โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘กรุงเทพ’ ค่าครองชีพพุ่งพรวด ติดอันดับ 40 ของโลก ‘ฮ่องกง’ รั้งแชมป์สองปีซ้อน

The Bangkok Insight

อัพเดต 26 มิ.ย. 2562 เวลา 10.03 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 10.03 น. • The Bangkok Insight
‘กรุงเทพ’ ค่าครองชีพพุ่งพรวด ติดอันดับ 40 ของโลก ‘ฮ่องกง’ รั้งแชมป์สองปีซ้อน

เมอร์เซอร์ เผยผลการสำรวจค่าครองชีพประจำปีครั้งที่ 25 พบว่า การจัดอันดับ 10 เมืองที่มีอัตราค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 8 เมืองจาก 10 เมืองอยู่ในเอเชีย ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และราคาที่อยู่อาศัยที่มีการผันผวนอย่างต่อเนื่อง

นายมาริโอ้ เฟอราโร่ ผู้อำนวยการด้าน Global Mobility Practice ประจำภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของเมอร์เซอร์ เปิดเผยว่า เอเชียยังคงเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เพราะแม้เมืองในเอเชียจะมีอัตราค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง แต่หลายองค์กรก็ยังคงเล็งเห็นความจำเป็นทางธุรกิจในการโยกย้ายพนักงานไปประจำในภูมิภาคนี้

ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งการระบุเหตุผลทางธุรกิจที่ชัดเจนในการมอบหมายงาน และการวัดผลค่าตอบแทนจากการลงทุน

ทั้งนี้ กรุงเทพถือเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับที่ 40 ของโลก ซึ่งเป็นการเพิ่มอันดับที่สูงขึ้นถึง 12 อันดับ จากปีที่ผ่านมาอยู่อันดับที่ 52 สะท้อนให้เห็นถึงการย้ายถิ่นฐานของผู้อยู่อาศัยจากเมืองอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมากขึ้น และเป็นผลจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจที่ลดลง ขณะที่การผันผวนของค่าเงินและภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย

สำหรับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุด ยังคงเป็นของฮ่องกงเป็นปีที่สองต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงเกินเอื้อม สำหรับเมืองอื่น ๆ ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 2 โตเกียว อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 โซล อันดับ 5 ซูริค อันดับ 6 เซี่ยงไฮ้ อันดับ 7 อาชกาบัต อันดับ 8 ปักกิ่ง อันดับ 9 นิวยอร์ก และอันดับที่ 10 เซินเจิ้น

สำหรับการจัดอันดับอัตราค่าครองชีพของเมอร์เซอร์ในปีนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก 20 เมืองใน 5 ทวีปทั่วโลก โดยวัดจากการเปรียบเทียบราคาของ 200 รายการในแต่ละเมือง ภายใต้หมวดหมู่ที่อยู่อาศัย การเดินทาง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในบ้าน และความบันเทิง

ผลการสำรวจยังพบว่าในเมืองใหญ่ทั่วโลก ราคาของตั๋วภาพยนตร์ กาแฟ ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในฮ่องกงมีราคาแพงที่สุดในโลก ในขณะที่นมในกรุงปักกิ่งมีราคาสูงที่สุดในโลกถึง 4.45 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับราคาของนมในกรุงนิวยอร์กที่ 1.21 ดอลลาร์สหรัฐ

นายอิเลีย โบนิก ประธานธุรกิจ แคเรียร์ ของเมอร์เซอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ทักษะการทำงานเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ โดยมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น และการเชื่อมโยงเครือข่ายบุคลากรทั่วโลกเป็นพลังขับเคลื่อน องค์กรระดับโลกจึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการโยกย้ายพนักงานไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่องค์กรได้

นอกจากนี้ การย้ายพนักงานไปต่างประเทศยังมีข้อดีสำหรับทั้งตัวพนักงานเองและองค์กรอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางอาชีพ ประสบการณ์ในระดับโลก การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และการโยกย้ายทรัพยากร ซึ่งการมอบข้อเสนอค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลและมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน จะทำให้องค์กรสามารถสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจได้จากการโยกย้ายพนักงาน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0