โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่ต้องรีบ - อุ๋ย นที เอกวิจิตร์

THINK TODAY

อัพเดต 03 ส.ค. 2561 เวลา 07.54 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2561 เวลา 04.59 น. • อุ๋ย นที เอกวิจิตร์

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวใหญ่เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียคนหนึ่งอายุ 104 ปี เลือกจบชีวิตด้วยการการการฆ่าตัวตายภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เหตุผลที่ต้องไปทำที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพราะประเทศออสเตรเลียยังไม่เป็นสิ่งถูกกฎหมาย 

ดร.เดวิด กู้ดออล ไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่เหตุผลในการตัดสินใจจบชีวิตในครั้งนี้คือ อิสรภาพที่ลดน้อยถอยลงของเขาเอง

ดร.กู้ดออล รับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายไม่ได้ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้เองเหมือนเดิมหลังจากล้มในบ้านพักตัวเอง ไม่สามารถนั่งรถบัสเข้าเมืองได้เอง ต้องถูกส่งไปอยู่บ้านพักคนชราและต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งเป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้เพราะเขาเป็นคนรักอิสระชอบทำอะไรด้วยตัวเองไม่ชอบให้มีคนมาอยู่ใกล้ตลอดเวลา และยังอยากทำงาน ยังอยากเจอเพื่อนฝูง

ย้อนกลับไปในปี 2522 ที่ประเทศไทย มีชายหนุ่มร่างกายแข็งแรงอายุ 24 ปีประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำในสระ ศีรษะกระแทก อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้กระดูกต้นคอข้อที่ ๕ ของเขาหักไปถูกประสาทสันหลังเกิดอาการชาทั้งตัวและกลายเป็นอัมพาต ซึ่งแพทย์บอกว่าเขาไม่มีทางหายเป็นปกติได้อีกเหมือนเดิม ต้องพิการไปตลอดชีวิต ตั้งแต่คอลงมาขยับได้เพียงมือขวา 

ท่านคือ อาจารย์ กำพล ทองบุญนุ่ม ผู้ใช้ธรรมะในการเยียวยาจิตใจ ฝึกปฎิบัติธรรมในแนวทางหลวงพ่อคำเขียน วัดป่าสุคโต ด้วยการขยับมือ เพื่อฝึกสติ รู้สึกตัว จนมีจิตใจแจ่มใส ไม่ทุกข์ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ จนเป็นอาจารย์สอนปฎิบัติธรรมแก่บุคคลทั่วไป

ท่านเคยสัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมเดินไม่ได้ก็ยังเดินไม่ได้เหมือนเดิม แต่ใจผมจะไปไหนก็ได้ ถึงบอกว่าผมเดินด้วยใจ แต่เวลาไปไหนไปด้วยล้อเลื่อน มันแยกกันทำงาน เมื่อใจดีแล้วถึงโลกจะเลวร้ายเราก็สามารถมองให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองได้ เหมือนปุ๋ยมันเกิดจากอะไร เกิดจากของเหม็นเน่า คนไม่ชอบ แต่สิ่งที่เหม็นเน่าหมักหมมมันเป็นก็เป็นปุ๋ยได้ ถ้ารู้จักมอง เหมือนกันความพิการก็ใช่ว่าจะไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่พิการแล้วเราจะมาสนใจธรรมทำไม”

ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 ด้วยความสงบ ท่านเรียนรู้ธรรมจากความพิการทางกายเกือบ 40 ปี

มนุษย์บางคนพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะเอาชีวิตรอด และเรียนรู้จากมัน แต่มนุษย์บางคนก็มีเหตุผลของตนเองในการที่จะจบชีวิตลง

มุมมองทางศาสนาส่วนใหญ่แล้วแทบทุกศาสนา จะมองว่าเป็นเรื่องผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีศาสนา ก็จะมองสิทธิหรือความต้องการของตนเองเป็นหลัก ว่าความต้องการจบชีวิต ควรเป็นสิทธิของทุกคน

เคยมีการถกเถียงเรื่องนี้ ระหว่าง การอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีผู้เข้าร่วมการอบรมท่านหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ของคุณแม่ที่ป่วยติดเตียงแล้ว อยากจะฆ่าตัวตาย แต่ไม่สามารถทำได้ ส่วนคุณพ่อของเขานั้นสุขภาพแข็งแรงดี เวลาผ่านไปหลายปีกลับกลายเป็นว่าคุณพ่อเสียชีวิตก่อน ส่วนคุณแม่ที่นอนติดเตียงนั้นกลายเป็นเสาหลักให้ลูกๆ ได้พึ่งพาทางจิตใจและเป็นคนบัญชาการจัดงานศพให้คุณพ่อ ความคิดที่อยากจะตาย ไม่มีอยู่ในหัวคุณแม่ของเค้าอีกแล้ว 

จากเรื่องนี้ทำให้ผมมีมุมมองว่า เวลาก็มีส่วนสำคัญมากๆในการตัดสินใจอะไรซักอย่างในชีวิต หากเราลองอดทนรอ เรียนรู้จากความทุกข์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเราอาจจะเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามก็ได้

ยามที่เกิดปัญหาหรือความทุกข์ในชีวิต ลองไม่หนี เผชิญกับปัญหา ใช้เวลาเป็นตัวช่วย เผื่อว่าจะได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะยังไงก็ต้องตาย ไม่ต้องรีบก็ได้มั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0