โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไวรัสโคโรนา : “หมอลักษณ์ฟันธง” ชี้รัฐบาลสร้าง “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ในโควิด-19 กับการอาสาเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ของคนไทย

Khaosod

อัพเดต 01 เม.ย. 2563 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 01 เม.ย. 2563 เวลา 04.29 น.
_111494196_92081711_211546653503879_5907405448935374848_n.jpg

ไวรัสโคโรนา : “หมอลักษณ์ฟันธง” ชี้รัฐบาลสร้าง “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ในโควิด-19 กับการอาสาเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ของคนไทย - BBCไทย

"เราติดหรือยัง" และ "มันจะจบเมื่อไร" คือคำถามแห่งปี หลังโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19

ไวรัสมรณะไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คน แต่ยังทำลายสุขภาพจิตท่ามกลางภาวะไม่แน่นอน-ไม่อาจคาดเดา จึงไม่แปลกหากคนไทยบางส่วนจะแสวงหา "ที่พึ่งทางใจ"

"ประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่นทั่วโลกที่เวลาคนมีปัญหาก็ไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ของไทยใครไปก็จะถูกหาว่าเป็นคนบ้า ดังนั้นคนที่เป็นที่พึ่งที่ยอมรับจึงเหลือหมอดูกับพระ แต่วันนี้ก็ห้ามไปวัดแล้ว จึงเหลือหนทางเดียวคือหมอดู" ลักษณ์ ราชสีห์ หรือที่รู้จักในชื่อ "หมอลักษณ์ฟันธง" กล่าวกับบีบีซีไทย

ไวรัสโคโรนา : “หมอลักษณ์ฟันธง”
ไวรัสโคโรนา : “หมอลักษณ์ฟันธง”

โหรฟันธง ลักษณ์ เรขานิเทศ/FACEBOOK
คำบรรยายภาพ
ลักษณ์ ราชสีห์ ถูกมองว่าเป็น "ผู้ปฏิวัติ" วงการโหราศาสตร์ไทยหลังสิ้นสุดยุค "หมอดูใต้ต้นมะขาม" และ "หมอดูห้าง" โดยเขาได้บุกเบิกทำธุรกิจ "หมอดูคอลเซ็นเตอร์" ในยุค 2 จี ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเพื่อตอบสนองความเป็นจริงทางธุรกิจ มีรายได้หมุนเวียนถึงเดือนละ 20-30 ล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยชื่นชอบการดูหมอซึ่งมีอยู่หลากหลายสาขา หนึ่งในนั้นคือการพยากรณ์ด้วยวิชาโหราศาสตร์ โดยหมอลักษณ์ วัย 49 ปี เป็นเจ้าของสำนักหนึ่งที่ได้รับความนิยม สามารถยึดผังรายการดูหมอทางฟรีทีวีมาเกือบ 20 ปีนับจากทศวรรษ 2540 และยังมีผู้ติดตามแฟนเพจทางเฟซบุ๊กกว่า 2.8 ล้านคน

ในวันแรกของการประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" ทั้งประเทศตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พร้อมมีคำรณรงค์อย่างหนักให้คนไทยร่วมกัน "เว้นระยะห่างทางสังคม" เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 หมอลักษณ์ผุดโครงการ "ดูดวง คลายทุกข์ สู้โควิด ให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน" เมื่อ 26 มี.ค สนนค่าตรวจดวงชะตาไว้ที่ 99 บาท

คณะศิษย์ฝึกหัดของสถาบันพยากรณ์ศาสตร์จำนวน 60 คนที่อยู่ในรุ่น "ฉัตรมงคล" ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็น "หมอดูโซเชียล" วันละ 12 ชม. แบ่งเป็น 3 รอบ

