โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไม่มี Passion ในการทำงานเลย ทำอย่างไรดีคะ

THE STANDARD

อัพเดต 14 พ.ย. 2561 เวลา 15.31 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 15.31 น. • thestandard.co
ไม่มี Passion ในการทำงานเลย ทำอย่างไรดีคะ
ไม่มี Passion ในการทำงานเลย ทำอย่างไรดีคะ

Q: รู้สึกตัวเองไม่มีแพสชันในการทำงานเลย มีวิธีสร้างแพสชันให้ตัวเองไหมคะ

 

A: ถ้าตอนนี้เหนื่อย ลองวางเรื่องงานลงแล้วไปทำอย่างอื่นดูสักพักดีไหมครับ อย่างเช่น…หาหนังดูกันไหมครับ?

 

แต่ไม่ใช่หนังธรรมดา แต่ผมอยากชวนให้คุณดูหนังสารคดีสนุกๆ สักเรื่องที่น่าจะทำให้คุณได้คำตอบ

 

มีสารคดีเรื่องหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ลองดู คือ ‘A Matter of Taste: Serving up Paul Liebrandt’ เป็นสารคดีตามติดชีวิตเชฟดาวรุ่ง พอล ลีแบรนดต์เกือบสิบปี ตั้งแต่ตอนสอยสองดาวมาจาก New York Times แล้วผจญฟันฝ่าอุปสรรคมากมายจนมาเปิดร้านเอง

 

พอลเป็นเชฟกวนตีน แน่นอนเขาไม่เรียกผักว่า ‘เขา’ เหมือนเชฟพล ตัณฑเสถียร บางครั้งเขาก็ดูเกรี้ยวกราด แต่ความเกรี้ยวกราดของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานของงาน เขาต้องการให้อาหารออกมาดีที่สุด เขาเป็นคนที่เต็มไปด้วยความหลงใหลในการทำอาหาร และใช้มันเนรมิตเป็นประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ทุกอย่างคิดมาแล้ว เขาไม่ได้ทำแค่อาหาร แต่เขาเป็น ‘Storyteller ผ่านอาหาร’ มันมากไปกว่าอาหารจานนั้นอร่อยหรือไม่ แต่อาหารจานนั้นจะพาเราไปสัมผัสถึงดินแดนใดในโลกของเขา

 

เหตุการณ์หนึ่งที่ชอบมากในสารคดีนี้คือ พอลเป็นเชฟที่มหัศจรรย์มาก แต่หลังเหตุการณ์ 11กันยายน 2001 ความอิ่มเอมในวัฒนธรรมการกินดื่มของคนในนิวยอร์กได้หมดสิ้นลง ทุกคนอยู่ในบรรยากาศหดหู่เกินกว่าจะรับประทานอาหารที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยจินตนาการ ร้านที่พอลทำงานอยู่จึงต้องเปลี่ยนมาขายแฮมเบอร์เกอร์ เขาทนทอดเฟรนช์ฟรายส์อยู่ได้ไม่นานก็ขอลาออก เพราะงานที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวเขา และมันทำให้เขาห่อเหี่ยว แต่วันที่พอลมาทอดเฟรนช์ฟรายวันสุดท้าย เจ้าของร้านและเพื่อนร่วมงานพากันมาฉลองให้เขา พวกเขาเข้าใจและยินดีที่พอลจะไปทำในสิ่งที่รัก ไม่มีดราม่า ไม่มีการเกลียดกัน เพราะทุกคนรู้ว่าพอลควรทำอะไรมากกว่านั้น จะหามนุษย์ร่วมงานที่ใจใหญ่แบบนี้ได้มันยากมากนะ

 

สารคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เราเห็นว่าการทำอาหารไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ก่อนการเปิดร้านอาหารพวกเขาทำงานกัน 18-20 ชั่วโมงติดกัน 7 วัน พอลต้องคิดเมนูที่ไม่เคยมีมาก่อน และฝึกซ้อมการทำอาหารจนเชฟทุกคนสามารถทำอาหารได้อย่างเป็นธรรมชาติ และลืมไปเลยว่าพวกเขากำลัง ‘ทำ’ อยู่ ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น พอลยังคิดไปถึงแสงไฟที่ใช้ในร้านว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เงาตกลงมาบนอาหารจนอาหารไม่น่ารับประทาน การซ้อมพนักงานเสิร์ฟเพื่อบรรยายอาหารแต่ละจาน ไม่เพียงแต่บรรยายเท่านั้น แต่ต้องเล่าให้รู้สึกถึงความน่ารับประทานและสะท้อนให้เห็นว่าพนักงานเสิร์ฟมีความรู้อย่างเต็มเปี่ยม ไปจนถึงการเตือนพนักงานว่าห้ามยืนพิงผนังเพราะมันไม่สง่า ฯลฯ แน่นอนช่วงเวลาเหล่านั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียดเหมือนอยู่ในสมรภูมิ และถ้าใครที่ไม่เข้มแข็งหรือแน่วแน่กับเป้าหมายพอคงจะถอดใจขอยอมแพ้ไปแล้ว

 

ยิ่งเมื่อเป้าหมายคือการคว้า 3 ดาวจาก New York Times หลังจากที่เคยทำได้สูงสุด 2 ดาว ทุกคนในร้านของพอลยิ่งหายใจเป็นเรื่องเดียวกัน มันไม่ใช่แค่การทำอาหารให้อร่อยที่สุด แต่มันคือการวางแผนการรบ การชิงไหวชิงพริบ นักวิจารณ์ของ New York Times จะมาอย่างไม่บอกกล่าว เขาจะใช้ชื่อปลอมและใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกลับไม่ได้ ซึ่งทีมงานในร้านของพอลจำเป็นต้องคอยจับสังเกตและวิเคราะห์กันเอง ทั้งยังต้องเอารูปหน้าของนักวิจารณ์ติดไว้ที่ครัวเพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อม

 

มันโคตร!!!

