โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไหว้พระส่งท้ายปีเก่า ย่านคลองบางกอกน้อย

Rabbit Today

อัพเดต 14 พ.ย. 2562 เวลา 08.49 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 08.49 น. • Rabbit Today
ไหว้พระส่งท้ายปีเก่า ย่านคลองบางกอกน้อย

KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) พาเราทัวร์บุญย้อนกาลเวลาในย่านคลองบางกอกน้อย - คลองอ้อมนนท์ - เมืองนนทบุรี เพื่อไปไหว้พระและชมสถานที่สำคัญริมสายน้ำ ตามรอยเส้นทางนิราศของสุนทรภู่ ในบทกลอน นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม

สุนทรภู่ได้เรียงร้อยเรื่องราวการเดินทางไว้ ตั้งแต่เมื่อครั้งยังใช้ชีวิตในถิ่นฐานย่านวังหลัง บอกเล่าที่มาของชื่อแต่ละย่าน เรื่องราววัดวาอาราม และแหล่งภูมิปัญญางานช่างฝีมือ 

โดยมีอาจารย์ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรตลอดทริป

เป็นโอกาสดีในการส่งท้ายปีเก่าแบบอิ่มบุญ อิ่มใจ ที่เราอยากให้ทุกคนตามไปเก็บแต้มกันให้ได้ เพราะใกล้แค่นี้เอง

1. วัดดุสิดารามวรวิหาร

"…ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา….." --- นิราศภูเขาทอง **

วัดดุสิดารามวรวิหาร
วัดดุสิดารามวรวิหาร

เดิมชื่อวัดเสาประโคน ซึ่งหมายถึงเสาที่ใช้ปักหลักเขตแดนของบ้านเมือง และที่นี่เคยมีเสาประโคนปักอยู่บริเวณใกล้ๆ กับพระอุโบสถ เสาหิน ในที่นี้คือด่านขนอน เป็นที่เก็บภาษี วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ในการกำหนดเขตเมือง ซึ่งเป็นการกำหนดในช่วงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้พื้นที่นี้เป็นเขตเมือง ล้อมรอบเมืองอยู่ ธนบุรีจะกินพื้นที่ไปถึงถนนอรุณอมรินทร์ ฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตั้งแต่บางลำพู ไปสิ้นสุดที่คลองโอ่งอ่าง 

เนื่องจากวัดนี้เป็นพระอารามหลวง พระราชธิดาของรัชกาลที่ 1 กรมหลวงศรีสุนทรเทพ (เจ้าฟ้าแจ่ม) เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 พระองค์ที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณะวัด 

วัดดุสิดารามวรวิหาร
วัดดุสิดารามวรวิหาร

วัดนี้เดิมทีมีวัดติดกัน 3 วัด แต่ปัจจุบันรวมอยู่ในวัดดุสิดารามแห่งนี้อย่างสมบูรภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสร้างสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยอยุธยา นั่นคือ ซุ้มเสมา ปกติเสมาสมัยสุโขทัยและอยุธยานั้น จะตั้งโดดๆ แบบเอาต์ดอร์ จึงทำให้แผ่นศิลาใบเสมาที่ทำจากหินทราย สึกกร่อนง่ายจากแดดและฝน จึงทำเป็นซุ้มครอบเพื่อยืดอายุให้คงทนขึ้น เรียกว่า กูบช้าง หรือหน้านาง เช่นเดียวกับในระยะแรกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามก็ทำเช่นเดียวกัน แต่ได้มีการมาบูรณะใหม่ในรัชกาลที่ 3 วัดสระเกศก็เป็นเหมือนวัดนี้ อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 1 เดินเข้ามาเห็นซุ้มเสมาปุ๊บก็บอกได้เลยว่าเป็นศิลปะสมัยรัชกาลไหน เพราะอยุธยาไม่มี 

วัดดุสิดารามวรวิหาร
วัดดุสิดารามวรวิหาร

วัดแห่งนี้ได้รับการบูณณะอีกครั้งโดยวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์ที่ 7 ของรัชกาลที่ 1 

หน้าบันที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น คือเป็นเทวดาถือพระขรรค์ ซึ่งมีความงดงามและสื่อถึงความเป็นสมมุติเทพ  

2. ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา

“…ยลย่านบ้านบุตั้ง ตีขัน ขุกคิดเคยชมจันทร์แจ่มฟ้า …"--- นิราศสุพรรณ**

ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา

เสียงตุ้บตั้บๆ ที่ได้ยินเมื่อมาถึงชุมชนบ้านบุ คือเสียงตีโลหะให้ขึ้นรูป (การบุ) อันเป็นเสียงคุ้นหูของชุมชนเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อย เพื่อทำ ‘ขันลงหิน’ ซึ่งได้รับการสืบทอดวิชาหัตถกรรมโบราณจากบรรพบุรุษ ที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว 

