โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไม่ใช่ความลับ!! ‘บรรยง’จี้เปิดสวัสดิการพนักงานทีจี

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 21 ต.ค. 2561 เวลา 10.19 น. • The Bangkok Insight
ไม่ใช่ความลับ!! ‘บรรยง’จี้เปิดสวัสดิการพนักงานทีจี

“บรรยง พงษ์พานิช”อดีตกรรมการ คนร. แนะการบินไทย เปิดรายละเอียดสวัสดิการพนักงาน-ครอบครัว บริหารต้นทุนเหมาะสม ชี้ไม่ใช่ความลับ

จากกรณีที่มีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 971 เส้นทาง ซูริค-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 โดยระบุว่าเที่ยวบิน TG971 (ZRH-BKK) ออกจากนครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากมีนักบิน Deadheadต้องการที่นั่ง first class หรือ business class ของผู้โดยสาร และหากไม่เปลี่ยน นักบินที่ทำหน้าที่ก็จะไม่ยอมทำการบิน จนทำให้ผู้โดยสารที่จองตั๋ว business class เที่ยวบินดังกล่าวต้องยอมเปลี่ยนที่นั่ง เพื่อให้เที่ยวบินเดินทางต่อไปได้นั้น เป็นกรณีที่ถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้

ภาพเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich
ภาพเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบัญชี Banyong Pongpanich วานนี้ (20 ต.ค.) โดยมีมุมมองต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่าผมมีคำถามต่อบางข้อ

1.การบินไทยมีเครื่องบินที่มีที่นั่ง first class แค่ 16 ลำ จากเครื่องบินเกือบร้อยลำ ถ้าไม่มีที่นั่งชั้นหนึ่ง พวกนักบิน Deadhead Pilot ทำอย่างไรครับ? ไม่บินกลับ หรือ บินกลับมาก็ไม่มีตารางบินต่อในระยะเวลาหนึ่ง

2.การประสานงานภาคพื้นเป็นอย่างไร? ถ้ารู้ก่อน check-in การเปลี่ยนที่นั่งทำได้อยู่แล้วครับ ผมเองไม่ได้นั่งที่ๆ จองบ่อยๆ งานนี้เป็นการทะเลาะกันภายในระหว่างสถานีกับ crew แล้วเลยมาเดือดร้อนผู้โดยสารใช่ไหมครับ?

3.ขอให้สอบต่อให้ละเอียดด้วยนะครับว่า นักบิน Deadhead นั้น มีตารางบินต่อ ที่ต้องพักมาเต็มที่จริงๆ

การบินไทย
การบินไทย

แนะการบินไทยปรับตัวเพื่ออยู่รอด!

หลังจากมีคำถาม 3 ข้อดังกล่าว นายบรรยง ยังได้แสดงความเห็นต่อว่า ความจริงการที่ต้องมีนักบินและ crew ที่ deadhead นี้ เป็นต้นทุนที่สูง ซึ่งมักเกิดจากการที่มีเครื่องบินมากแบบเกิน หรือการวางแผนการบินที่ไม่ดีพอ

“ผมเจอเหตุการณ์นี้บ่อยมากบนเครื่องการบินไทย มีอยู่ครั้งหนึ่ง เพื่อนร่วมเดินทางถูกเตะลงจาก first class ที่ปารีส ให้ไปนั่ง C Class เพื่อเปิดทางให้ Deadhead ด้วยซ้ำ แต่เขาทำตั้งแต่ check-in ถ้าไม่งั้นก็คงมีเรื่องเหมือนกัน สถานะการดำเนินงานของการบินไทยเรากำลังอยู่ในสถานะการวิกฤติ ทุกฝ่ายต้องอดทน เสียสละกันเยอะๆ”

