โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่อยากอยู่คนเดียว : เรื่องของ FOBA - fear of being alone

Johjai Online

อัพเดต 27 ม.ค. 2563 เวลา 07.06 น. • เผยแพร่ 26 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
ไม่อยากอยู่คนเดียว : เรื่องของ FOBA - fear of being alone
“การกลัวอยู่คนเดียว” หรือ “fear of being alone FOBA” ยิ่งกลัวการอยู่คนเดียวมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวมากขึ้นเท่านั้น 

“การกลัวอยู่คนเดียว” หรือ “fear of being alone FOBA” เป็น paradox ของชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะยิ่งกลัวการอยู่คนเดียวมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวมากขึ้นเท่านั้น นับเป็นความกลัวที่ lose-lose คือ ยังไงก็แพ้วันยังค่ำ ไม่มีทางตอบสนองให้รู้สึกดีขึ้นมาอย่างยั่งยืนได้
 
มีการศึกษาของ University of Toronto เกี่ยวกับ FOBA พบว่า คนที่เป็น FOBA มักได้คู่ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ อีกทั้งคน FOBA มักจะหวนกลับไปหาแฟนคนเดิมที่เลิกกันไปแล้วมากกว่าคนทั่วไป  และที่สำคัญชีวิตชาว FOBA ไม่ค่อยจะมีความสุขนัก
 
ชาว FOBA มักด่วนที่จะจับคู่อย่างรีบร้อน และนั่นทำให้อาจเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องตรงสเปคก็ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นบุคลิกที่ตนไม่ชอบก็ได้ ที่จริงแล้ว FOBA ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มีภาพของแฟนในอุดมคติ หรือ “prince/princess charming” อยู่ในใจ แต่แล้วก็ไม่ได้แฟนอย่างนั้นเสียที เพราะไม่ต้องการรอ เนื่องจากความต้องการแท้จริงในส่วนลึกก็คือ ใครก็ได้ที่สามารถเป็นแฟนได้ในตอนนี้
 
เป็นไปได้ว่า สำหรับคนทั่วไปแล้ว ก็สามารถมีแฟนกันได้ง่ายและฉับไวถ้าหากถูกใจตรงสเปคพอดี  ซึ่งในแง่ของ speed ก็ดูไม่ต่างจาก FOBA และไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด แต่ FOBA ต่างตรงที่ว่า จะพยายามเร่งความสัมพันธ์ให้ดำเนินไปรวดเร็ว เกินธรรมชาติที่ควรเป็น โดยต้องการ commitment หรือคำมั่นสัญญาอย่างแบบ fast track 
 
Elyakim Kislev นักจิตวิทยาจาก Hebrew University เจ้าของหนังสือ Happy Singlehood และบทความในหลายสื่อบอกว่า FOBA คือ “การยอมเอาชีวิตของตนเองไปอยู่ภายใต้คนที่ไม่ใช่ FOBA” ความสัมพันธ์ของ FOBA จึงเป็นไปอย่างไม่สมดุล คือ ถ้าไม่ยอมให้อีกฝ่ายเสมอ ก็จะต้องมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายเสมอ ไม่ค่อยจะมีตรงกลาง
 
FOBA จึงเป็นได้ทั้งแบบ passive คืออะไรๆก็ยอมหมด แม้ในเรื่องที่ตนเองไม่มีความสุข ไม่เห็นด้วย หรือแม้กระทั่งรู้ว่าไม่ถูกต้อง ผิดจริยธรรม ผิดกฎหมาย ก็ยอมๆตามใจแฟน กับอีกแบบหนึ่งคือ agressive คือห้ามขัดใจ ไม่งั้นมีเรื่อง และเรื่องที่ห้ามขัดใจ ก็มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการสร้างความมั่นใจว่า อีกฝ่ายยังไม่นอกใจ เช่น ไม่ต้องการให้แฟนมีเพื่อนหรือ network มาก เพราะจะเพิ่มโอกาสไปเจอแฟนใหม่ หรือ ไม่ต้องการให้ใช้เวลากับเพื่อนหรือ network มาก เพราะกลัวตัวเองจะด้อยความสำคัญ
 
