โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไม่ได้พุ่งเป้าแม่ค้าออนไลน์!

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 22 มี.ค. 2562 เวลา 01.14 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

พ.ร.บ.อีเพย์เมนต์ดูแลถ้วนหน้าทั้งบุคคล-นิติบุคคล

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มี.ค.นั้น ขอยืนยันว่า ทางกรมไม่ได้มุ่งเป้าเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่จะใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการโอนเงิน โดยใช้ฐานข้อมูลจากรายการธุรกรรมการโอนเงินของบุคคลและนิติบุคคล ผ่านระบบสถาบันการเงิน มาวิเคราะห์ภาษีที่ต้องจัดเก็บจากแต่ละบุคคลให้แม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน นำส่งข้อมูลการฝากหรือรับโอนเงินของบุคคลและนิติบุคคล ทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่าจำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนจะเป็นเท่าไหร่ก็ตาม และฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีขึ้นไป โดยกำหนดยอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากร ภายใน 31 มี.ค.ของทุกปี เพื่อสรรพากรจะนำข้อมูลไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายได้ “จำนวนครั้งของการฝากและรับโอนเงินตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว กรมสรรพากรจะพิจารณาจากทุกบัญชีของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีอยู่ในธนาคารนั้นๆ ไม่ได้เป็นการนำทุกบัญชีของทุกธนาคารของบุคคลนั้นมารวมกัน”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรพยายามผลักดันการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งไม่มีหน้าร้าน โดยกฎหมาย e-payment และเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่กรมสรรพากรได้ผลักดันสำเร็จ ส่วนกฎหมายอีกฉบับกำลังอยู่ในขั้นตอนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-business) กับผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจคนไทยที่ทำการค้าในประเทศไทย ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ค้าทางออนไลน์ที่อยู่ในต่างประเทศ ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0