หมอลักษณ์ฟันธง ยอดคนป่วยใจสูงกว่ายอดคนตายเพราะโควิด-19

คำถามคือการดูหมอช่วยคลายทุกข์ได้อย่างไร

เจ้าสำนักฟันธงอธิบายว่า ความทุกข์ของคนเราเกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไม่รู้อนาคต อะไรที่จะบอกได้ก็คือความเป็นจริง แต่ขณะนี้มีข่าวปลอม (เฟคนิวส์) มีความไม่แน่นอนในนโยบายแห่งรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ จนคนกลัว ตกใจ เครียดสารพัดทั้งตกงาน ขาดรายได้ หรือกลัวว่าตัวเองจะได้รับเชื้อ

"ผมเชื่อว่าหลังจากนี้ คนที่ตายเพราะโควิด-19 อาจไม่เท่าการฆ่าตัวตาย ป่วยใจ ซึมเศร้า ซึ่งทางราชการก็ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง" หมอลักษณ์กล่าว

สิ่งที่นักพยากรณ์ทำได้นอกเหนือจากการตรวจดูดวงชะตาให้คนดู/ลูกค้า คือการรับฟังและสร้างความสบายใจว่า "มีคนแปลกหน้าที่ไว้ใจได้ว่ามีวิชาความรู้ที่จะช่วยให้เขาได้รับโอกาสบางอย่าง"

ชี้ไทยเจอ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" จากโควิด-นโยบายรัฐ

หมอลักษณ์เริ่มต้นอาชีพนักพยากรณ์ไม่ถึงปี ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 จากนั้นได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และวิกฤตการเมืองอีกหลายระลอก นั่นทำให้นักพยากรณ์วัย 49 ปีพบว่าวิกฤตโควิด-19 ไม่เหมือนวิกฤตครั้งไหน ๆ ที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา เพราะหนักหนาสาหัสที่สุด เกิดขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองกำลังปรับเปลี่ยน และกระทบกับทุกคนทั้งประเทศอย่างไม่มีข้อยกเว้น

หมอลักษณ์ ผู้เป็นบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์ ชี้ว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก "วิกฤตซ้อนวิกฤต" ซึ่งวิกฤตแรกเกิดจากโควิด-19 อีกวิกฤตเกิดจากนโยบายของรัฐต่อเรื่องการปิด-ไม่ปิดประเทศในช่วงแรกที่พบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ประเทศจีน, ปัญหาหน้ากากหาย-หน้ากากแพง, ปัญหาไข่แพง จนเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดประชาชน

THAI NEWS PIXพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าของวาทะ "ประเทศไทยต้องชนะ" ระหว่างออกทีวีพูลชี้แจงสถานการณ์โควิด-19 ครั้งแรก

"ถามว่าทำไมคนไทยถึงอยากด่าท่าน เขาไม่ได้เกลียดนายกฯ หรือรัฐมนตรีนะครับ แต่เกลียดว่าทำไมท่านไม่เด็ดขาดในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ปล่อยมาจนบานปลาย การจัดการปัญหาทำเหมือนลูบหน้าปะจมูก บางเรื่องเร่งด่วน แต่ถูกเอาไปหาผลประโยชน์ จนภัยเกิดกับประชาชน ไม่สามารถเชื่อมั่นอะไรได้เลยเรื่องความปลอดภัยในชีวิต นอกจากถูกสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้" โหรฟันธงกล่าว

สำหรับคำพยากรณ์วิกฤตโควิด-19 ของหมอลักษณ์ โดยตรวจสอบจากดวงเมืองซึ่งตรงกับดวงโลก พบว่า ดาวมฤตยูได้โคจรทับโลกจนถึงปี 2565 ปรากฏการณ์เช่นนี้ 84 ปีถึงเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ในภาพใหญ่ มฤตยูทับโลกหมายถึงความตาย/โรคระบาด/ภัยพิบัติ ระหว่างวันที่ 22 ก.พ 2562-10 ก.ย. 2563 ส่วนในภาพย่อย ดาวหมอโคจรยึกยัก เดินหน้าแล้วถอยหลัง ก่อนมีจังหวะโคจรเดินหน้าอีกครั้งในเดือน ก.ค. 2563 ซึ่งหมายถึงโลกจะสงบสุข หรือสามารถคิดค้นยารักษาโรคได้ จึงทำนายไว้ว่า

  • สถานการณ์จะสิ้นสุดลงเดือน มิ.ย.-ก.ค.
  • สถานการณ์เริ่มพลิกฟื้นเดือน พ.ย.-ธ.ค.

