โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่ได้หวงลูกเกินเหตุ แต่ห่วงว่าลูกจะต้องเจอกับ 5 โรคร้าย

Mood of the Motherhood

อัพเดต 15 ต.ค. 2562 เวลา 12.11 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 12.11 น. • Features

เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กน้อยมักจะหน้าตาจิ้มลิ้มน่ารักน่าเอ็นดู ใครเห็นก็อยากจะเข้ามาขอเล่น ขออุ้มสักนิด หอมแก้มสักหน่อย แต่คุณพ่อคุณแม่นี้สิลมแทบจับอดเป็นห่วงลูกขึ้นมาไม่ได้ 

เพราะปัจจุบันมีโรคร้ายต่างๆ มากมายไปหมด แถมโรคเหล่านี้ยังเป็นอันตรายกับเด็กเล็กเป็นอย่างมาก ด้วยภูมิต้านทานที่ยังน้อยทำให้ได้รับเชื้อโรคได้ง่าย หากได้รับเชื้อมาอาการก็จะหนักกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า และบางครั้งอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

วันนี้ M.O.M จึงได้รวบรวมโรคร้ายที่เบบี๋มักได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่มาฝาก เพื่อเป็นการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างพ่อแม่และคนทั่วไปที่อยากเข้าไปแสดงความรักกับเด็ก ให้เข้าใจอันตรายที่เราอาจเป็นคนนำโรคร้ายไปสู่เด็กๆ ที่น่ารักก็เป็นได้

1. ไวรัส RSV

ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสอันดับต้นๆ ที่เด็กเล็กมักได้รับจากการสัมผัสตัวไม่ว่าจะเป็นการกอด หอม หรือจูบ ทำให้เชื้อแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายเด็กได้ทันที รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ และของเล่นที่ผู้ใหญ่สัมผัสแล้ว เมื่อเด็กจับของเล่นต่อแล้วนำมือเข้าปากก็สามารถได้รับเชื้อไวรัส RSV ได้เช่นกัน

ไวรัส RSV จะเข้าไปทำร้ายระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่ง เช่นน้ำมูกและเสมหะออกมาจำนวนมาก

เมื่อได้รับเชื้อไวรัส RSV เด็กจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด คือไอจาม มีไข้ น้ำมูกไหล หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย เซื่องซึม และหากมีอาการไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หายใจเร็ว หอบเหนื่อย คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกพบแพทย์ทันที

ในปัจจุบันไวรัส RSV ยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่จะใช้วิธีรักษาไปตามอาการแทน เช่น การให้ยาลดไข้ หากเด็กมีเสมหะที่เหนียวข้นมากแพทย์ก็จะใช้วิธีพ่นยาผ่านหลอดลม เป็นต้น

2. โรค SSSS

โรค SSSS หรือ โรค Staphylococcal scalded skin syndrome เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรีย S.aureus phage group II phage type 71 หรือ 55 เข้าสู่ผิวหนังก่อนปล่อยสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด จนทำให้เกิดอาการผื่นแดงรอบปาก จมูก ตา กระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อผ่านไปประมาณ 1-2 วัน ผื่นแดงเหล่านั้นจะกลายเป็นตุ่มพองน้ำใส และลอกออกเป็นแผ่นจนเห็นผิวด้านในแดงเหมือนถูกน้ำร้อนลวก ก่อนแผลจะตกสะเก็ดและหลุดออก

โรคร้ายนี้มักเกิดและมีอาการรุนแรงกับเด็กเล็ก ด้วยภูมิต้านทานที่น้อยจึงทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ใครหลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วเจ้าเชื้อ SSSS นี้มาจากไหนกัน ต้องบอกก่อนว่าเชื้อแบคทีเรียบนโลกนั้นมีมากมายหลายชนิด และซ่อนตัวอยู่เกือบทุกที่รวมไปถึงร่างกายของเราด้วยเช่นกัน

