โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘กระต่ายหยก’ กลับมาโลดแล่นบนดวงจันทร์เป็นวันที่ 15 หลังผ่านพ้นราตรี

Xinhua

เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 10.27 น.
‘กระต่ายหยก’ กลับมาโลดแล่นบนดวงจันทร์เป็นวันที่ 15 หลังผ่านพ้นราตรี

ปักกิ่ง, 18 ก.พ. (ซินหัว) -- ยานลงจอดและยานสำรวจดวงจันทร์ในภารกิจ "ฉางเอ๋อ-4" ได้กลับมาปฏิบัติภารกิจต่อในวันที่ 15 ของดวงจันทร์ บนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์หลัง "หลับใหล" ในค่ำคืนที่อากาศหนาวจัด

ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ (Lunar Exploration and Space Program Center) ขององค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ระบุว่ายานลงจอดกลับมาทำงานเมื่อเวลา 06.57 น. ของวันอังคาร (18 ก.พ.) ตามเวลาปักกิ่ง ส่วนยานสำรวจกลับมาทำงานเมื่อเวลา 17.55 น. ของวันจันทร์ (17 ก.พ.) โดยสามารถทำงานได้ตามปกติ

ยานสำรวจ "อวี้ทู่-2" (Yutu-2) หรือ "กระต่ายหยก-2" ได้เคลื่อนที่ไปบนด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว 367.25 เมตร โดยมีแผนที่จะเคลื่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้เพื่อเดินหน้าโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

ทั้งนี้ ยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ซึ่งถูกยิงขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2018 ได้ทำการลงจอดอย่างนุ่มนวลบนปากปล่องภูเขาไฟฟอน คาร์เมน (Von Karman Crater) บริเวณแอ่งขั้วใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) บนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2019

เนื่องจาก 1 วันและ 1 คืนบนดวงจันทร์ เท่ากับ 14 วัน และ 14 คืนบนโลก ภารกิจฉางเอ๋อ-4 จึงสลับไปใช้โหมดหยุดเคลื่อนที่ในช่วงกลางคืน เนื่องจากไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์

อนึ่ง ปรากฏการณ์ไทดัล ล็อก (tidal locking effect) ทำให้ความเร็วในการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์เท่ากับความเร็วที่โลกหมุนรอบตัวเอง และทำให้ดวงจันทร์หันเข้าหาโลกเพียงด้านเดียวเสมอ

ทั้งนี้ ด้านไกลของดวงจันทร์มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ และบรรดานักวิทยาศาสตร์หวังว่าฉางเอ๋อ-4 จะประสบความสำเร็จในการค้นพบความก้าวหน้าใหม่ๆ

ภารกิจทางวิทยาศาสตร์ของการสำรวจฉางเอ๋อ-4 รวมไปถึงการสำรวจดาราศาสตร์วิทยุในช่วงความถี่ต่ำ ภูมิประเทศและธรณีสัณฐาน องค์ประกอบแร่ธาตุและโครงสร้างพื้นผิวดวงจันทร์ระดับตื้น ตลอดจนการวัดรังสีนิวตรอนและอะตอมที่เป็นกลางทางไฟฟ้า

ภารกิจฉางเอ๋อ-4 สะท้อนให้เห็นความหวังของจีนในการรวบรวมความรู้ต่างๆ ด้านการสำรวจอวกาศ ด้วยยานสำรวจ 4 ลำ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน และซาอุดีอาระเบีย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0