หมายเหตุ : เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล การระบุถึงดาวมฤตยูทับโลกสอดคล้องกับคำทำนายของหมอดูดังรายอื่น ๆ อาทิ โสรัจจะ นวลอยู่

อาชีพใดขอพึ่งหมอดูบ้าง

ภายใต้ "กฎดูดวง" ที่ "สำนักฟันธง" สร้างขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 คนดู/ลูกค้ามีเวลา 20 นาทีในการถามคำถามนักพยากรณ์ ซึ่งนอกจากคำถามสูตรว่าด้วยสถานการณ์โดยรวม, การงาน/การเรียน, การเงิน/โชคลาภ และความรัก ความกังวลใจที่ระบายผ่านคำถามมักเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตโรคระบาด

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากนักพยากรณ์ที่ใช้ชื่อว่า "อาจารย์นอร์ท" และ "อาจารย์อณิกา" พบว่า มีบุคคลหลากหลายแวดวงแวะเวียนมาให้พ่อหมอ-แม่หมอช่วยตรวจดวงชะตา อาทิ

  • พนักงานรัฐวิสาหกิจหญิง ถูกพักงานและไม่ได้รับเงินเดือน จึงมาถามหาโอกาสใหม่ ๆ ในระหว่างวางแผนสมัครสอบเข้าทำงานที่ใหม่
  • หญิงเจ้าของกิจการขายรองเท้าภายในห้างสรรพสินค้าที่ปิดตัวลงชั่วคราวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กังวลว่าจะหาเงินมาส่งเสียลูกเรียนหนังสือและใช้หนี้ก้อนโตที่คงค้างอยู่ได้หรือไม่
  • แรงงานชายไทยในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว ตั้งคำถามว่าจะหายจากอาการปวดแขนที่เป็นมา 5 เดือนหรือไม่ "ผมไปหาหมอแผนปัจจุบันและแผนโบราณทั้งที่ไทยและเกาหลี ก็ไม่หาย จึงหวังพึ่งดวงแล้วว่าจะหายเองไหม"
  • เจ้าของโรงงานส่งออกสินค้าไปจีนขาดรายได้มาหลายเดือนนับจากโควิด-19 แต่ยังต้องแบกรับภาระเยียวยาลูกจ้างในโรงงาน สงสัยว่าธุรกิจที่สร้างมาจะถึงคราวล้มละลายหรือไม่
  • หญิงเจ้าของร้านอาหารจำต้องปิดการขายหน้าร้าน แต่ยังต้องจ่ายเงินค่าเช่าเต็มอัตรา จึงเกิดคำถามว่า "ต่อให้ดวงหนูดี แต่ถ้าโควิดไม่จบ ธุรกิจจะไปต่อได้จริง ๆ หรือ"

กฎการทำนาย "ทายร้ายให้เป็นดี"

ธนกฤต เมฆเมธิณสุรกุล หรือ "อาจารย์นอร์ท" ยอมรับว่า ปฏิกิริยาของผู้คนที่เข้าหานักพยากรณ์ในช่วงนี้แตกต่างจากช่วงปกติโดยสิ้นเชิง สะท้อนผ่านน้ำเสียงหดหู่สิ้นหวัง และการตั้งคำถามวกไปวนมา จนสัมผัสได้ถึงความตื่นตระหนกและตื่นกลัวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จึงมาขอรับคำพยากรณ์ว่าควรวางแผนชีวิตอย่างไร

ในฐานะที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาก่อน ศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตามสมควร และสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่สม่ำเสมอ ทำให้นอร์ทมีทั้งชุดข้อมูล-ลีลาปลอบประโลมลูกค้าที่กำลังจิตตก เริ่มต้นด้วยการพูดให้คนเหล่านั้นเข้าใจสัจธรรมชีวิตว่าไม่เฉพาะตัวเราหรือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จากนั้นดึงสติ-สมาธิ-ปัญญา กลับมาเพื่อให้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่รายล้อมรอบตัวได้ และสร้างกำลังใจให้ตัวเอง

