โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่มี New Normal การเมืองไทย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ต.ค. 2565 เวลา 02.42 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 09.25 น.
IMG_20190718150223000000
แฟ้มภาพ : Thaigov.

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

เลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นสิบเท่า คือความเห็นบรรดาบิ๊ก ๆ ธุรกิจมองผลกระทบโควิด-19 ที่จนถึงขณะนี้ไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย ตัวเลขแพร่ระบาดสะสมทั่วโลกเกือบจะ 7 ล้าน เสียชีวิตใกล้จะ 4 แสน

ปี 2540 ธุรกิจที่บาดเจ็บหนัก ๆ คือ ธุรกิจที่กู้เงินสกุลต่างประเทศมาลงทุน พอมีการปรับค่าเงินบาทเป็นลอยตัว หนี้สินเลยพุ่งทะยาน ได้รับผลกระทบมากกว่าใคร คือ เรียลเอสเตตและสถาบันการเงิน ในขณะที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว-บริการ ได้รับประโยชน์มหาศาลจากค่าเงินบาทที่ปรับตัว

แต่กับโควิด-19 นาทีนี้ อย่าเพิ่งถามหาแสงสว่างปลายอุโมงค์ แค่ประคองตัวเองให้รอดยังยาก

เศรษฐา ทวีสิน หัวขบวนแสนสิริที่พลิกตัวเปิดแคมเปญระบายสต๊อกอย่างรวดเร็ว เปรียบว่า เป็นเพียงยกแรกที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ หากยังมียกต่อ ๆ ไปที่คงต้องเหนื่อยกันอีกมาก น่าเป็นห่วงคือรายย่อย หรือรายกลางที่เสียเปรียบรายใหญ่ทุกด้าน

ส่วนศุภจี สุธรรมพันธุ์ จากดุสิตธานี ซึ่งมีเครือข่ายโรงแรมทั้งลงทุนเองและที่รับบริหารในหลาย ๆ ประเทศ ทำนายว่า ใน 6 เดือนนับจากนี้ การท่องเที่ยวน่าจะค่อย ๆ กลับคืนมา ระยะแรกจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง ตามมาด้วยประเทศอย่างจีน ฮ่องกง เกาหลี ส่วนยุโรปหรืออเมริกา อาจต้องรอกลางปีหน้าโน่นเลยทีเดียวถึงจะมีเข้ามา โดยที่ตลาดไมซ์เดินทางเพื่อประชุมหรือสัมมนาขนาดใหญ่ เป็นตลาดที่ฟื้นตัวช้าสุด และอาจต้องรออีกพักใหญ่ ๆ

ขณะที่สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอเอไอเอส ที่ถูกมองว่าน่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก social distancing และการทำงานที่บ้าน เนื่องจากออนไลน์เป็นช่องทางสื่อสารที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเวลานี้มากที่สุด ยืนยันว่าค่ายมือถือหนีไม่พ้นผลกระทบนี้เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะการเปิดเบอร์ใหม่หรือย้ายค่าย ที่ลดจำนวนลงจากการปิดช็อปในช่วงที่ผ่านมา ในมุมมองของซีอีโอค่ายมือถือยักษ์เชื่อว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยจะปรากฏภาพชัดเจนขึ้นในไตรมาส 3 และ 4

ฟาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน ภัทร ชี้ว่า เราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไปอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจมากกว่านั้น จนกว่าวัคซีนจะถูกผลิตออกมา ซึ่งถ้าหากรัฐยังไม่ผ่อนคลายให้เศรษฐกิจเดินหน้า การฟื้นตัวใน 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นไปอย่างทุลักทุเล

แต่นี่เป็นเพียงการคาดคะเน สุดท้ายตัวแปรสำคัญคือ “วัคซีน” ที่ตอนนี้ยังเป็นวุ้นอยู่ในห้องแล็บทั่วโลก

ยิ่งท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าเท่าไหร่ เศรษฐกิจไทยยิ่งสาหัสเท่านั้น เพราะในช่วงก่อนโควิด ท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศไทยมหาศาล เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียวที่เหลืออยู่

โดยสรุปคือทุกคนกังวลเป็นเสียงเดียวกัน รวมถึงความเห็น ที่ว่า ถ้ารัฐกลัว ๆ กล้า ๆ ไม่มีแผนประคับประคองเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมออกมาในระยะเวลาอันสั้น ที่เรานำหน้าในการจัดการปัญหาโควิด-19 ได้เร็วกว่าคนอื่นเขา สุดท้ายอาจไม่มีประโยชน์อะไรเลย

แน่นอนว่าเรื่องนี้คนที่ต้องถือธงออกโรงเป็นใครไปไม่ได้

นอกเสียจากบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างที่รู้กันการเมืองไทยมีความพิเศษ มีความเฉพาะตัว ไม่ว่าประเทศจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะย่ำแย่ หรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดขนาดไหน

หน้าฉากคือการแย่งชิงอำนาจ แต่หลังฉากคือผลประโยชน์มหาศาล ว่ากันว่างบฯกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 จำนวน 4 แสนล้าน ดูเป็นที่สนอกสนใจของกระทรวงต่าง ๆ

และนักเลือกตั้งเป็นพิเศษ พยายามขอมีส่วนร่วมในการใช้งบฯก้อนใหญ่นี้ ชนิดออกนอกหน้า

โควิด-19 ครั้งนี้ก่อให้เกิด new normal ไปทั่วโลก ยกเว้นการเมืองไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0