โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

#ไม่โสดก็สุขได้… ดัชนีความสุขคนมีคู่แซงหน้าคนโสด แม้แบกภาระท่วมตัว สุดท้ายอยู่ที่พฤติกรรมการเงิน

Brandbuffet

อัพเดต 21 ก.ค. 2562 เวลา 09.21 น. • เผยแพร่ 21 ก.ค. 2562 เวลา 09.20 น. • Insight

เนื่องจาก ภาพที่คนทั่วๆ ไป มองคนที่แต่งงานหรือมีครอบครัวต้องแบกรับภาระทางการเงินค่อนข้างสูง แต่ถ้ามีการวางแผนที่ดี ทั้งการบริหารจัดการหนี้ และเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ให้ชีวิตแล้ว ก็สามารถมีความสุขได้ในระยะยาวเช่นเดียวกัน 

“อัตราการเพิ่มขึ้นของคนโสดมีเยอะก็จริง แต่กลุ่มคนมีครอบครัว หรือคนที่แต่งงานแล้ว ก็ยังเป็นโครงสร้างหลักของครอบครัวไทย” จากรายงาน UNFPA ล่าสุดพบว่า กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาโครงสร้างครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งขนาดของครอบครัวที่เล็กลง และลักษณะครอบครัวแบบอยู่คนเดียว หรือที่กลุ่มคนโสดมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่โครงสร้างหลักของสังคมไทยยังคงเป็นกลุ่มคนมีครอบครัว ที่มีสัดส่วนสูงถึง 84% ขณะที่กลุ่มคนโสดมีสัดส่วนอยู่เพียง 13.9%

“แต่งงานหรือมีครอบครัวแล้วต้องแบกภาระหนัก ทำให้ไม่มีความสุข” เป็นคำกล่าวที่เราได้ยินคุ้นหูโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ปักธงอยู่ฝั่งคนโสด และคนส่วนใหญ่มักมีมุมมองต่อคนที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วว่า มักจะไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต เพราะมีภาระทางการเงินสูง ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบสายช็อป สายเที่ยว สายกิน ได้เต็มที่ เนื่องจาก ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ต้องใช้ชีวิตตามแบบแผนที่วางไว้ตลอด

แต่จากการศึกษากลุ่มคนที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน พบว่า “คนแต่งงานแล้ว มีความสุขมากกว่าคนโสด” โดยพบว่า 60% ของคนแต่งงานบอกรู้สึกมีความสุขในชีวิต ในขณะที่คนโสดทั้งแท่งมีความสุขแค่ 45% 

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าร้อยทั้งร้อย คนจะมีความสุขได้ต้องมีความสุขทางการเงินมาก่อน เราจึงมาเจาะดูว่าคนแต่งงานที่มีความสุขและไม่มีความสุข มีพฤติกรรมทางการเงินแตกต่างกันอย่างไร

เริ่มจาก พฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่า กลุ่มที่มีครอบครัวและมีความสุข มีค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น อย่างท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง ที่ไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มคนที่มีครอบครัวแต่ไม่มีความสุข พบว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากภาระเลี้ยงดูและค่าเล่าเรียนบุตร และค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า

แต่ไม่ใช่ว่ามีหนี้แล้วจะมีความสุขไม่ได้ เพราะจากผลสำรวจ พฤติกรรมการเป็นหนี้ พบว่า กลุ่มคนที่มีความสุขก็มีการก่อหนี้เช่นกัน แต่มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดีกว่า เช่น เลือกวิธีการผ่อนชำระที่ไม่มีดอกเบี้ย หรือจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงๆก่อน อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีรายการผ่อนที่โดนคิดดอกเบี้ยเพียง 1-2 รายการ ขณะที่เกือบครึ่งของคนที่ไม่มีความสุข มีรายการที่ต้องผ่อนชำระแบบเสียดอกเบี้ยมากกว่า 3 รายการขึ้นไป และมักเลือกวิธีการชำระหนี้แบบจ่ายแค่ขั้นต่ำ แถมยังมีบางส่วนจ่ายหนี้ช้ากว่ากำหนดด้วย

ด้าน พฤติกรรมการออม พบว่า กลุ่มคนที่มีความสุข มีสัดส่วนคนที่มีเงินออมสูงกว่าคนที่ไม่มีความสุขถึง 3 เท่า อีกทั้งยังมีรูปแบบในการเก็บออมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ทั้งสองกลุ่มมีการออมสำหรับพอไว้ใช้ยามฉุกเฉินเป็นพื้นฐาน แต่ในรายละเอียด พบว่า กลุ่มคนที่มีความสุขมีรูปแบบการออมเพื่อวัยเกษียณ กับการเก็บออมเพื่อลงทุนเป็นสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีความสุขถึง 2 เท่า

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คนมีความสุขมาจากมีการเตรียมความพร้อมในชีวิตที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แม้ทั้งสองกลุ่มจะเลือกใช้เงินตัวเองจ่ายก่อนเป็นพื้นฐาน แต่ในกลุ่มมีความสุขจะมีการซื้อประกันสุขภาพไว้มากกว่ากลุ่มไม่มีความสุข สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มมีความสุขมีการป้องกันความเสี่ยงในด้านค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยไว้รองรับ

โดยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับประกันสุขภาพและประกันอื่นๆ เฉลี่ยต่อปีอยู่ 24,100 บาท มากกว่ากลุ่มไม่มีความสุข 2 เท่า และกลุ่มที่มีความสุขเกือบทั้งหมดก็มีการวางแผนเกี่ยวกับเงินที่จะใช้ยามเกษียณแล้ว ขณะที่ กลุ่มไม่มีความสุขเป็นจำนวนกว่า 11% สารภาพว่ายังไม่รู้จะเอาเงินจากที่ไหนมาใช้ในยามเกษียณ

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0