เครื่องทองลงหินหรือทองสำริดขัดเงา เป็นเครื่องใช้โบราณที่มีเอกลักษณ์ของความเงางาม และมีเสียงก้องกังวานกว่าเครื่องทองเหลือง (ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี) มีราคาสูง แต่เดิมจึงนิยมในกลุ่มเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูง 

ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา

ขันลงหินมีค่าสูง จนเคยเป็นรางวัล ‘ขันน้ำพานรอง’ ในการประกวดนางงามในอดีตมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้ทำเป็นภาชนะที่มีประโยชน์ใช้สอยรูปทรงต่างๆ มากมาย เช่น ขันใส่ข้าว ขันตักบาตร จานแบน โถสลัด ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่า เมื่อใส่น้ำ น้ำจะเย็น และถ้าใส่ข้าวก็จะบูดช้า เพราะมีการรักษาอุณหภูมิในเนื้อโลหะ 

ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา

ด้วยขั้นตอนแบบโบราณ ตั้งแต่การหลอมทองแดง+ดีบุกร้อยเปอร์เซ็นต์ และเศษขันลงหินเก่าเข้าด้วยกันในเบ้าหลอมที่ทำด้วยดินเผา แล้วแหวกถ่านให้เป็นแอ่งในเตาเพื่อวางเบ้าลงไป เทโลหะผสมที่ได้ลงบน ‘ดินงัน’ นำ ‘ก้อนทอง’ มาเผา ระหว่างเผาก็ต้องมีกระบอกสูบลม ปั๊มลมเข้าไปในเตา เพื่อเร่งไฟให้แรงจนเกิดความร้อนสูง 

ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา

เมื่อได้ที่ก็ต้องหมั่นแล้วตีสลับกันเป็นจังหวะ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนได้รูปร่างตามความต้องการ (เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด) จากนั้นนำมาแต่งรูปทรงบนไม้กลาง ย้ำเนื้อโลหะให้แน่นและเรียบสนิทด้วยการ ‘ลาย’ บนกะล่อนกลึงผิวนอก ซึ่งมีเขม่าจับบนแกน ‘ภมร’ แล้วกรอขอบปากภาชนะให้เรียบเสมอกัน ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า ‘ขึ้นตะไบ’ จบด้วยการขัดเงา ซึ่งในยุคโบราณใช้ผงหินในการขัด อันเป็นที่มาของคำว่า ‘ลงหิน’ ซึ่งเป็นงานที่ ‘หิน’ มากด้วยเช่นกัน เพราะช่างที่ทำจะต้องมีความอดทนสูงมาก จึงทำให้ทุกวันนี้เหลือจำนวนช่างในการทำทุกขั้นตอนรวม 8 คนเท่านั้น  

ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา
ชุมชนบ้านบุ และโรงงานขันหินเจียม แสงสัจจา

ขันลงหิน เคยได้รับรางวัลประเภทศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก เขตบางกอกน้อย ระดับ 5 ดาว เมื่อปี พ.ศ.2546 เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ย้ำชัดถึงเอกลักษณ์แต่ละใบที่มีไม่ซ้ำกัน และบอกเล่าได้ถึงภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบัน คุณเมตตา เสลานนท์ ซึ่งเป็นลูกสาวคนที่ 2 ของคุณเจียม แสงสัจจา เป็นผู้ดูแลโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ซึ่งเป็นบ้านสุดท้ายในประเทศไทย ที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญานี้ และเป็นผู้ครอบครองขันลงหินขนาด 12 นิ้ว ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ราคา 200,000 บาท ขนาด 3 นิ้ว 1,000 บาท แต่ถ้ามีการแกะลวดลาย (ซึ่งต้องจ้างช่างแกะลายที่ฉะเชิงเทรา) จะมีราคา 1,200 บาท 

สำหรับการดูแลรักษาเครื่องทองลงหินนั้น ต้องหมั่นเช็ดด้วยผ้านุ่มแห้ง ถ้ามีรอยเปื้อนให้ล้างด้วยน้ำยาล้างจานธรรมดา แล้วเช็ดให้แห้ง หากเกิดคราบสามารถขัดออกได้ด้วยน้ำยาขัดโลหะ แต่สำหรับบริเวณพื้นผิวสีดำ ห้ามใช้น้ำยาขัดโลหะ 

พิกัด: 133 จรัลสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 โทร. 0-2424-1689, 08-5956-4653 

3. วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)

“วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน   ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย   เดินระวางระวังเวียน หว่างวัดปะขาวเอย   เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย  สวาทห้อง กลางสวน” --- นิราศสุพรรณ**

วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)
วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)

สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1 ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ครั้นเวลาล่วงมาน้ำเซาะตลิ่งพังจนถึงหน้าพระอุโบสถ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถใหม่แทน ที่นี่เป็นสำนักเรียนของสุนทรภู่

ถ้าใครจำฉากหนึ่งในละครบุพเพสันนิวาสได้ว่า คนที่เป็นที่ปรึกษาของโกษาปาน คือชีปะขาว (หรือชีผ้าขาว) หรือผู้ปฏิบัติธรรมถือศีลผู้ชาย แต่ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่าชีเฉยๆ 

วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)
วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)

จากบันทึกของโกษาปาน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางไปฝรั่งเศสด้วย แต่เมื่อกลับมาก็สิ้นแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์ เข้าสู่รัชกาลของพระเพทราชา ท่านชีปะขาวจึงอยากปลีกวิเวกจากทางโลก โกษาปานจึงให้เรือไปส่งท่านชีปะขาวล่องไปยังที่ที่อยากไปตามคลองบางกอกน้อย ซึ่งสมัยนั้นเป็นสวนทั้งหมด แล้วเห็นว่าพื้นทีที่เป็นวัดในปัจจุบั

นั้นเป็นสวนต้นไม้ที่มีความสงบ จึงขอขึ้นฝั่งที่บริเวณนี้ แล้วหายตัวไป

โกษาปานได้ทราบเรื่อง จึงเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดชีปะขาว มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้เป็นวัดโบราณ เมื่อเข้าสู่สมัยธนบุรีก็ไม่ได้มีการบูรณะอะไรทั้งสิ้น ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่าวัดแห่งนี้ทรุดโทรมมาก จึงได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดศรีสุดาราม และยกฐานะเป็นพระอารามหลวง มานับแต่นั้น

วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)
วัดศรีสุดารามวรวิหาร (วัดชีปะขาว)

ครั้นเวลาล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 4 น้ำได้กัดเซาะตลิ่งจนพังถึงหน้าพระอุโบสถเดิม รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทน และประดิษฐานพระพุทธรูปปางปลงสังขาร ไม่มีเนื้อนูนของกระหม่อม ซึ่งมีเพียงองค์เดียวเท่านั้น และโบสถ์หลังเดิมก็เปลี่ยนเป็นพระวิหาร

วัดนี่คือสถานที่เรียนหนังสือของสุนทรภู่ ในช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1 และมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่ทางวัดได้สร้างขึ้นไว้ริมคลองบางกอกน้อยอันแสนสงบ และมีรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์โตองค์มหึมา ให้ผู้ศรัทธาได้กราบขอพร

4. วัดบางอ้อยช้าง และพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง

“บางอ้อยช้างโอ้ช้างที่ร้างโขลง มาอยู่โรงรักป่าน้ำตาไหล พี่คลาดแคล้วแก้วตาให้อาลัย เหมือนอกไอยราร้างฝูงนางพังฯ” --- นิราศพระประธม**

วัดบางอ้อยช้าง
วัดบางอ้อยช้าง

ผู้ใหญ่บ้านชื่อดำ ผู้เป็นหนึ่งใน 30 ตระกูลไพร่เก่าแก่ของย่านนี้ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมบริเวณนี้เรียกว่าบางอ้อช้าง ซึ่งเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง ที่ช้างกินใบ เปลือก ราก เป็นอาหาร โดยส่วนเปลือกของต้นที่มีอายุมากจะลอกออกมาแล้วตีแผ่ให้เป็นแผ่น ใช้รองหลังช้างศึก ยางที่อยู่ในเปลือกไม้จะช่วยลดการเสียดสีระหว่างกูบช้างกับผิวหนังช้าง หรือหากเกิดการบาดเจ็บขึ้น เปลือกต้นอ้อช้างก็มีสรรพคุณในการสมานแผลได้

แต่ภายหลังได้กลายมาเป็นชื่อบางอ้อยช้างไป   

วัดบางอ้อยช้าง
วัดบางอ้อยช้าง

อุโบสถของวัดในปัจจุบันเป็นหลังใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2493 เพราะหลังเก่ามีความทรุดโทรมมาก และเมื่อประมาณปี พ.ศ.2495 จึงทำการย้ายพระประธานจากอุโบสถหลังเก่ามาประดิษฐาน แต่ไม่ได้หันหน้าพระประธานไปทางคลองเหมือนวัดดุสิดารามและวัดศรีสุดาราม เนื่องจากเส้นทางการคมนาคมหลักในช่วงย้ายพระประธานมาประดิษฐานคือถนนไปแล้ว

