โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไสช้างชน! ‘ฝ่ายค้าน’ท้า‘บิ๊กตู่’ประกันแข่งผลงานการเมือง ปรับทีมศก.รัฐบาล

แนวหน้า

เผยแพร่ 04 ก.ค. 2563 เวลา 01.20 น.

ประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณางบฯ64นัดแรก 8ก.ค.นี้ ด้าน ‘ฝ่ายค้าน’ ท้า ‘บิ๊กตู่’ สร้างผลงานทำประกันการเมือง อย่าชิงยุบสภา จี้ปรับหัวหน้าทีมศก.รัฐบาล 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563  วานนี้ช่วงค่ำคืนที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวสรุปการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564  เมื่อวันที่3ก.ค.ว่า การจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้อยู่บนความหวังของประชาชน เพราะประชาชนมีความทุกข์ พวกเขาจึงรอความหวัง วันนี้เป็นทราบกันดีว่าเม็ดเงินรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมกับชุบชีวิตประเทศนั้น มีเงินอยู่ก้อนเดียวคืองบประมาณแผ่นดิน เดิมเราเคยมีเงินที่มาจากต่างประเทศคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ วงเงินงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จึงทำเป็นเล่นไม่ได้ ดังนั้นต้องทำความเข้าใจกับนายกรัฐมนตรีว่าเราอยู่บนความกดดัน และเห็นความทุกข์ยากของประชาชน ทั้งนี้ตนสังเกตว่านายกรัฐมนตรีมีพัฒนาทางอารมณ์ดีขึ้นมาก แต่พัฒนาทางสติปัญญานั้น ตนไม่แน่ใจ เพราะนายกฯถูกหลอกโดยข้าราชการ รัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล หลอกคำโต และทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหาย 

นายสุทิน กล่าวอีกว่า  เมื่อเข้าปี 2564 ที่มีการจัดงบประมาณตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เราจะเจอประยุทธภัยที่คนไทยต้องเผชิญ คือหนี้ 5 ประเภท ได้แก่ 1.หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี  2.หนี้ครัวเรือนเพิ่ม 80 เปอร์เซ็นต์  3.หนี้ภาคธุรกิจ ธุรกิจเจ๊งและล้มละลายมากขึ้น  4.หนี้เสียในระบบการเงินเพิ่มขึ้น  5.หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น  และตนเชื่อว่าหนี้สาธารณะของไทยจะพุ่งขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ในเร็วๆนี้ และกลางปีนี้เราจะได้เห็นรัฐบาลมาออกพ.ร.บ.กู้เงินอีก เพราะรัฐบาลมีเงินรายได้ไม่เพียงพอ  อีกทั้งจากนี้ไปไม่ถึง 6 เดือน จะมีการกู้หนี้เพิ่ม และไม่เกิน 1 ปี สภานี้จะได้เห็นว่ารัฐบาลจะมาขอแก้พ.ร.บ.ระเบียบวินัยการเงินการคลัง เพื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ คณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อเดือน ธ.ค.2562 แต่โรคโควิด-19 เข้ามาตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 และยังใช้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับดังกล่าวมาโดยแค่มีการโยกเงิน 40,000 ล้านบาท คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม แต่หวังจะสร้างผลลัพธ์ใหม่ ซึ่งถือว่าป่วยการ ดังนั้น วันนี้พวกเราอาจจะไม่รับร่างพ.ร.บ.นี้ เพราะอยากให้รัฐบาปรับแก้ร่างพ.ร.บ.นี้ในวาระ 2 ซึ่งพวกเราจะให้กำลังใจ และเราจะรอดูเมื่อเข้าสู่วาระ 3 ถ้าแก้แล้ว เราจะให้ผ่าน  แต่ถ้าเราเห็นปัญหาชัดขนาดนี้แล้วยังให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบ ตนคิดว่าเรากำลังต้มประชาชน ซึ่งพวกตนทำไม่ได้  

นายสุทิน กล่าวว่า  นอกจากนี้ เราอยากให้ปรับครม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมเศรษฐกิจที่อยู่มา 6 ปีแล้ว ยิ่งทำให้ประเทศต่ำลงจนถึงก้นเหว ต้องปรับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก การที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าควรจะยุบสภาเพื่อแก้เศรษฐกิจนั้น ตนขอถามว่าสภาผิดอะไร ทั้งที่ไม่เกี่ยวด้วยเลย จึงต้องปรับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และตนจะชวนนายกฯเข้าสู่การเมืองแบบใหม่ วันนี้ต้องเข้าสู่ระบบประกันการเมือง ขอชวนให้นายกฯเอาผลงานมาเป็นประกันด้วยการประกาศว่าถ้าจีดีพีโตไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มไปถึง 60-65 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าหนี้ครัวเรือนไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์เมื่อใด ท่านจะลาออก จะทำให้ประชาชนดีใจ เพราะนายกฯทำให้ประชาชนเริ่มมีความหวัง และคนทั้งโลกจะเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีเป้าหมายแล้ว พล.อ.ประยุทธ์เอาจริง และประกันด้วยผลงาน ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นทันที ถ้าท่านทำแบบนี้ได้ พวกเราจะยกมือให้ท่าน เพราะนายกฯประกันด้วยผลงาน เป็นการประกันคุณภาพทางการเมือง  

ต่อมา ที่ประชุมได้มีการลงมติ มีส.ส.ร่วมลงมติ 476 เสียง ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านความเห็นชอบในวาระแรก ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 273 เสียง ไม่เห็นด้วย 200 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ก่อนจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ จำนวน 72 คน 

ทั้งนี้ปรากฏว่ามีชื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเป็นกมธ.ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 30 วัน 

จากนั้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ แจ้งว่า กมธ.วิสามัญดังกล่าวจะประชุมนัดแรก จะมีขึ้นในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ต่อมาเวลา 23.43 น. ประธานสภาสั่งปิดการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ วาระแรก ตลอด 3 วัน ราว 47 ชั่วโมง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0