โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่ได้ทำในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 01 ก.ค. 2562 เวลา 09.59 น.

หลายคนชอบมองที่ความสำเร็จของคนอื่น ไม่มองภาพเบื้องหลังความสำเร็จที่รองรับด้วยความลำบาก มองเห็นความหอมหวนของชื่อเสียงเงินทอง แต่มองไม่เห็นหยาดเหงื่อและน้ำตาที่เป็นฐานรากของความสำเร็จนั้น

เราเห็นภาพชื่อเสียงของนักเขียน สตีเฟน คิง เจ. เค. โรว์ลิง ฯลฯ แต่เราอาจไม่รู้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ พวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง

เราเห็นภาพ เจ. เค. โรว์ลิง เป็นนักเขียนที่รวยที่สุดคนหนึ่งของโลก หนังสือของเธอถูกสร้างเป็นหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า มีผู้อ่านเข้าคิวรอซื้อหนังสือเล่มใหม่ของเธอ แต่เราไม่เห็นด้านที่เธอเหนื่อยยากเขียนหนังสือเงียบๆ คนเดียวขณะท้องหิว

เจ. เค. โรว์ลิง เขียนหนังสือทั้งที่แทบไม่มีกิน เธอเป็นแม่คนเดียวที่ต้องเลี้ยงลูก ไม่มีงานทำ อยู่ด้วยเงินสวัสดิการสังคม 

เธออุ้มทารกไปเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟ เมื่อเขียน Harry Potter and the Philosopher’s Stone จบ มันถูกสำนักพิมพ์สิบสองแห่งปฏิเสธ

แต่เธอก็เขียนต่อไป

นักเขียนเรื่องสยองขวัญ สตีเฟน คิง รักการเขียนหนังสือมาแต่เด็ก แต่หนทางเป็นนักเขียนโรยด้วยหนามตลอดทาง

เขาต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง เพื่อเป็นค่าเรียนและเขียนหนังสือตามความฝัน ทำงานเป็นภารโรง เด็กปั๊มน้ำมัน คนงานซักล้าง

เขาส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ต่างๆ พิจารณา และได้รับจดหมายปฏิเสธมากมาย จนต้องหาวิธีเก็บจดหมายปฏิเสธเหล่านั้น

นานปีหลัง ในหนังสือเรื่อง On Writing เขาเล่าว่า “ตอนที่ผมอายุสิบสี่ ตะปูบนกำแพงห้องของผมไม่สามารถรับน้ำหนักจดหมายปฏิเสธได้ ผมเปลี่ยนตะปูเป็นเหล็กยาว แล้วเขียนต่อไป”

หลังจากถูกปฏิเสธไปหกสิบครั้ง เรื่องสั้นเรื่องแรกของคิงก็ได้รับการตีพิมพ์ ชื่อ The Glass Floor ได้ค่าเรื่อง 35 ดอลลาร์ ตอนนั้นอายุยี่สิบ

สตีเฟน คิง แต่งงานเมื่ออายุยี่สิบสี่ เขากับภรรยาต่างเป็นนักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งคู่ ไม่มีบ้าน อาศัยอยู่ในรถเทรลเลอร์ ทำงานทุกอย่างเพื่อหารายได้มารองรับการเขียนหนังสือ

ทั้งสองยากจนมาก ไม่มีโทรศัพท์ เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าโทรศัพท์รายเดือน

ช่วงหนึ่งเขาเขียนร่างแรกของนวนิยายเรื่องแรก Carrie แล้วโยนลงถังขยะ เพราะหมดกำลังใจ ภรรยาเขาหยิบมันกลับมา และบอกให้เขาเขียนให้จบ

นวนิยาย Carrie ผ่านการปฏิเสธหลายครั้งจนในที่สุดเขาก็ขายมันได้อย่างทุลักทุเล มันเปิดทางให้เขามีชื่อเสียง เป็นนักเขียนยอดนิยมในที่สุด

……………

นักเขียนจำนวนมากในโลกทำงานเหนื่อยยาก มุ่งหวังไปสู่จุดหมายคือเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ

ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ นักประพันธ์ระดับโลก ในวัยเด็กต้องออกจากโรงเรียน เมื่ออายุสิบสองทำงานวันละสิบชั่วโมงในโรงงาน แต่ก็ทำงานเขียนอย่างหนักจนประสบความสำเร็จ

ชีวิตของ มายา แองเจลู ก็เหมือนชื่อหนังสือที่เธอเขียน I Know Why the Caged Bird Sings ลำบากแต่เด็ก ถูกล่วงละเมิดในวัยเด็ก ไร้บ้าน ตั้งท้องตอนวัยรุ่น ขายตัวเพื่อเลี้ยงชีพ หาเงินเลี้ยงลูก ต่อมาเป็นนักร้องและนักเต้น แล้วหันไปเขียนหนังสือ จนประสบความสำเร็จ

อ็อคตาเวีย บัตเลอร์ เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (dyslexia) แต่เธออยากเป็นนักเขียนนิยายไซไฟ เธอทำงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงเพื่อเลี้ยงชีพ ตั้งแต่คนล้างจานไปจนถึงพนักงานในโรงงานทำมันฝรั่งกรอบ หาเช้ากินค่ำขณะที่เขียนหนังสือ เธอตื่นตอนตีสองตีสามเพื่อเขียนหนังสือ

งานที่เขียนถูกปฏิเสธปีแล้วปีเล่า แต่เธอก็เขียนต่อไป

ในที่สุดเธอก็กลายเป็นนักเขียนนิยายไซไฟที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งจนได้

คนเหล่านี้เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมหยุด

ไม่ได้เป็นนักเขียนในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า

เมื่อผมเริ่มเขียนหนังสือใหม่ๆ ทรมานอย่างยิ่ง กว่าจะเข็นแต่ละคำออกมา ยากเย็น ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทางเดียวคือเขียนๆๆๆ และมาดูว่าจะปรับปรุงมันได้อย่างไร หลังจากนั้นก็เขียนๆๆๆ

ส่งไปแล้วได้รับจดหมายปฏิเสธบ้าง หายเงียบไปบ้าง 

มันยากจริงๆ จนบางครั้งก็คิดว่ากำลังสู้ในสงครามที่ดูเหมือนเอาชนะไม่ได้

ผมเห็นตัวอย่างในแวดวงนักเขียนมามากพอกล้าสรุปว่า แทบทั้งหมดที่ไปไม่ถึงฝั่งเพราะเลิกกลางคัน 

ดังนั้นการพิสูจน์ว่าความฝันของเราจริงแค่ไหนคือถามตัวเองว่า มันถึงขนาด “ถ้าไม่ได้ทำในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า” หรือไม่

ปรัชญานี้ใช้ได้กับทุกความฝัน ทุกวงการ

ไม่ได้ทำในชาตินี้ ยอมตายดีกว่า

ความเจ็บปวดอดทนต้องความเจ็บปวดเหนื่อยยากก็คือหัวใจของความสำเร็จ

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ โดยไม่ออกแรง ยิ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ ยิ่งต้องออกแรงมาก

เมื่อตะปูรับน้ำหนักของความล้มเหลวไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป็นเหล็กยาว แล้วก้มหน้าทำงานต่อไป

……………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0