โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘การปฏิวัติ’ที่กำลังล้มเหลวใน‘ฮ่องกง’

Manager Online

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 16.35 น. • MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Hong Kongs failing revolution

By Francesco Sisci

07/10/2019

พวกผู้ประท้วงฮ่องกงตะโกนว่า การต่อสู้ของพวกเขาเป็น “การปฏิวัติแห่งยุคสมัยของเรา” แต่ผู้คนส่วนข้างมากในฮ่องกงต้องการการปฏิวัติหรือไม่? ถ้าหากไม่ต้องการ พวกเขาอาจหันไปสนับสนุนการต่อต้านการปฏิวัติก็ได้ ประชาชนในแผ่นดินใหญ้องการให้เกิดการปฏิวัติในฮ่องกาหรือไม่? หรือพวกเขาเลือกสนับสนุน “การต่อต้านการปฏิวัติ” ในดินแดนแห่งนั้นเสียมากกว่า

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นหลักหมายแสดงให้เห็นว่าการประท้วงในฮ่องกงดูเหมือนกำลังมาถึงจุดพลิกผัน ระลอกของการใช้กำลังมุ่งทำลายอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนของพวกกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงครอบคลุมกลืนกินทั่วทั้งนครแห่งนี้ สถานีรถไฟใต้ดินแห่งต่างๆ ถูกโจมตีทุบทำลายและถูกจุดไฟเผา ล้วนแต่เป็นเครื่องช่วยเหลือผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบให้มีเหตุผลความชอบธรรมสำหรับการเข้าปราบปรามกวาดล้าง แม้กระทั่งพวกตำรวจที่ออกเวรและพวกนักธุรกิจจากแผ่นดินใหญ่จีนต่างก็ถูกทำร้ายร่างกาย –ทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่พวกผู้ประท้วงหนุ่มสาวพากันร้องตะโกนคำขวัญให้ดำเนิน “การปฏิวัติ” (หมายเหตุผู้แปล – หนึ่งในคำขวัญสำคัญซึ่งพวกผู้ประท้วงที่ฮ่องกงใช้กันแพร่หลาย คือ "Liberate Hong Kong, revolution of our times" ปลดแอกฮ่องกง การปฏิวัติแห่งยุคสมัยของเรา)

กระนั้น ก็อย่างที่พูดกันว่าการปฏิวัติไม่ใช่งานเลี้ยงน้ำชา เราจึงควรต้องก้าวย่างไปอย่างระมัดระวัง ผู้คนส่วนข้างมากในฮ่องกงต้องการการปฏิวัติหรือไม่? ถ้าหากไม่ต้องการ พวกเขาอาจหันไปสนับสนุนการต่อต้านการปฏิวัติ (counter-revolution) ก็ได้

บางทีเรายังควรต้องถามด้วยเช่นกันว่า ประชาชนในแผ่นดินใหญ่จีนต้องการให้เกิดการปฏิวัติในฮ่องกงหรือไม่ –หรือพวกเขาน่าจะเลือกสนับสนุน “การต่อต้านการปฏิวัติ” ในดินแดนแห่งนั้นเสียมากกว่า

ไม่ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในฮ่องกงก็ตาม บางทีเราควรต้องจดจำเอาไว้ว่าการปฏิวัติส่วนใหญ่ที่สุดนั้นประสบความล้มเหลว

หากว่าเราขาดแคลนความตระหนักเช่นนี้เสียแล้ว ย่อมทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ใช่หรือไม่ที่พวกผู้ประท้วงหัวรุนแรงเพียงแค่กำลังเล่นสนุกอยู่กับการปฏิวัติ แทนที่จะคิดสร้างวางแผนยุทธศาสตร์อันเหมาะสมขึ้นมาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่สมเหตุสมผลบางอย่างบางประการ แล้วจากนั้นก็ล่าถอยเมื่อสมควรที่จะถอย?

