โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘กูเกิล’ ปักธงหนุนศก.ดิจิทัล ดันแผนลงทุนไทยต่อเนื่อง 

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 23.00 น.

"กูเกิล" ย้ำพันธกิจพัฒนาประเทศไทย ปักธงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งเสริมทักษะดิจิทัล พัฒนาบริการตอบโจทย์ท้องถิ่น พร้อมสนับสนุนการเติบโตเอสเอ็มอี ยันมีแผนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องด้าน"สมคิด"ชวน"กูเกิล" เข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเผยรัฐพร้อมอำนวยความสะดวก

นางสเตฟานี่ เดวิส กรรมการผู้จัดการกูเกิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงาน "กูเกิล ฟอร์ ไทยแลนด์" ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ว่า กูเกิลมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล(Leave No Thai Behind) จากนี้จะมีการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยแผนงานครอบคลุม 4 พันธกิจหลัก ได้แก่ 1.สร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี 2.ส่งเสริมทักษะดิจิทัล 3.พัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน และ 4.สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปีที่ผ่านมากูเกิลได้เปิดตัวบริการและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้กับบริการที่มีอยู่จำนวนมากขณะเดียวกันทำงานใกล้ชิดร่วมกับพันธมิตรและรัฐบาลไทย

รายงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2562 "e-Conomy SEA 2019" โดยกูเกิล, เทมาเส็ก และเบนแอนด์คอมพานี คาดการณ์ว่า ปี 2562 เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยจะมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ระหว่างปี 2558-2562 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 29% ระหว่างปี 2558-2568 เติบโตเฉลี่ย 24% และมีการคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อถึงปี 2568 มูลค่าจะทะลุ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ล่าสุด เปิดตัว 2 แอพพลิเคชั่นใหม่สำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยโดยเฉพาะ ภายใต้โครงการระดับโลกเพื่อการส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจชื่อว่า "Grow with Google" แอพพลิเคชั่นแรกชื่อว่า"Primer"ซึ่งประกอบไปด้วยบทเรียนง่ายๆ สำหรับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางธุรกิจและการตลาดดิจิทัล และ"Skillshop"แพลตฟอร์มอีเลิร์นนิงเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของกูเกิล

นอกจากนี้ เปิดตัวโครงการ"Be Internet Awesome"ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้กับเด็กๆ เกี่ยวกับการท่องโลกออนไลน์อย่างมั่นใจและปลอดภัย โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้เปิดตัวโครงการดังกล่าวในภาษาของตัวเอง

นอกจากนี้ขยายผลงานวิจัยในการใช้ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ในการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา(Diabetic Retinopathy จากคลินิก 1 แห่งเป็น 8 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี และเชียงใหม่, ขยายการให้บริการไวไฟฟรี "กูเกิล สเตชั่น" กว่า 100 แห่งทั่วไทย, เปิดตัวโปรเจ็คต์ใหม่บน Google Arts & Culture ชื่อว่า "Hidden Fruits" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ 5 ของนิทรรศการวังหน้า

พร้อมกันนี้ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยภายใต้โครงการธงฟ้าและสมาชิกของเว็บไซต์ Thaitrade.com มีตัวตนบนโลกออนไลน์ รวมถึงขยายความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วยเอสเอ็มอีลงทะเบียนใช้งานกูเกิลมายบิสิเนสผ่านแอพพลิเคชั่นเอสซีบีอีซี่ตั้งแต่สิ้นเดือนพ.ย.นี้เป็นต้นไป กูเกิลตั้งเป้าไว้ว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยมีตัวตนบนโลกออนไล์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านรายภายในปีหน้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณกูเกิลที่ได้ให้สัญญาและทำตามสัญญาในการช่วยผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เปิดโอกาสด้านดิจิทัลให้คนด้อยโอกาส รวมถึงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"เทคโนโลยีมาเร็ว ถ้าไม่เร่งปรับตัวจะตามคนอื่นไม่ทัน ขณะเดียวกันมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงทุกภาคส่วน เนื่องจากมีส่วนสำคัญต่อทั้งการสร้างนวัตกรรม นักธุรกิจรุ่นใหม่ และผลักดันการเติบโตให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี"

ปัจจุบัน ชีวิตคนไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างของการกระจายรายได้ คนที่อยู่ในที่กันดารห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ถูกปิดกั้นด้วยขนาดธุรกิจ เงินทุน ดังนั้นหวังให้กูเกิลเข้ามาช่วย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจ ร่วมต่อยอดและใช้ประโยชน์จากที่รัฐบาลได้ลงทุนเพื่อทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกหมู่บ้าน

นอกจากนี้ เพิ่มการลงทุนเข้ามาตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทยไม่ใช่ที่สิงคโปร์หรือเวียดนาม โดยไทยนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เป็นฮับของภูมิภาคอินโดจีน และกำลังมีการเติบโตที่แข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับ

"การเข้ามาลงทุนในไทยจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง รัฐบาลไทยเองยินดีให้การสนับสนุนและจะดูแลเป็นอย่างดีวันนี้เรามีพันธมิตรทั้งจากประเทศจีน กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รวมถึงญี่ปุ่น หวังว่ากูเกิลจะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0