โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไม่มีคำว่า 'ศิลปินไส้แห้ง' อีกต่อไป เมื่อเข้าใจศิลปะยุคบิ๊กดาต้า ​พร้อมทำความรู้จักศาสตร์แขนงใหม่ 'Data Artist'

Brandbuffet

อัพเดต 10 ธ.ค. 2561 เวลา 11.58 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2561 เวลา 04.41 น. • Insight

เป็นที่รับทราบและเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้วว่า Data เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะยุค Insight Marketing อย่างในปัจจุบัน ที่ความต้องการต่างๆ ของผู้บริโภคกลายเป็นตัวกำหนดทิศทางให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิต พฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและก้าวตามให้ทัน

ทำให้เราจะเห็นภาคธุรกิจทั้งหลายให้ความสำคัญกับเรื่องของ Big Data รวมทั้งการเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการวิเคราะห์และต่อยอดประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ ​เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรทางด้านนี้ยังคงขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ในปริมาณที่สูงมาก​ ไม่ว่าจะเป็น Data Scientist, Data Analytic รวมทั้งในสายงานคอมพิวเตอร์อย่าง Computer Science หรือ Computer Engineering

หายากกว่า*Data Scientist ก็ Data Artist นี่แหละ *

ถึงแม้ว่าความต้องการบุคลากรในสายงาน Data Scientist และทักษะทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างๆ จะมีอยู่ในปริมาณที่สูง จนทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้อย่างแท้จริง เนื่องจากยังถือเป็นทักษะใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานตามการเติบโตของเมกะเทรนด์อย่าง Big Data แต่ถึงจะมี​ Supply อยู่น้อยสวนทางกับดีมานด์ที่เกิดขึ้นในตลาดอย่างมหาศาล แต่ก็ยังพอเห็นผู้ที่มีทักษะในเรื่องเหล่านี้อยู่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในบริษัทที่จำเป็นต้องบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมาก เช่น ภาคธุรกิจการเงินและธนาคาร หรือมีเดียเอเยนซี่ต่างๆ ก็จะมี Data Science หรือ Data Analytic เป็นของตัวเอง

ขณะที่มุมมองจากดร.เอกก์ ภทรธนกุล  ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์​ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) มองว่า แม้ทักษะทางด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องข้อมูลต่างๆ จะมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก แต่การมีความรู้ความเข้าใจแค่เรื่องของData เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอในการตอบโจทย์ธุรกิจได้อีกต่อไป​ เนื่องจากข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์​ที่​ไม่สามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้บริโภคได้ จึงต้องเพิ่มทักษะในการเรียนรู้และความสามารถในการเข้าใจมนุษย์ลงไปด้วย หรือต้องขยับจากการเป็นแค่Data Scientist เพื่อเรียนรู้ไปสู่การเป็น Data Artist ให้ได้ด้วย

เนื่องจาก​ กลุ่ม​ Data Scientist จะจัดอยู่ในกลุ่มของนักสถิติ นักวิทยาศาสตร์ที่เน้นเรื่องของการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล แบบมี Logic มารองรับ และต้องอาศัยความรู้ในเชิงเทคนิคเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ที่บางครั้งอาจจะเข้าใจได้ยาก โดยมีกลุ่มงานในสายเดียวกันนี้ อาทิ Data Analytic, ​Computer Science, Computer Engineer

ส่วนกลุ่มที่เป็น Artist ส่วนใหญ่จะมีความเป็นศิลปินจ๋า​ ทำให้มักจะเน้นเรื่องของ Emotional แบบสุดโต่ง และมักจะมองสิ่งต่างๆ เพื่อถ่ายทอดออกมาจากมุมของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะทำให้บางครั้งคนอื่นๆ รอบข้างไม่สามารถเข้าใจได้

ดังนั้น ​Data Artist ​​​จะกลายเป็นจุดสมดุลที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างการผสมผสานทักษะต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Data จากฟากที่เป็น​ Functional และฟากของ Emotional จากความเป็นศิลปินเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างมีความพอดี ​

คนที่เป็นData Artist คือ คนที่สามารถนำข้อมูล Big Data ที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างมีศิลปะ เพื่อสามารถนำไปสร้างความสุขให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ *เพราะบางครั้งการมองแค่เรื่องข้อมูลอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เนื่องจากหลายๆ ครั้งที่ปัญหาของลูกค้าไม่ได้เกิดจากการคิดเป็นLogic แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะคิดและตัดสินใจด้วย Emotional ค่อนข้างมากจึงจำเป็นต้องนำความรู้จากฝั่งข้อมูลทั้งหมดที่มีมาผสมผสานอยู่บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของคนเข้าไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันอาจจะมองว่าบุคลากรสาย Data Science, Data Analytic หาได้ยากแล้ว แต่หากมี Skill ที่สามารถเป็น Data Artist ได้ เราจะกลายเป็น One of A Kind หรือเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ ทำให้สร้างความแตกต่างและ Unique ให้กับตัวเองได้”*