Kislev ชี้ว่า FOBA มักตามมากด้วย FOMO - fear of missing out หรือ “กลัวตกกระแส-กลัวไม่เท่าเทียมกับคนอื่น” อีกด้วย เพราะ FOBA มักระแวงอยู่ตลอดเวลาว่า ความสำพันธ์ที่ตนเองมีอยู่นี้จะไม่ยั่งยืน จึงต้องคอยเปรียบเทียบหรือ benchmark ตนเองกับคนอื่นเสมอๆ ซึ่งก็หนีไม่พ้นโลกโซเชียล และเมื่อเห็นว่า คนอื่นมีภาพของชีวิตคู่ดูดีในรูปแบบต่างๆ ก็ต้องการเช่นนั้นบ้างเพื่อ confirm ว่าชีวิตเราก็ดีเทียบเท่าหรือดีกว่า
 
ผลคือ FOBA จะมีความกดดันอยู่ตลอดเวลาที่ต้องพยายามสร้างและปรุงแต่ง lifestyle ให้ดูดีไม่น้อยกว่าคู่อื่นๆ และแน่นอนว่า ความกดดันนี้ย่อมไปลงที่คู่ของตนเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง Kislev บอกว่า ไม่ว่าอย่างไร ก็ไม่มีทางทำให้ FOBA พอใจได้อย่างยั่งยืน เพราะย่อมมีคนที่ดูดีเหนือกว่าอยู่เสมอ 
 
สาเหตุของ FOBA ลึกๆมาจากการละเลยในการค้นหาตนเอง ไม่รู้จักตนเองพอ ไม่รู้คำตอบว่า โดยตัวตนแท้ๆ ที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่นนั้น จริงๆแล้วเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ ผลคือ FOBA  เป้าหมายในชีวิตอย่างลึกของ FOBA คือ ขอให้ไม่เหงา และแน่ใจว่าอนาคตจะไม่เหงา ก็ถือว่าพอใจแล้ว จะต้องแลกกับอะไรก็ยอม
 
Kislev เตือนว่า พอเรายอมแลกกับสิ่งที่เราต้องการในชีวิต เช่น ความเป็นอิสระ ความก้าวหน้า ความสุขอื่นๆ  เพียงเพื่อจะได้ไม่เหงา เราก็จะคุ้นและเกิดความเคยชินกับการ “ยอม” ไปเรื่อย จนรู้สึกเฉยๆที่จะปล่อยให้สิ่งที่ต้องการอื่นๆในชีวิตหลุดลอยไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เกิดผลกระทบในเรื่องการทำงาน ผลคือ นิสัยยอมแพ้ง่าย ยอมคน จะกลายเป็นบุคลิกภาพติดตัวไป และนี่คือ side effect หรือผลข้างเคียงอันตรายของการเป็น FOBA
 

มีคำถามบ่อยๆว่า ความหึงหวงมากกว่าปกติ ความต้องการใกล้ชิดมากเป็นพิเศษ ของ FOBA มาจากความรักจริงๆ หรือว่ามาจากอย่างอื่น?
 
ทางจิตวิทยาบอกว่า ถ้าหาก FOBA มีความรัก ความรักนั้นมักเป็นผลผลิตมาจากความกลัว ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการเป็น FOBA  
 
ในบทความที่ลงใน Journal of Personality and Social Psychology “Settling for less out of fear of being single” โดย Spielmann และทีมงาน บอกว่า ความรักของ FOBA เป็นแบบ “relationship-base self esteem” คือ เอาการมีแฟนไปผูกกับความเป็นตัวตนของตนเอง โดยจะรู้สึก ตนเองไร้ค่าถ้าหากไม่มีแฟน แต่ในทางตรงข้ามจะรู้สึกเหมือนประสบความสำเร็จถ้ามีแฟน เพราะคิดว่านั่นคือการบอกว่าตนเองมีค่า 
 
การเอาคุณค่าตนเองไปผูกไว้กับการมี-ไม่มีแฟนนี้เอง ทำให้เมื่อพอแฟนแล้ว ก็จะพยายามทุกวิถีทางที่รักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ และความพยายามทุกวิถีทางนี่เอง กลับทำให้ความสัมพันธ์นั้นเกิดปัญหา
 
