%
  • เครื่องดื่ม 5.9%
  • ปลาและอาหารทะเล 5.8%
  • ไข่ 2.8%
  • ผัก 2.6%
  • ธัญพืช 2.1%
  • ผลไม้ 1.6%
  • อื่นๆ 4.3%

แล้วเศษอาหารเกี่ยวกับโลกร้อนอย่างไร?

อย่างที่บอกว่าในทุกๆ กระบวนการของอาหารใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณค่อนข้างเยอะ เมื่อเรากินอาหารไม่หมด เศษอาหารพวกนั้นก็จะกลายเป็นขยะอาหาร ที่เป็นส่วนหนึ่งในขยะมูลฝอย ลองนึกภาพตามว่าขยะ 1 ใน 3 ของโลก เป็นเศษอาหารเน่าเสีย ที่ถูกกำจัดโดยวิธีการฝังกลบที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนร้ายแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

ยิ่งเรากินอาหารเหลือมากเท่าไหร่ ขยะอาหารก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้ต้องเพิ่มกระบวนการจัดการขยะอาหารที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นไปอีก

กินให้ถูก ช่วยโลกได้

เราต้องตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตามมาจากการกินอาหารเหลือให้ได้ก่อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ที่ส่วนปลายอย่างเศษอาหารเท่านั้น แต่ทุกกระบวนการตั้งแต่จะมาเป็นอาหารจนถึงขยะอาหารที่รอการย่อยสลาย ก็มีส่วนในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

เราสามารถช่วยโลกได้ง่ายๆ จากการวางแผนการบริโภคให้ถูกต้อง ดังนี้

  • เลือกบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรองฉลาก Carbon Footprint จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  • วางแผนการกินให้ดี กินแค่ไหนตักเท่านั้น และไม่ซื้ออาหารมาตุนมากเกินความจำเป็น
  • ถ้ากินเหลือให้ห่อกลับ เพื่อไม่ให้เกิดขยะอาหาร และเป็นการกินอาหารให้คุ้มค่ากับกระบวนการผลิต
  • ลดการกินบุุฟเฟ่ต์ เพราะในแต่ละมื้อของบุฟเฟ่ต์ทำให้เกิดอาหารขยะมากกว่ามื้ออาหารปกติ และอาหารส่วนใหญ่ยังเป็นประเภทโปรตีนที่มีการปล่อย Carbon Footprint เป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาอาหารชนิดอื่นๆ
  • เลี่ยงการกินเนื้อบ้างในบางครั้ง อาหารจำพวกโปรตีน ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด โดยเฉพาะเนื้อแกะ และเนื้อวัว เพราะการเลี้ยงสัตว์ต้องใช้พื้นที่เยอะ กว่าจะเลี้ยงให้โต จนผลิตและขนส่งมาถึงผู้บริโภค ค่อนข้าง เพราะสัตว์แค่เวลาตดทีก็ปล่อยก๊าซมีเทนแล้ว หากกินเหลือก็จะไม่คุ้มค่ากับคาร์บอนที่ใช้ไปในการเลี้ยงดูและผลิตออกมาเป็นอาหารอีก
  • แยกขยะ และจัดการกับขยะอาหารโดยการนำไปทำปุ๋ย เอาเศษอาหารรวมกันในถังรวมกับขยะมูลฝอย ใช้เป็นปุ๋ยในฟาร์มได้
  • คำนวณค่า Carbon Footprint ในแต่ละมื้ออาหารผ่านเว็บไซต์คำนวณค่า เช่น vegansociety.com, foodemissions.com เพื่อวางแผนในการบริโภคเพื่อให้เกิด Carbon Footprint น้อยที่สุด
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0