ในความเป็นจริง การปฏิวัติครั้งต่างๆ ประสบความล้มเหลวเนื่องจากเหตุผลหลายหลากจำนวนมาก ทว่าความล้มเหลวดังกล่าวเหล่านี้ทั้งหมดมีปัจจัยที่เป็นตัวร่วมตัวหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ ได้แก่ ความฉาบฉวยไม่จริงจังของพวกนักปฏิวัติ

ยิ่งไปกว่านั้น พวกผู้นำจำนวนมากในปักกิ่งเคยมีประสบการณ์ผ่านการปฏิวัติที่ล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้ง 2 ครา ได้แก่ การปฏิวัติวัฒนธรรม (ปี 1966 – 1976) และขบวนการเทียนอันเหมินปี 1989 สามารถพูดได้ว่าพวกเขามีความเข้าอกเข้าใจดีกว่าผู้คนในฮ่องกงเยอะ เกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้พวกเขาประสบความล้มเหลวเมื่อตอนที่พวกเขาเป็นนักปฏิวัติวัยหนุ่มสาว ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงอาจจะทราบอะไรสักอย่างสองอย่างเกี่ยวกับวิธีการในการเอาชนะพวกนักปฏิวัติในปัจจุบัน

จากสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ นโยบายที่ดีที่สุดซึ่งปักกิ่งสมควรนำมาใช้ ไม่ใช่การกวาดล้างปราบปราม หากแต่เป็นการปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหวนี้กัดกินตัวเองจากภายใน และดังนั้นก็จะสามารถอวดโอ่ให้สาธารณชนจีนภายในประเทศตลอดจนสาธารณชนทั่วทั้งโลก ได้เห็นถึงผลลัพธ์ของการเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” แบบที่ขาดความยับยั้งชั่งใจและการใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนดื้อรั้น เราอาจเรียกนโยบายนี้ได้ว่าเป็นการวิวัฒนาการของวิธีแบบ “เฉียว สือ” (“Qiao Shi” method ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/08/opinion/hong-kong-needs-a-qiao-shi-solution/)

เมื่อเผชิญหน้ากับ “ความปั่นป่วนวุ่นวายของการปฏิวัติ” ครั้งนี้ ปักกิ่งกลับได้แสดงให้เห็นถึงความยับยั้งชั่งใจและความเมตตากรุณา ในการไม่นำเอาขบวนรถถังเข้าปราบปรามกวาดล้างอย่างนองเลือด แต่กระนั้นก็ยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงไม่อ่อนข้อใดๆ ให้แก่พวกสุดโต่ง

ใครจะเป็นผู้ชนะในสงครามเอาชนะใจประชาชนในฮ่องกง และที่ยิ่งสำคัญกว่านั้นอีกคือการเอาชนะใจประชาชนในจีน? ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2014 ปัจจุบันสาธารณชนชาวจีนกำลังติดตามเหตุการณ์ในฮ่องกงแบบมีการเลือกสรร พวกเขากำลังยืนอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลในปักกิ่งและคัดค้านไม่เห็นด้วยกับพวกผู้ประท้วง ผู้ซึ่งในความคิดเห็นของพวกเขาแล้ว มีความผิดฐานประกอบอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด อันได้แก่ การเรียกร้องต้องการที่จะแย่งยึดเอาดินแดนแห่งนี้ออกไปจากอ้อมอกของชาวจีน นี่อาจส่งผลลัพธ์ทั้งหมดออกมาในทางที่เป็นประโยชน์แก่พวกผู้มีอำนาจในฮ่องกงและปักกิ่ง และบางทีมันอาจจะเป็นสิ่งถูกต้องด้วยที่จะเป็นเช่นนี้

ในการปฏิวัตินั้น สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องกระทำมีเพียงแต่อดทนยืนหยัดและรักษาสติของตนเองเอาไว้ มันเป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ประท้วงต่างหากที่จะต้องขบคิดถึงวิธีการในการทำแต้มให้ได้ชัยชนะ

ยิ่งกว่านั้นแล้ว ยังมีข้อพิจารณาในแง่มุมเกี่ยวกับภูมิภาคอีกด้วย กล่าวคือ ในดินแดนส่วนใหญ่ของเอเชียนั้น การต่อสู้ปราบปรามสิ่งซึ่งสามารถที่จะถูกรับรู้รับทราบหรือที่จะถูกเสนอภาพให้เห็นว่าเป็นการก่อจลาจลอย่างไร้จุดหมายและไร้สติ เป็นสิ่งซึ่งสามารถเรียกคะแนนนิยมชมชื่นได้ ทั้งนี้เอเชียเป็นทวีปซึ่งมีความกังวลหวั่นไหวกับการจลาจลที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการชูธงประชาธิปไตยอยู่แล้ว