"การตรวจดวงชะตา ก็เพื่อให้เขาไปวางแผนชีวิตได้ว่าควรเริ่มตอนไหน เริ่มจากอะไร ส่วนจะเริ่มอย่างไร เขาย่อมรู้ดีกว่าเพราะมีประสบการณ์มากกว่าเรา" หมอนอร์ทระบุ

ไม่ว่าหมอดูจะตรวจดวงชะตาพบแง่ลบจากดวงดาวอย่างไร "กฎการทำนาย" ของศิษย์สำนักอาจารย์ลักษณ์คือ "ห้ามทายร้าย" หรือ "ทายร้ายให้เป็นดี" และเน้นย้ำว่า "คุณไม่ใช่คนเดียวที่โชคร้าย"

"การทายร้ายเป็นการทำลายกำลังใจของคน" อณิกา นักพยากรณ์หญิงร่วมสำนักกล่าว ก่อนยกตัวอย่างว่า ถ้าตรวจดาวจรแล้วพบว่ามีเกณฑ์เกิดอุบัติเหตุ ก็จะบอกว่าอย่าลืมตรวจสภาพรถยนต์ให้ดี แทนที่จะบอกให้ระวังรถชน หรือเมื่อนักลงทุนกำลังเจ๊ง ก็ให้ระบุช่วงเวลาที่เขามีโอกาสพลิกฟื้นกลับมา

ASTROSTRATEGISTS/FACEBOOK
หมออณิการะบุว่าเธอคือ "นักวางแผนยุทธศาสตร์ชีวิตโดยใช้ดวงดาว" ด้วยเพราะในชีวิตจริงนอกเหนือจากชั่วโมงโหราศาสตร์ เธอทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์

"นี่เป็นเทคนิคง่าย ๆ ให้คนไม่จิตตก เพราะดวงคนเราไม่มีทางตกหรือดิ่งเหวไปตลอด ถ้าเราบอกได้ว่าความทุกข์ของเขาจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ก็คือการช่วยให้เขามีกำลังใจทางอ้อมเมื่อรู้ว่ามีฟ้าหลังฝนรออยู่" แม่หมออณิกากล่าว

ส่วนหมอนอร์ทเสริมว่า การผสมผสานระหว่างสิ่งที่พบจากดวงดาวตามวิชาโหราศาสตร์กับหลักจิตวิทยา ก็เพื่อไม่ให้คนฟังหวาดกลัว ตื่นตระหนก สามารถทำให้มันเบาลง แต่ยังเป็นข้อเท็จจริง นี่คือการเตือนและเรียกสติผู้ฟัง/ลูกค้ากลับมา

ธนกฤต เมฆเมธิณสุรกุล
หมอนอร์ทนิยามบทบาทนักพยากรณ์ของตนไว้ว่าเป็น "ผู้รู้กาล" คือรู้ทั้งกาลเวลา - เวลาที่เหมาะสม และรู้กาลเทศะ - แนะนำว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร

แม้ต้องรับฟังความทุกข์ของคนอื่น แต่นักพยากรณ์ทั้ง 2 คนระบุตรงกันว่าไม่รู้สึกจิตตก เมื่อได้ช่วยผ่อนทุกข์หนักให้เบาบางลง ด้วยการเปิดหู-เปิดใจรับฟังคำระบายของคู่สนทนา

"ถามว่านักพยากรณ์เราเครียดไหม คล้อยตามไหม บางวันก็มีนะ ฟัง 10 เคส ทุกข์หมดเลย ปรับทุกข์ ๆ ๆ แต่เราก็ต้องวางลงให้ได้ การเป็นนักพยากรณ์ที่ดีคือการรับฟัง บอกวิธีปรับปรุง และวางลงทันทีหลังจบเคส ไม่ต้องเอากลับบ้าน" หมอนอร์ทกล่าว

