โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘กรุงไทย’ฟันธงเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 4.3%

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Financials

เผยแพร่ 16 ต.ค. 2561 เวลา 06.30 น.

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เดือนต.ค.ปี 2018 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่า IMF มองเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่ารายงานเมื่อเดือนเม.ย. โดยปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 4.6% จากเดิม 3.9% ซึ่งใกล้เคียงกับ Krungthai Macro Research ที่คาดปีนี้เติบโต 4.5% อย่างไรก็ตาม IMF ประเมินปีหน้าไทยเติบโต 3.9% ในขณะที่ Krungthai Macro Research มองปีหน้าเติบโต 4.3%

"IMF กังวลกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies) เป็นพิเศษ จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยืดเยื้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน ซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่า EM ด้วยกันมาก เราจึงมองผลลบต่อเศรษฐกิจไทยไม่รุนแรงเท่า IMF"

IMF พบว่าอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางขาขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Emerging Market สะท้อนให้เห็นว่า ระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวมากกว่าที่คาด ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทย เพิ่งเริ่มต้นเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ทำให้ Krungthai Macro Research คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่ระดับ 2.00% ในปีหน้า

ขณะที่ประเมินตลาดเงินและตลาดทุนว่า สำหรับตราสารหนี้ไทย มองว่าอัตราผลตอบแทน(Yield) ของพันธบัตรไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยความเสี่ยงเงินเฟ้อ และตามทิศทางพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี(US Treasury) ที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นในปีหน้า สู่ระดับ 3.5% หรือมากกว่านั้นจากประมาณ 3% ในตอนนี้ ขณะที่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย อ้างอิงพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปีของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.88% เพิ่มขึ้น 0.34% จากต้นปี ซึ่ง Bond Yield ที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้เช่นกัน

ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางปรับตัวแข็งค่าในปีหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสภาพคล่องที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย แต่การแข็งค่าจะถูกจำกัดด้วย 3 ปัจจัยคือ ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้ไม่ดีเท่าปีนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงในระยะนี้

Krungthai Macro Research แนะนำนักลงทุนและผู้ประกอบการให้ระมัดระวังความเสี่ยงจากค่าเงินบาทอ่อน จากภาวะตลาดโลกที่มีการปรับพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงลง ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งการเมืองของสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.นี้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0