โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไพ่ตาย "ประชาธิปัตย์" ปลดแอก "แก้รัฐธรรมนูญ"

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 01.00 น.

มีมติให้"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)กำลังถูกผลักดันให้เป็นประธาน กมธ.วิสามัญชุดนี้เช่นกันแต่ไม่ทำให้แรงต้านจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐน้อยลง

จากเหตุผลที่ส่งสัญญาณไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตำแหน่งนี้ต้องมาจากแกนนำรัฐบาลเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ "สุชาติ" เคยเสียท่า ต้องยอมถอยให้กับเกมต่อรองของประชาธิปัตย์ ในช่วงการเลือกประธานรัฐสภา จนต้องเสียเก้าอี้ให้ "ชวน หลีกภัย" ขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้ แต่เมื่อมาถึงวาระการเสนอตำแหน่งประธาน กมธ. ทำให้พลังประชารัฐต้องการคุมเกมบนหัวโต๊ะ ประธาน กมธ.ชุดนี้ทั้งหมด

เป็นสถานการณ์ที่พลังประชารัฐตกอยู่ในสถานะแพ้ไม่ได้ ถึงแม้ตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.จะมีมากกว่าฝั่งประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว แต่กลับไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ตำแหน่งประธาน กมธ.จะอยู่ในโควตาของพลังประชารัฐ

ยิ่งนาทีนี้ ได้เห็นการเดินเกมกดดัน จาก"เทพไทรายวัน"จากเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ออกมาเปิดประเด็นผลักดันนายอภิสิทธิ์สู่เก้าอี้ประธาน กมธ. โดยเฉพาะการไปจับจังหวะกดดันไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งสัญญาณไปให้พรรคพลังประชารัฐ "เสียสละ" ไม่สนับสนุนคนในพรรคมาแข่งขันกับอภิสิทธิ์

ยิ่งวรรคสำคัญที่ "เทพไท" ส่งแรงบีบไปถึง "พลังประชารัฐ" ว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากเห็นความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้มีความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาล ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ให้สำเร็จ

นอกจากนี้ หากนับสัดส่วน กมธ.ชุดนี้ทั้งหมด 49 คน ได้ถูกแบ่งเป็น คณะรัฐมนตรี(ครม.)12 คน ฝ่ายรัฐบาล 18 คน และฝ่ายค้าน 19 คน ทำให้การเคลื่อนขบวนในเกมของประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาเจรจาไปถึงพลังประชารัฐ ว่าตำแหน่งประธาน กมธ.ไม่จำเป็นต้องเป็นของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก เพราะเป็นการทำงานของสภาฯ เหมือนกรณีเลือกประธานสภาฯ ที่ได้ชื่อนายชวน หลีกภัย

ระหว่างนั้น จึงเห็นภาพความขัดแย้งระหว่าง "เทพไท" กับ "สิระ เจนจาคะ" ส.ส.กทม. พลังประชารัฐ ออกมาวิวาทะอย่างดุเดือด จนล่าสุด "สิระ" เตรียมออกมาฟ้องร้องหมิ่นประมาทกับ "เทพไท"แล้ว

นาทีนี้ พลังประชารัฐรู้ดีว่าการที่ประชาธิปัตย์มี ส.ส.น้อยกว่า แต่กลับเป็นสถานการณ์ "ถือไพ่เหนือกว่า"จากเงื่อนไขแลก 52 เสียงตั้งรัฐบาล เพื่อดัน พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ขีดเส้นใต้ 3 เส้นที่ประชาธิปัตย์ประกาศ "เตือนความจำ" พลังประชารัฐถึงหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาฯ ได้บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงไปด้วย

เกมนี้จึงเห็นประชาธิปัตย์ออกมาข่มพลังประชารัฐรายวัน แต่เป็นช่วงเดียวกับที่พลังประชารัฐ จากวิปรัฐบาลเล่นเกม "ซื้อเวลา" พิจารณาวาระในญัตติศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ดีว่า หากปล่อยให้"อภิสิทธิ์"หลุดมาเป็นประธาน กมธ.ได้สำเร็จ เท่ากับว่า อดีตหัวหน้าประชาธิปัตย์ จะถือความได้เปรียบต่อการคุม "ทิศทาง" ในบันไดขั้นแรกต่อการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด

จุดยืนเส้นขนานของประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ยังเป็นจุด "หักเห"พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อกลไกในรัฐธรรมนูญที่สร้างความได้เปรียบให้พลังประชารัฐ ในบทเฉพาะกาลเปิดทาง 250 ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ ได้ ยังเป็นประเด็นที่ประชาธิปัตย์อยากเข้าไปปลดล็อกในเวที กมธ.ชุดนี้ เป็นวาระแรกๆ

ทำให้การต่อสายของประชาธิปัตย์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไปยังระดับคีย์แมนของรัฐบาล อย่างน้อยเพื่อเจรจาลดความระแวง ที่พลังประชารัฐกำลัง "ไม่ไว้ใจ" ประชาธิปัตย์ เพื่อแสวงจุดร่วมไปศึกษาในประเด็นของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาจริงๆ

จนถึงนาทีนี้ ยังไม่มีสัญญาณจากวิปรัฐบาลว่า การประชุมสภาฯ วันที่ 13-14 พ.ย.62 สุดท้ายแล้วจะดันญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาหรือไม่

กลายเป็นสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของพรรคร่วมรัฐบาลที่มี "สัญญา" ต่อรอง ที่เคยให้ไว้เป็นเดิมพัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0