นายบรรยง ยังให้ข้อมูลอีกว่า มีอีกเรื่องที่อยากให้การบินไทยทำ คือ สำรวจสวัสดิการการบิน (ทั้งที่ฟรี ทั้งที่ลดราคา) ที่มีให้กับพนักงานทั้งหมด และที่ให้กับอดีตพนักงาน เปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ดูว่าเราให้มากให้น้อยเกินไปหรือเปล่า ควรจะปรับอย่างไรไหม เพราะที่ชอบบอกว่าเกาะเคาน์เตอร์ ไม่ว่างไม่ได้ไป ยังไงก็ยังมีต้นทุน มี cost อยู่แน่ๆ และที่น่ากลัวมากๆคือ “เทคนิคการทำให้มีที่ว่าง”(ถ้ามีจริง) ตามที่มีการร่ำลือกันแหละครับ

เรื่องนี้ ถ้ามีการปรับเปลี่ยน ลดสิทธิประโยชน์ คงโวยกันแหลก ทั้งพนักงาน ทั้งอดีต ทั้งครอบครัวที่ดันได้สิทธิไปด้วย แต่ควรต้องทำนะครับ เพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่งั้น สุดท้าย ต้องทำอย่าง JAL อย่าง MH ทุกคนถูกตัดสิทธิ์เหลือศูนย์หมด เพราะบริษัทล้มละลาย!!

แจงสิทธิ์พนักงาน-ดูต้นทุน

นายบรรยง ได้โพสต์เฟซบุ๊กเพิ่มเติมกรณีการบินไทยวันนี้ (21 ต.ค.)ว่าการบินไทยมีพนักงานกว่า 2 หมื่นคน มีอดีตพนักงานอีกหลายหมื่น มีครอบครัวที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการอีกมาก สวัสดิการการบิน เท่าที่ทราบ(ไม่ยืนยันว่าถูกต้อง update) มีหลายชนิด ทั้งบินฟรีถ้าว่าง ทั้งจ่ายน้อยคอนเฟิร์มได้ ทั้งอัพเกรด ฯลฯ ถามว่านี่มีต้นทุนไหม มันมีแน่นอนนะ ทั้งอาหารค่าน้ำมัน และต้นทุนแฝงอื่นๆ อีกมาก โดยเสนอว่า

1.ให้สำรวจทบทวน เปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ว่ามากหรือน้อยเกินไปในหมวดหมู่ไหน (เช่น เขาให้ลูกอดีตพนักงานไหม เขาให้อดีตพนักงานไหม)
2.นำมาปรับให้เหมาะสม ส่วนไหนมากก็ลด ส่วนไหนน้อยก็เพิ่ม
3.อุตสาหกรรมการบินจากอดีตมาปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเป็นบริการฟุ่มเฟือยมาเป็นบริการพื้นฐาน การแข่งขันรุนแรงทั่วโลก ราคาตั๋วคงที่มาเป็น 10 ปีแล้ว(ลดลงด้วยซ้ำในหลายๆเส้นทาง) การแข่งขันควบคุมต้นทุนต้องทำอย่างเข้มงวดในทุกๆทางถ้าอยากอยู่รอด
4.เรื่องสวัสดิการ มันมีระเบียบอยู่แล้ว มันไม่ใช่ความลับอะไร เปิดเผยมาได้ว่าใครมีสิทธิ์บ้าง มีจำนวนกี่คนเท่าไหร่ สิทธิ์มีแบบไหนบ้าง แล้ววิเคราะห์ได้ครับ ว่าปีหนึ่งๆมีต้นทุนตรงเท่าใด (ต้นทุนแฝงวิเคราะห์ยาก) มีคนใช้สิทธิ์ไปกี่ครั้ง ถ้าสมมุติว่าใช้แค่สองสามพันครั้ง ต้นทุนตรงแค่ไม่กี่สิบล้าน ก็อาจจะไม่กระทบมาก ทุกอย่างทำได้อย่างโปร่งใสเปิดเผย ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันตรงๆได้

ทั้งหมดก็แค่อยากให้”สายการบินแห่งชาติ” ให้ THAI ที่เป็นแบรนด์หนึ่งที่แข็งแกร่งที่สุดของประเทศนี้ จะได้มั่นคงรุ่งเรือง สมกับเป็นสมบัติชาติ ที่ผมก็มีส่วนเป็นเจ้าของ มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเจตนาดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0