 

“เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา เราคงไม่อยากตื่นมาเปิดหนังสือพิมพ์แล้วอ่านข่าวมรณกรรมของตัวเอง” เจ้าของร้านบอก

 

หนักข้อกว่านั้น นักวิจารณ์จะแกล้งทำผ้าเช็ดปากหล่นแล้วกลับมาดูว่ามันยังคงอยู่ที่เดิม หรือมีพนักงานเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว บางทีจะเข้าไปในห้องน้ำแล้วแอบเอาที่หนีบกระดาษอันจิ๋ววางไว้ เพื่อทดสอบว่าพนักงานจะมีไหวพริบมากพอไหม

 

โหดสัส!

 

การจะได้กี่ดาวจึงไม่ใช่แค่ฝีมือของเชฟ แต่เป็นเพราะความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในร้านเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

 

ด้านนักวิจารณ์อาหารเองก็เป็นคนที่มีความรู้ด้านอาหารเป็นอย่างดี สามารถวิจารณ์ได้ว่าอะไรคือความงดงาม อะไรคือความอัปยศ ไม่ได้ทรยศต่อวิชาชีพตัวเองด้วยการเขียนอวยไปเรื่อยเลอะเทอะ ที่สำคัญคือเป็นผู้ที่รุ่มรวยในการใช้ภาษา เขาต้องบรรยายอาหารให้คนอ่านที่ไม่ได้รับประทานได้เห็นภาพและสัมผัสได้ถึงประสบการณ์นั้นแม้เพียงอ่านตัวหนังสือ ถ้าไปเห็นภาษาที่นักวิจารณ์อาหารใช้ในสารคดีนี้แล้วจะตะลึงพรึงเพริด มันไม่ใช่แค่ ‘อาหารอร่อย ร้านตกแต่งสวยงาม คุ้มค่าทุกคำ’ แต่ตัวหนังสือของเขาติดปีกพาเราโบยบินไปสู่จินตนาการ

 

สารคดีเรื่องนี้จึงทำให้รู้ว่าพวกเขาจริงจังเอาเป็นเอาตายกับสิ่งที่ตัวเองรักแค่ไหน ทั้งฝั่งร้านอาหารและฝั่งนักวิจารณ์ และการใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยมของมนุษย์ก็คือสิ่งที่ควรค่าแก่การคารวะ

 

ไม่จำเป็นว่าคุณต้องรู้เรื่องการทำอาหารดีแค่ไหน (ไม่ต้องเดตกับเชฟเลยด้วยซ้ำ) การดูสารคดีเรื่องนี้จะเติมไฟให้ตัวคุณ และทำให้กลับมาตั้งคำถามว่า เราทุ่มเทกับเป้าหมายในชีวิตของเรามากพอหรือยัง และการรวมพลังกันของคนที่มีเป้าหมายในชีวิตนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน

 

แต่ก่อนจะไปถึงคำถามนั้น เราตอบตัวเองได้หรือยังว่า เป้าหมายของเราคืออะไร

 

บางทีการได้เห็นชีวิตคนอื่นที่เขามีแพสชันอย่างแรงกล้าก็ช่วยจุดไฟให้เราได้เหมือนกัน อย่างชีวิตของ พอล ลีแบรนดต์ที่ผมเล่าให้ฟังนี่แหละครับ

 

ผมเคยได้คุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันแล้วเขาบอกว่า งานที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำ แต่เขาก็พอจะอยู่กับมันได้ อย่างน้อยเขาก็รอให้ถึงห้าโมงเย็นแล้วกลับบ้าน

 

“น่าอิจฉาท้อฟฟี่นะที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเราอยากทำอะไร ทุกวันนี้เราทำงานเพราะมันคืออะไรบางอย่างที่เราได้ทำเพื่อไม่ให้ตัวเองว่าง ไม่อยากทำแต่ไม่รู้ตัวเลยว่าอยากทำอะไร ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เราก็อยู่ของเราไปเรื่อยๆ แบบนี้ ไม่ได้โหยหาความก้าวหน้า ขอว่ามีอะไรทำก็พอ แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เรารักหรอก” เขาบอก

 

เท่าที่จำได้ ตอนเราเด็กๆ เพื่อนคนนี้มีความสุขมากเวลาได้เล่นละครเวที เธอเป็นราชินีแห่งเวทีที่สะกดทุกสายตา เป็นตัวขโมยซีนขั้นเทพ

 

ทุกวันนี้เธอทำงานด้านการเงิน และรอว่าเมื่อไรจะห้าโมงเย็น

 

บางครั้งผมคิดขำๆ กับตัวเองว่า ถ้าตอนนั้นเพื่อนคนนี้เลือกเรียนนิเทศศาสตร์หรือการละครจะเป็นอย่างไร บางทีถ้าเธอได้ดูสารคดีเรื่องนี้ เธออาจจะตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าชีวิตต้องการอะไร

 

อะไรที่ทำให้ไม่ต้องรอห้าโมงเย็น อะไรที่ทำให้อยากตื่นไปทำมัน

 

อะไรที่หัวใจของเธอเรียกหา

 

ขอให้คุณเจอเช่นกันครับ

 

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล chayatat.v@gmail.com หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0