ปัจจัยได้เปรียบเหล่านี้ในฮ่องกง กำลังเพิ่มพูนอารมณ์ความรู้สึกคึกคักมีกำลังใจในปักกิ่ง ในเวลาที่ต้องทำสงครามการค้ากับวอชิงตัน ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตามที จีนมีความรู้สึกว่าตนเองกำลังเป็นฝ่ายถือแต้มเหนือกว่าในการเจรจาต่อรองด้านการค้า ในเมื่อฝ่ายอเมริกันกำลังเกิดความแตกแยกร้าวฉานกันอย่างมากเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งกระทั่งออกปากขอร้องอย่างเปิดเผยให้ฝ่ายจีนสนับสนุนในการเล่นงานโจมตีคู่แข่งขันคนสำคัญของเขา นั่นคือ โจ ไบเดน ตัวเก็งที่อาจะได้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต

“จีนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐฯ และเราเชื่อมั่นไว้วางใจว่าประชาชนชาวอเมริกันจะสามารถแยกแยะคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของพวกเขาเองได้เช่นเดียวกัน” รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน พูดแสดงท่าทีเอาไว้เช่นนี้

ตรงนี้ควรสรุปได้ว่า ฝ่ายจีนนั้นต้องการให้ทั้งสองพรรคสำคัญของสหรัฐฯเห็นชอบเห็นพ้องเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงการค้ากับจีน ไม่เช่นนั้นแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็อาจจะที่ทรยศหักหลังไม่เคารพบางส่วนหรือกระทั่งทั้งหมดของข้อตกลงที่สองประเทศทำกันเอาไว้

ทั้งหมดเหล่านี้นับเป็นชัยชนะภายในประเทศครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งสำหรับ สี จิ้นผิง ผู้ซึ่งอาจจะต้องแบกรับภารกิจอันยากลำบากยิ่ง ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวความคิดว่าด้วย การพัฒนาอย่างสันติ ดังที่อ้างอิงเอาไว้ในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาของเขา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-china-anniversary-xi/chinas-xi-says-country-will-stay-on-path-of-peaceful-development-idUSKBN1WG2LC) แนวความคิดนี้จัดว่าก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งเป็นอย่างมากภายในพรรคภายในประเทศ เนื่องจากพวกที่มีแนวทางแข็งกร้าวจำนวนมากคัดค้านโดยมองว่ามันเป็นนโยบายที่อ่อนเกินไป และด้วยเหตุนี้ สี จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกติเตียนประณาม สีเวลานี้พยายามที่จะทำให้ตนเป็นฝ่ายถือไพ่แต้มเหนือกว่าทั้งเมื่อเผชิญกับสหรัฐฯและในเวลาจัดการกับเรื่องฮ่องกง โดยการรักษาเส้นทางแบบกลางๆ เอาไว้ --ซึ่งก็คือการกระทำตามแนวทางของเฉียว สือ นั่นเอง

ทว่านี่ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเกมหรอก เมื่อกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว มันเป็นการย้อนกลับนำเอาสถานการณ์เมื่อปี 1989 เมื่อครั้งเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ให้หวนคืนมา คำถามจึงยังคงมีอยู่ว่า เฉียว สือ ในเวลานั้นมีแผนการอย่างไรสำหรับประเทศจีน ถ้าหากเขากลายเป็นฝ่ายชนะในคราวนั้น?

นี่อาจจะมีส่วนช่วยด้วยเหมือนกันสำหรับระยะเวลาไม่กี่เดือนและไม่กี่ปีต่อจากนี้ไป

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักจีนวิทยา (sinologist) ชาวอิตาลี โดยมีผลงานทั้งเป็นหนังสือเล่มและก็เป็นคอลัมนิสต์ด้วย เวลานี้เขาพำนักอาศัยและทำงานอยู่ในปักกิ่ง เขาเป็นผู้ร่วมเขียนเรื่องส่งให้สื่ออิตาลี อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24ore) และได้รับเชิญบ่อยครั้งให้ไปเป็นคอมเมนเทเทอร์ด้านกิจการต่างประเทศแก่ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) และสถานีโทรทัศน์ ฟินิกซ์ ทีวี (Phoenix TV)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0