Bella DePaulo นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Single Out และเจ้าของบทความมากมายในหลายสื่อ ชี้ว่า ความสัมพันธ์จะไปได้ด้วยดี ก็ต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างคิดว่าไม่ได้จำเป็นต้องมีแฟน ในทางตรงข้าม ยิ่งแต่ละคนคิดว่าขาดแฟนไม่ได้ ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหา ซึ่งเป็น paradox อย่างหนึ่งที่ว่า ยิ่งไม่ได้ต้องการมาก ยิ่งจะได้สิ่งที่ดี  และ ยิ่งอยากได้มาก จะยิ่งไม่ได้สิ่งนั้น 
 
DePaulo ชี้ว่า คนที่ขาดแฟนไม่ได้ มักจะมีความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความกลัว และสะท้อนออกมาในรูปของความหึงหวงเกินเหตุ ความหวาดระแวงและจับผิด ทำให้ชีวิตคู่มีสภาพเหมือน “auditor ลง” ที่ต้องคอยตอบคำถาม แก้ตัว ชี้แจง ถูกสอบสวนอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเอาเวลามามีความสุขกัน
 
นักจิตวิทยาบอกว่า คนที่เป็น FOBA หนักๆจึงไม่เคยได้อย่างที่หวัง ต่อให้มีแฟนที่ใกล้ชิดตัวติดตลอดเวลา ก็ยังไม่สมหวัง นักจิตวิทยา Sherrie Campbell เจ้าของรายการวิทยุให้คำปรึกษากล่าวว่า “ความกลัวที่จะอยู่คนเดียวกลับทำให้รู้สึกเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว มากกว่าการอยู่คนเดียวจริงๆเสียอีก” 
 
ส่วน Collin Muller นักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษา online มีความเห็นว่า การอยู่คนเดียวจริงๆโดยตัวของมันเองไม่ใช่ปัญหา มีคนจำนวนมากที่อยู่ด้วยตัวเองได้ดี ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม แต่ที่เป็นปัญหาคือ ที่อยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะต้องหาใครสักคนมาเป็นผู้กำหนดคุณค่าชีวิตของตนต่างหาก  และ “การเอาความหมายของชีวิตไปอยู่ภายใต้ความเห็นของแฟน” ทำให้ต้องรอลุ้นอยู่ตลอดเวลาหรือแม้กระทั่งตลอดชีวิตว่า วันนี้เขาจะว่าอย่างไร? พร้อมกับความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองเหวี่ยงขึ้นลงตามความเห็นแฟนในแต่ละวัน วันนี้มีค่า พรุ่งนี้ไม่มีค่า เป็นสภาพ yo-yo ไม่รู้จบ
 
สำหรับคนที่เป็น FOBA หนักๆ ถ้าวันหนึ่งถ้าเลิกกัน ความมีค่าในตัวตนก็จะลดลงเป็นศูนย์ ซึ่งคือ “ตัวตนหาย” เพราะในยามนั้น ไม่มีคนคอยบอกว่าตัวเรามีคุณค่าแค่ไหน ปราศจาก approver ปราศจากผู้อ้างอิง เกิดความรู้สึกเคว้งคว้างอย่างหนัก  
 
แน่นอนว่า ไม่ว่าเป็นใคร ลองถูกต่อว่าจากคนที่เรารัก ก็อาจทำให้เสียใจได้ทั้งนั้น แต่สำหรับคนทั่วไป การต่อว่านั้นก็จะไม่ทำให้กระทบถึงระดับ self worth หรือความมีคุณค่าในตัวตนดังเช่นที่เกิดกับคนที่เป็น FOBA ซึ่งจะสะท้อนออกมาในลักษณะเศร้าหนักหรือโกรธจัดเป็นเวลานาน 
 
ทางแก้การเป็น FOBA คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสาเหตุอย่างลึกมาจาก ความไม่มั่นใจ ไม่รู้จักเข้าใจหรือไม่ให้อภัยกับตนเอง ผลคือทำให้ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจตนเอง จนทำให้ไม่ยอมเป็นมิตรกับตันเอง
 
ซึ่งหมายความว่า fear of being alone ที่จริงก็คือ “fear yourself” นั่นเอง ไม่ใช่ใครอื่น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0