โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์! รู้จัก 'โรคเริม' ติดต่อง่าย..ถ้าไม่ระวังตัว

TNN ช่อง16

อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.56 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.56 น. • TNN Thailand
ไม่ใช่แค่เพศสัมพันธ์! รู้จัก 'โรคเริม' ติดต่อง่าย..ถ้าไม่ระวังตัว
โรคเริม (Herpes) ไม่ได้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการสัมผัส หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วยด้วย เราไปทำความรู้จัก “โรคใกล้ตัว” นี้กัน…

เริม (Herpes) คือ โรคติดเชื้อจากไวรัสทีมีชื่อว่า Herpes simplex virus เมื่อร่างกายคนเราได้รับเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ผิวหนังทำให้เกิดเป็นโรคเริม "ครั้งแรก" หลังจากนั้น เชื้อไวรัสจะเข้าไปสมสมในปมเส้นประสาท และเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นเชื้อดังกล่าวจะเคลื่อนจากปมประสาทมาตามเส้นประสาทจนถึงปลายประสาท และเกิดโรคซ้ำที่ผิวหนังหรือเยื้อบุ 

สำหรับบริเวณที่เกิดเริมส่วนใหญ่ ได้แก่ริมฝีปาก เยื่อบุตา อวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก อาจพบได้ที่ท่อปัสสาวะ

สาเหตุของการเกิดโรคเริม

เริมสามารถติดต่อกันได้จากคนสู่คนผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือผ่านทางการสัมผัสกับแผล และการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือทางเพศสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศที่ไม่มีการป้องกัน รวมถึงการใช้ของเล่นทางเพศร่วมกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้อีกด้วย เช่น ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน , ใช้จาน ช้อนร่วมกัน , ใช้หลอดเดียวกัน , สัมผัสแผล น้ำลาย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย , มีเพศสัมผัสโดยไม่ได้ป้องกัน , มีเพศสัมพันธ์ทางปาก , การหอม การจูบ

* ข้อควรรู้ที่สำคัญก็คือ ระยะแพร่เชื้อเริม เริ่มตั้งแต่มีอาการจนกระทั่งแผลหายตกสะเก็ด *

ลักษณะอาการของโรคเริม

สำหรับโรคเริมที่เป็นครั้งแรก จะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัสไปแล้ว โดยส่วนมากมักจะไม่แสดงอาการ แต่หากมี อาการก็จะรุนแรง 

ทั้งนี้ หากโรคเริมเกิดบริเวณปากจะเกิดที่ขอบของริมฝีปาก แต่ถ้าหากเกิดที่อวัยวะเพศจะเกิดได้กับทุกตำแหน่งของอวัยวะเพศ โดยช่วงแรกจะมีอาการแสบๆ คันๆ บริเวณที่เป็น จากนั้น จะมีตุ่มใสๆ ขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ขึ้นกระจัดกระจาย หรือเป็นกลุ่ม และอาจเกิดขึ้นเพียงครึ่งวันแล้วแตกไป บางครั้งเห็นเป็นแผลตื้นๆ และผู้ป่วยบางรายไม่เห็นเป็นตุ่มน้ำ เมื่อตุ่มใสแตกจะเกิดเป็นแผล และจะค่อยๆ ตกสะเก็ดและหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งอาจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยก็ได้

'โรคเริม' เป็นซ้ำได้ แม้ไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือสัมผัสกับผู้ป่วย

โรคเริมเป็นแล้วเป็นอีกได้! แต่อาการจะน้อยกว่า ตุ่มน้ำจะมีขนาดเล็กกว่า หรือจำนวนตุ่มน้ำจะน้อยกว่าครั้งแรกที่เป็น ถึงแม้ว่าหลายคนไม่ได้สัมผัส หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย ก็ตาม เนื่องจากมีสาเหตุมาจากความเครียด , แสงแดดที่มาก , รอยถลอกขีดข่วน , การเจ็บป่วยจากโรคอื่น , การได้รับยากดภูมิคุ้มกันอย่างสเตียรอยด์ หรือการผ่าตัดที่กระทบกระเทือนต่อเส้นประสาท ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นั้น สามารถกระตุ้นให้ผู้ที่เคยเป็นเริมแล้ว สามารถกลับมาเป็นอีกได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเริมให้หายขาดได้นั่นเอง

การรักษาและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคเริม

สำหรับโรคเริมนั้น แม้จะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถรักษาและปฏิบัติตัวขณะที่เป็นโรคได้ ดังนี้

- รับประทานยาแก้ปวด ซึ่งแผลจากโรคเริมจะสามารถหายเองได้ ภายในเวลา 2-6 สัปดาห์

- ควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ได้แก่ "ยากิน" เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือ ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในปมประสาทได้ และ "ยาทา" นิยมนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการของเริมในขณะที่เป็น

- ผู้ที่เป็นโรคเริม ควรพักผ่อนและดื่มน้ำเยอะๆ

- ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก กรณีที่มีแผลในปาก

- ตัดเล็บ ไม่แกะ ไม่เกาบริเวณแผล และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มกลายเป็นหนองและแผลเป็น

การป้องกันโรคเริม

- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองหรือหญิงบริการ

- การใช้ถุงยางอนามัย แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการติดต่อได้ทั้งหมด

- งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคเริมจนกว่าแผลจะหายสนิท

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก 

- การใช้ยาต้านไวรัส ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้บ้าง

- การใช้หลายวิธีร่วมกัน คือ ใช้ทั้งถุงยางอนามันและยาต้านไวรัส 

- ผู้ที่เคยเป็นเริมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคซ้ำ

- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จานชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกน เป็นต้น

- หากเป็นโรคเริมซ้ำบ่อยมากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือมีอาการรุนแรง หรือการเป็นซ้ำส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณารับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

สุดท้ายนี้ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยก็จะช่วยให้พ้นโรคติดต่อนี้ได้

ขอบคุณข้อมูลดีๆ 

- ภาควิชาตจวทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

- Rama Channel

- pobpad.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0