โรค SSSS เป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดให้กับเด็กเล็กอย่างมาก เพราะแผลจะปวดแสบปวดร้อนเหมือนโดนน้ำร้อนลวก โดยวิธีสังเกตในเบื้องต้นว่าลูกอาจเป็นโรค SSSS คือลูกมีไข้หรือไม่ ร้องไห้งอแงอย่างไร้สาเหตุหรือเปล่า ผิวหนังแดงเต็มตัวไหม เวลาจับแผลเขาร้องไห้เพราะเจ็บหรือเปล่า และเมื่อเวลาผ่านไป 24-48 ชั่วโมง ผิวแดงได้กลายเป็นตุ่มน้ำหรือไม่

หากมีอาการตามนี้คุณพ่อคุณแม่ก็อย่ารีรอนะคะ ให้รีบพาเจ้าตัวน้อยไปพบแพทย์โดยด่วน

3. เริม

เริม หรือเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus หรือ HSV) เป็นไวรัสที่ถูกแบ่งออกเป็นสองชนิดได้แก่ HSV-1 และ HSV-2

HSV-1 จะมักก่อโรคบริเวณช่องปากหรือริมฝีปาก ส่วน HSV-2 มักก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศ ระบบประสาท และแพร่กระจายทั่วร่างกายในทารกแรกเกิด

เริมสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสตัวหรือสารคัดหลั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย น้ำมูก ที่อาจมาจากการหอม จูบ หรือรับประทานอาหารร่วมภาชนะเดียวกันกับผู้ที่มีเชื้อ

โดยอาการของเริมบริเวณริมฝีปาก จะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณเยื่อบุช่องปากขึ้นเป็นกลุ่มจำนวนมากๆ และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะแตกออกทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน บางครั้งอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นและอักเสบได้

ส่วนอาการโรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว เป็นการที่เชื้อได้แพร่กระจายไปทั่วส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ตับ ปอด ทำให้มีอาการตับโต ตาเหลืองตัวเหลือง ปอดอักเสบ ซึม ชัก และหากไม่เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการของโรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว อาการจะออกมาในลักษณะผื่นขึ้นที่ผิวหนัง และบริเวณเยื่อบุตาเกิดการอักเสบขึ้น

โรคเริมเป็นเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่จะไม่กลับมาเยี่ยมเยียนบ่อยหากเรารักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เป็นประจำ

4. ไวรัสโรต้า (Rotavirus)

ไวรัสโรต้า เป็นเชื้อไวรัสที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อและทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรงได้

ไวรัสโรต้าสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสจาก หากผู้ใหญ่มีเชื้อไวรัสโรต้า สัมผัสตัวเด็ก หรือแม้กระทั่งสัมผัสของเล่นของใช้ที่เด็กหยิบจับและนำเข้าปากก็มีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะส่งต่อเข้าสู่ร่างกายเด็กเช่นกัน

อาการของเด็กที่ได้รับเชื้อไวรัสโรต้า คืออาเจียน ท้องเสียถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ บางรายอาจชักเพราะมีไข้สูง หากลูกมีอาการดังกล่าว ในเบื้องต้นให้คุณพ่อคุณแม่นำน้ำเกลือแร่ให้ลูกค่อยๆ ดื่ม งดผลไม้ และห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเด็ดขาด หากเป็นเด็กเล็กสามารถให้รับประทานนมแม่ได้ตามปกติ

ในกรณีที่เด็กมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง อาเจียน ซึม อ่อนเพลีย ถ่ายเป็นมูกเลือด คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปหาหมอทันทีค่ะ

5. โรคจูบ

โรคจูบ (Kissing Disease) เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากการสัมผัสหอม จูบจากผู้ใหญ่เช่นเดียวกับโรคทั้งสี่ข้างต้น

โรคจูบเกิดจากเชื้อไวรัส Ebstein Barr หรือเรียกสั้นๆ ว่า EB เป็นไวรัสที่ทำให้เด็กมีไข้สูง ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย บางครั้งอาจตับโต ม้ามโต ปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย นอกจากจะสร้างความทรมานกับร่างกายเด็กแล้ว เชื้อ EB ยังเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคอย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกได้อีกด้วย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตเจ้าตัวน้อยไว้ให้ดี หากมีอาการตามข้างต้น ควรเร่งพาลูกไปพบแพทย์อย่างทันทีค่ะ

อ้างอิง

theasianparent

amarinbabyandkids

bangkokhospital

pobpad

thestandard

bangkokhospital

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0