โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ ปรากฏการณ์ "หมวกเมฆสีรุ้ง" เกิดเหนือฟ้ากรุงเทพฯ

ไทยรัฐออนไลน์ - Social

อัพเดต 03 มิ.ย. 2563 เวลา 06.36 น. • เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 06.36 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

รู้จัก "หมวกเมฆสีรุ้ง" ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ สวยงามสดใส ล่าสุดเกิดขึ้นเหนือฟ้ากรุงเทพฯ

แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพและข้อความจาก ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ "หมวกเมฆสีรุ้ง" เมื่อเย็นวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ว่า หากใครที่อยู่แถว กทม. และได้มีโอกาสแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้า อาจจะพบปรากฏการณ์เมฆหลากสีดังภาพเหล่านี้

ปรากฏการณ์ที่เห็นนี้ เป็นปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาที่เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Iridescent Pileus Cloud" มาจากภาษาละติน แปลว่า "หมวก" เมฆหมวกเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอากาศยกตัวขึ้นในแนวดิ่ง เช่น บนยอดเขา หรืออย่างในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นจากเมฆ Cumulonimbus ลอยตัวขึ้น เมื่อมีกระแสอากาศลอยตัวขึ้นในแนวดิ่ง ชั้นอากาศที่มีความชื้นเบื้องบนจึงถูกยกตัวขึ้น และควบแน่นเป็นหยดน้ำ เกิดขึ้นเป็นเมฆที่ดูเหมือนจะ "สวม" อยู่บนเมฆอีกทีหนึ่ง

เราสามารถยืนยันได้ว่าเมฆหมวกเหล่านี้อยู่สูงกว่าเมฆเบื้องล่างจากการที่เงาของเมฆเบื้องล่างทอดขึ้นไปบนเมฆหมวกเหล่านี้ ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นสีรุ้งนั้น เรียกว่า "Iridescent Cloud" หรือ "Cloud Iridescence" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางแสงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ คล้ายกับรุ้งกินน้ำหรือดวงอาทิตย์ทรงกลด แต่ในขณะที่รุ้งกินน้ำนั้นมีรูปแบบสีที่ตายตัวชัดเจน และทำมุมคงที่กับดวงอาทิตย์ เมฆสีรุ้งนี้นั้นซับซ้อนกว่ามาก

รุ้งกินน้ำนั้นเกิดขึ้นจากการสะท้อนและหักเหของแสง เมื่อหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งในอากาศ ทำหน้าที่คล้ายกับปริซึมขนาดเล็กจำนวนมากที่คอยสะท้อนอยู่ สีของแสงที่จะสามารถสังเกตเห็นได้จึงขึ้นอยู่กับดัชนีหักเหของน้ำ รูปทรงเรขาคณิตของหยดน้ำ (ทรงกลม) หรือผลึกน้ำแข็ง และมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์กับมุมมองของผู้สังเกต แต่ปรากฏการณ์เมฆสีรุ้งนั้น เกิดขึ้นจากการคุณสมบัติแทรกสอดของแสง โดยจะเกิดขึ้นได้เมื่อหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็งมีขนาดที่เล็กมากๆ มีขนาดที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ และอยู่เป็นแนวบางๆ ไม่หนาจนเกินไป

ในบางครั้งปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิด Pileus Cloud นั้นก็สร้างสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะที่จะเกิดเงื่อนไขเหล่านี้ได้ แสงที่เราเห็นนั้นจึงเกิดขึ้นจากการที่หยดน้ำขนาดจิ๋วเป็นจำนวนมาก มีระยะห่างกันพอดีให้แสงสีใดสีหนึ่งของแสงอาทิตย์เกิดการแทรกสอดกันเสียจนมีเพียงสีเดียวที่สามารถส่องมาทิศทางเราได้ ในขณะที่แสงที่มีความยาวคลื่นต่างไปเล็กน้อยจะไปปรากฏที่มุมที่ต่างกันออกไป จึงสร้างภาพปรากฏคล้ายกับสีรุ้ง เช่นเดียวกับที่เห็นบนเปลือกหอยมุก คราบน้ำมันบนผิวน้ำ หรือฟองสบู่

"ภาพที่เห็นทั้งหมดนี้เป็นภาพที่ถ่ายเอาไว้โดยกล้องถ่ายภาพด้วยตัวผมเอง ไม่ได้มีการตัดต่อใดๆ ทั้งสิ้น หลายๆ ภาพลองซูมให้เห็นรายละเอียดใกล้ๆ ซึ่งพอซูมดูแล้วภาพที่เห็นก็แปลกตาและดู surreal ดีราวกับเป็นภาพ abstract art อะไรสักอย่างที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์"

ภาพและข้อมูลจาก แฟนเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติดร. มติพล ตั้งมติธรรม

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0