คำถามยอดฮิตถึงหมอดู-นักจิตวิทยาในวิกฤตโควิด-19

ในสัปดาห์แรกของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คำถามที่คนดู/ลูกค้าถามบรรดาพ่อหมอ-แม่หมอตามโครงการ "ดูดวง คลายทุกข์" ของหมอลักษณ์มากที่สุดคือ "มันจะเป็นแบบนี้อีกนานไหม โรคนี้จะจบเมื่อไร" และ "โอกาสที่มีตามปกติวิถีชีวิตจบแล้ว หมดปัญญาแล้ว ตามดวง พอจะทำมาหากินอะไรได้บ้าง"

ไม่มีคำถามเรื่องเนื้อคู่แต่อย่างใด เพราะถึงถามไปก็ยังไม่อาจพบหน้า-ออกเดท-แต่งงานกันได้ในช่วง "เว้นระยะห่างทางสังคม"

ที่น่าสนใจคือ คำถามของคนที่โทรไปหา "หมอดูโซเชียล" สอดคล้องกับปัญหาคาใจของคนไทยอีกกลุ่มที่เลือกอาสาสมัครสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเป็น "ที่พึ่งทางใจ"

THAI NEWS PIX

ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์ และอุปนายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ประชาชนที่ระบายความทุกข์เข้ามามีจำนวนมากกว่าปกติ และส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับโควิด-19 ซึ่งสรุปเป็น 2 กลุ่มหลักคือ ปัญหาการงานซึ่งจากการว่างงาน, ถูกลดเงินเดือน, ต้องปรับตัวเมื่อเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน และปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คน ทั้งครอบครัวที่อยู่ด้วยกันตลอด และเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้พบกันเลย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อาสาสมัครสมาคมสะมาริตันส์ เจ้าของคำขวัญ "ทุกข์คลายที่ปลายสาย" ไม่อาจเดินทางไปรับสายที่คอลเซ็นเตอร์ได้ ต้องปรับรูปแบบเป็น "จิตอาสาที่บ้าน" เฉกเช่นผู้คนในอาชีพอื่น ๆ โดยให้ผู้มีความทุกข์บอกเล่าความในใจผ่านกล่องข้อความในเฟซบุ๊กของสมาคม หรือฝากหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้อาสาสมัครติดต่อกลับแทน

มาตรการ "เว้นระยะห่างทางสังคม" ได้ส่งผลกระทบต่อคน 2 ลักษณะแบบแตกต่างกัน ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร ชี้ว่า กลุ่มคนที่ชอบเข้าสังคม จะทุกข์หนัก ไม่สบายใจ อึดอัดกับการไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไร แต่กลุ่มคนที่ชอบเก็บตัว จะมีความสุขมากที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำงานอ่านหนังสือจากที่บ้าน

อาจารย์ด้านจิตวิทยารายนี้ยังฝากคำแนะนำถึงคนไทยให้ "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส"

  • การเสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ไม่จำเป็นต้องตามข่าวทุกนาทีเพราะจะทำให้เกิดความเครียดสะสม อีกทั้งบางข้อมูลก็ไม่เกี่ยวกับชีวิตเราโดยตรง
  • อยู่อย่างมีความหวัง ให้นึกว่าหลังวันที่ 30 เม.ย. หากเป็นไปตามประกาศของรัฐบาล ก็จะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว ซึ่งจะช่วยลดความทุกข์ใจได้ในระดับหนึ่ง
  • ในระหว่างทำงานที่บ้าน ให้ทบทวนและค้นหาศักยภาพใหม่ ๆ ของตัวเอง โดยคิดถึง "โลกหลังโควิด" ให้มากขึ้นทั้งด้านเทคโนโลยีและโอกาสใหม่ ๆ ในหน้าที่การงาน
  • ในระหว่างอยู่บ้าน ได้ใช้เวลากับครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์อันอบอุ่นกลับคืนมา

ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล ต้นเหตุคนไทยพึ่งหมอดู

ทั้งนักจิตวิทยาและนักพยากรณ์เห็นพ้องกับข้อสังเกตของบีบีซีไทยที่ว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 มีคนอยู่ 4 ประเภทอยู่ในฐานะ "ผู้สร้างความหวัง" ให้แก่เพื่อนมนุษย์