จะเป็นศิลปินได้ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์​

สิ่งสำคัญที่ Data Artist จำเป็นต้องมีคือ ความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจความเป็นมนุษย์​​ โดยเฉพาะการฝึกฝน Human Skill ต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์หรือ AI ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็น Creativity หรือการมีความคิดสร้างสรรค์​ คิดนอกกรอบต่างๆ ​Sense การใช้ประสาทสัมผัสและความรู้สึก ​​เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจต่างๆ EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดในการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องของอารมณ์ที่หลากหลายและลึกซึ้งของคน และสุดท้ายคือ SQ (Social Quotient) หรือความสามารถในการเข้าสังคมต่างๆ

“การเป็น Data Artist จะทำให้สามารถเลือกหยิบข้อมูลที่น่าสนใจ ที่มีความ Sexy หรือมีโอกาสในการนำไปต่อยอดได้ หรือต้องมีความเป็น Data Visualize ที่มากกว่าแค่การเป็นนักสถิติที่มองหรือคิดจากแค่ตัวเลขตามสถิติ เพราะไม่ใช่ว่าข้อมูลทุกอย่างจะนำไปใช้ได้ แต่ต้องเลือกหยิบประเด็นที่จะนำมาสื่อสารต่อเป็น หรือสามารถนำไปคิดต่อออกมาเป็นรูปเพื่อให้คนนำไปใช้ต่อได้ ที่สำคัญคือ ต้องมี Sense ที่ดี เพราะแม้ว่าข้อมูลจะชี้ชัดหรือมีแนวโน้มว่าจะดี แต่หากเป็นเรื่องที่สื่อสารหรือทำความเข้าใจได้ยาก ก็ควรเลือกที่จะหยิบประเด็นอื่นๆ ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันมาสื่อสาร หรือเลือกมุมใหม่ในการหยิบมาต่อยอดได้อย่างเหมาะสม”

สำหรับวิธีคิดหรือทักษะของความเป็นศิลปินเหล่านี้ หลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของพรสวรรค์ แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่สามารถฝึกให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน ด้วยการฝึกคิดบ่อยๆ โดยเฉพาะการคิดถึงคนอื่นให้มากๆ และพยายามที่จะทำความเข้าใจคนอื่นให้มากกว่าการมองจากมุมของตัวเองหรือเข้าใจตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ผ่านกระบวนการคิดในรูปแบบ Outside In Thinking มากกว่าการคิดแบบ Insight Out ที่มองจากตัวเองเป็นหลัก ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันกำลังประสบอยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเด็กจบใหม่หลายๆ คนที่เข้าไปทำงานจริงๆ แม้ว่าหลายคนจะมีความรู้ความสามารถหรือมี Hard Skill ที่ดี แต่ส่วนใหญ่จะขาดทักษะที่เป็น Soft Skill​​ เพราะแม้ว่าองค์ความรู้ในเรื่องของดาต้าจะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น แต่ความสามารถในการเข้าใจคน หรือทำงานร่วมกับคนอื่นได้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดสำหรับทุกองค์กร

*Mindset ด้านการศึกษา กำแพงสำคัญ *

ทักษะหลายๆ อย่างใน Human Skill หรือ Human Literacy เป็นวิชาพื้นฐานของการเรียนศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Creativity หรือ Sense ต่างๆ ขณะที่ค่านิยมในการเรียนในประเทศไทยโดยเฉพาะจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มักอยากให้ลูกเรียนในสายวิชาวิทย์​-คณิต และมุมมองต่อสายการเรียนในภาควิชาศิลปะที่มักไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกฝังรากความคิดมาเป็นระยะเวลานานและต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะความท้าทายสำคัญในการเปลี่ยน Mindset ของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ตัวเด็กเอง

“สิ่งที่พ่อแม่อาจจะยังมองไปไม่ถึงคือ อาชีพที่พ่อแม่หรือสังคมมองว่าเป็นอาชีพที่ดีในขณะนี้ ในอนาคตจะยังมีอยู่ หรืออาจจะถูกผลกระทบจาก Technology Disruption หรือไม่ ขณะที่ Skill หรือทักษะที่สำคัญสำหรับอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะทักษะในกลุ่มDeep Soft Skill ที่เข้าใจอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้ง หรือเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์จะกลายเป็นทักษะสำคัญ โดยที่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น สายการเรียน หรืออาชีพที่ดีในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้”  

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การขับเคลื่อนและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากฝั่งของ Consumer Driven เป็นหลัก เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทุกวัน ทำให้มีความต้องการใหม่ๆ อยากได้สิ่งใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา นำมาซึ่งการพัฒนาในฟากของเทคโนโลยีให้เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ทั้งเพื่อความสะดวกสบาย หรือความปลอดภัยต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่นวัตกรรมใหม่ๆ หรือแม้แต่อาชีพใหม่ๆ ที่ปรับตัวและพัฒนาตามเพื่อให้ยังคงสามารถตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ของลูกค้านั่นเอง

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0