วัดแห่งนี้คือสถานที่พักของกองทัพทหารที่ช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินทำศึกสงครามในอดีต จึงมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้คนทั่วไปได้มากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลที่นี่ด้วย และเป็นวัดที่ได้รับกฐินพระราชทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

วัดบางอ้อยช้าง
วัดบางอ้อยช้าง

ภายในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัย ซึ่งเขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2549 ด้วยสีอะครีลิกโทนร้อนอันวิจิตรสวยงาม บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและประวัติศาสตร์ของชุมชนไว้

พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง
พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง

สำหรับพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้างที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้น เป็นสถานที่เก็บตาลปัตรเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 5, สมุดข่อย, ใบลาน จำนวนมาก และเก็บรักษาตู้ลายรดน้ำไว้มากที่สุดในประเทศ มีลวดลายที่หาดูได้ยากมาก โดยเฉพาะตู้ลายรดน้ำที่มีลวดลายของคิวปิด หรือเทพเจ้าแห่งความรัก ซึ่งรับรองว่าไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 09.00-13.00 น. โทร. 0-2447-5124, 08-1268-1723

5. วัดชลอ ชมโบสถ์เรือสุพรรณหงส์ ใหญ่ที่สุดในโลก

“วัดชลอใครหนอชะลอฉลาด เอาอาวาสมาไว้อาศัยสงฆ์ ช่วยชลอวรรักษาว่าพี่รักทรง ให้มาลงเรือร่วมพรมที่นอน” --- นิราศพระประธม**

วัดชลอ
วัดชลอ

จากข้อมูลของกรมการศาสนา ระบุไว้ว่า ใน จ.นนทบุรี มีวัดทั้งสิ้น 180 แห่ง และเกินกว่าครึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และวัดชลอแห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเช่นกัน ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ที่มาของชื่อวัดมาจากการเกิดทางแยกทางน้ำที่เรียกว่า แพรก (ทางแยกทางบกเรียกว่า แพร่ง) ทำให้มีกระแสน้ำไหลแรงและมีน้ำวน การเดินทางทางเรือมาถึงจุดนี้จึงต้องชะลอความเร็วเรือลงเพื่อความปลอดภัย 

วัดชลอ
วัดชลอ

โบสถ์หลังเก่าของวัดชลอ มีฐานอุโบสถแอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภา ลักษณะนี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นถึงความเก่าแก่ได้ว่า ยิ่งท้องเรือโค้งมาก งอนมาก สั้น ทึบ ตันมาก ก็ยิ่งเก่าแก่มาก วัดแห่งนี้มีใบเสมาสลักจากหินทราย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของวัดในสมัยอยุธยา แต่ที่นี่มีซุ้มเสมาครอบ ก็ชี้ให้เห็นว่ามีการซ่อมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และการมีเสาทึบตันไม่มีลวดลายก็เป็นข้อบ่งชี้ถึงลักษณะทางสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3

พระประธานในโบสถ์หลังเดิมเป็นปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา องค์พระมีเนื้อนูนกระหม่อมค่อนข้างใหญ่ พระขนงปีกนก กรอบพระนลาฏเป็นเส้น พระนาสิกโด่ง ซึ่งนิยมมากในสมัยอยุธยา

วัดชลอ
วัดชลอ

ปัจจุบันทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ มีลักษณะเป็นเรือสุพรรณหงส์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกสุดอะเมซิ่ง แต่สร้างมา 40 ปีแล้วยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในพระอุโบสถหลังใหม่นี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ และหลวงพ่อมงคลแสนสุข ให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการะขอพร

และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าประจำใจอีกแห่งใน จ.นนทบุรี ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอลังการ และศิลปะชั้นเลิศของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันเป็นส่วนสำคัญของพระราชพิธีเบื้องปลาย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ที่พสกนิกรต่างเฝ้ารอชม ในวันที่ 12 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ 

คลองบางกอกน้อย - คลองอ้อมนนท์ - เมืองนนทบุรี
คลองบางกอกน้อย - คลองอ้อมนนท์ - เมืองนนทบุรี

ปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป และปีใหม่กำลังเข้ามาแทนที่ในอีกไม่นาน การได้เข้าวัดวาอารามเพื่อไหว้พระขอพร และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนเหล่านี้ ย่อมช่วยทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่ม กลับนิ่งสงบด้วยความชิลล์ของบรรยากาศวัด ว่างเมื่อไหร่ควรหาโอกาสไปเก็บแต้มบุญกันนะจ๊ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0