หนึ่ง บุคลากรด้านสาธารณสุข/นักวิทยาศาสตร์ ทั้งในฐานะแนวหน้าสกัดไวรัสมรณะ และผู้คิดค้นผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโรค

สอง ผู้ปกครอง ในฐานะผู้บำบัดทุกข์สุขให้ปวงประชาราษฎร์

สาม พระ/นักบวช ในฐานะผู้เตือนสติและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

สี่ นักจิตวิทยา/นักพยากรณ์ ในฐานะที่พึ่งทางใจ

ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร เห็นว่า แม้คนไทยบางส่วนค้นหาข่าวสารว่าหมอคิดค้นวัคซีนไปถึงไหนแล้ว เป็นความหวังที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ยังมีบางกลุ่มรู้สึกว่าโหราศาสตร์เป็นสิ่งเยียวยาจิตใจเขา เหมือนคนเล่นหวยทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีโอกาสเสียมากกว่าได้ แต่ก็ยังเล่น การดูหมอก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้มีความหวัง

"ถ้าได้หมอดูที่มีจิตวิทยา ตั้งใจอยากช่วยเหลือคนจริง ๆ นอกจากดูตามตำราโหราศาสตร์ ก็จะทำให้คนดู/ลูกค้าเห็นศักยภาพตัวเอง และก้าวต่อไปตามความเป็นจริง แทนที่จะหลงงมงาย" นักจิตวิทยาหญิงกล่าว

THAI NEWS PIX
แม้ออกทำงานตามปกติ แต่รายได้ของหญิงสูงวัยต้องลดลง เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้คนสัญจรไปมาในตัวเมือง

ขณะที่ ลักษณ์ ราชสีห์ เชื่อว่า กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มองหมอดูเป็นตัวเลวร้าย ตรงกันข้ามยังอยู่ในฐานะผู้ช่วย สธ. ได้ พร้อมยกประสบการณ์การดูหมอในห้วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ว่าได้รับเชิญจาก สธ. ให้เข้าร่วมอบรมด้านจิตวิทยาเพิ่มเติมเพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้แก่บรรดาพ่อหมอ-แม่หมอ เพราะเวลานั้นรัฐบาลกังวลว่าจะมีคนฆ่าตัวตายหนีวิกฤตเศรษฐกิจ

กับวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน หมอลักษณ์สะท้อนความเห็นว่า ผู้ปกครองและกลไกรัฐ "ไม่น่าเชื่อถือ" โดยย้ำว่าไม่ได้เกลียด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เข้าใจว่าการที่นายกฯ ต้องเอาพรรคต่าง ๆ มาสนับสนุนระบอบ ทำให้เมื่อถึงเวลาวิกฤต ไม่มีผู้รับผิดชอบที่มีศักยภาพ ขณะที่ส่วนราชการอย่างกรมสุขภาพจิต แม้มีคนเก่ง แต่ความเป็นราชการจะขยับทำอะไรล้ำหน้ารัฐมนตรีก็ไม่ได้ ส่วนพระสายปฏิบัติก็มีน้อย และเวลานี้ก็คำสั่งห้ามประชาชนไปวัด คนเลยมาหาหมอดูเพราะพอพึ่งได้

"ผมทำโครงการนี้ในราคาที่คนแตะต้องได้ 99 บาท ไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้คิดหาประโยชน์จากความทุกข์ของคน แต่ยอมรับมีประโยชน์ที่ซ่อนไว้คือลูกศิษย์ที่มาทำหน้าที่ในวันนี้ เขาจะเป็นที่รู้จักจดจำในวันหน้า เพราะลองคุณโทรไปเจออาจารย์เก่ง ๆ ช่วยให้ผ่านวิกฤตไปได้ แล้วคุณจะลืมเขาหรือ นี่คือผลประโยชน์ในเชิงคุณค่า" หมอลักษณ์ฟันธงทิ้งท้าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0