โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ไพรัตน์ ทรงพาณิช ผสมพันธุ์บัวฝรั่ง ที่มีสีน้ำเงินต้นแรกของโลก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 08 เม.ย. 2563 เวลา 07.16 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 21.46 น.
บัวฝรั่ง

บัวฝรั่ง (hardy waterlily) มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นและเขตหนาว จัดอยู่ในสกุล Nymphaea เช่นเดียวกับ บัวผัน บัวเผื่อน บัวกินสาย และจงกลณี ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน จากการสืบค้นพบว่ามีการนำบัวฝรั่งมาปลูกในประเทศไทย เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว พันธุ์ส่วนใหญ่มาจากยุโรปและอเมริกา บัวฝรั่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีและออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปีเมื่อนำมาปลูกในประเทศไทย

บัวฝรั่ง มีลักษณะเฉพาะคือ ใบกลม ขอบใบเรียบ ดอกลอย หรือชูพ้นน้ำเล็กน้อย ล้ำต้นที่อยู่ใต้ดินเป็นแบบเหง้า มีการเจริญเติบโตแบบแนวนอน ดอกที่ออกมี 5 สี คือ ขาว ชมพู แดง เหลือง และแสด ดอกจะบานประมาณ 3 วัน ลักษณะการบานของดอกจะบานและหุบวันละ 1 ครั้ง ช่วงเวลาประมาณ 06.0014.00 นาฬิกา

ดอกของบัวฝรั่ง เป็นแบบดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ การผสมพันธุ์ของบัวฝรั่งเป็นแบบข้าม (Cross-pollination) โดยที่ยอดเกสรตัวเมียอยู่ส่วนกลางของดอกมีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายจาน เกสรตัวผู้จะเรียงรายเป็นวงอยู่รอบๆ ยอดเกสรตัวเมีย ถัดออกมาจะเป็นวงของกลีบดอก และกลีบเลี้ยง

ธรรมชาติของบัวสกุล Nymphaea มีกลไกในการป้องกันการผสมตัวเองภายในดอกเดียวกัน กลไกนี้เรียกว่า โพรโตจีนัส (protogynous) คือการที่เกสรตัวเมียพร้อมรับการผสมละอองเกสรจากดอกอื่น ก่อนที่เกสรตัวผู้ของดอกเดียวกันจะแพร่กระจายละอองเกสรออกมา ดังนั้น บัวในสกุลนี้เกสรตัวเมียพร้อมรับการผสมในวันแรกเมื่อดอกบาน ส่วนเกสรตัวผู้พร้อมกระจายละอองเกสรในวันที่ 2 และ 3 นอกจากนี้ ยังมีบางสายพันธุ์ที่เกสรตัวผู้พร้อมผสมกับเกสรตัวเมียในวันแรกของการบานในดอกเดียวกัน แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

บัวฝรั่งแต่ละสายพันธุ์มีความสามารถในการผสมสำเร็จไม่เท่ากัน บางพันธุ์ผสมเท่าไหร่ก็ไม่ติดฝัก บางพันธุ์นานๆ ครั้งถึงจะติดฝัก และบางพันธุ์เมื่อผสมสามารถติดฝักได้ง่าย ซึ่งวิธีเหมานี้ต้องอาศัยความชำนาญของนักปรับปรุงพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์บัวฝรั่งเหล่านั้นมาพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าพ่อแม่พันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลเพื่อเป็นความรู้พื้นฐาน

คุณไพรัตน์ ทรงพานิช อยู่บ้านเลขที่ 211/230 หมู่ที่ 9 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อีกหนึ่งนักปรับปรุงพันธุ์ ผู้ที่มีความหลงใหลในบัวฝรั่ง จนสามารถพัฒนาพันธุ์ได้บัวฝรั่งพันธุ์ใหม่ที่มีสีสันสวยงามแปลกตา มีลักษณะที่โดดเด่นกว่าพ่อแม่พันธุ์ และสามารถนำไปจดทะเบียนตั้งชื่อบัวพันธุ์ใหม่กับสมาคมบัวและไม้น้ำสากลที่สหรัฐอเมริกา และยังประสบผลสำเร็จในการผสมพันธุ์บัวข้ามสกุลย่อย ระหว่างบัวฝรั่งกับบัวผัน ได้ลูกผสมบัวฝรั่งที่มีดอกสีน้ำเงินต้นแรกของโลก ทำให้ได้รับรางวัล “Hall of Fame” จากสมาคมบัวและไม้น้ำสากลเมื่อปี 2552

นักวิชาการเกษตร

ผู้หลงใหลในบัวฝรั่ง

คุณไพรัตน์ เล่าว่า ทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยยางตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีความสนใจในบัวมากนัก จนประมาณปี 2542 ได้ตกหลุมรักบัวฝรั่งชนิดหนึ่งที่มีความสวยสดุดตา

“ในตอนแรก ผมก็ไม่ค่อยได้สนใจบัวเหมือนกัน เมื่อได้ไปพบบัวที่ชื่อ เพอรีส์ไฟโอปอล (Perry’s Fire Opal) ที่มีความสวยงามมาก ผมก็ได้ไปถ่ายรูปมา แล้วก็มาสอบถามกับ อาจารย์เสริมลาภ วสุวัต ซึ่งตอนนั้นท่านเกษียณอายุราชการไปแล้ว บัวที่ท่านปลูกอยู่ที่บ้านมีบัวชนิดนี้อยู่ ท่านก็เลยให้มาเลี้ยงดู มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกบัวของผมมาตั้งแต่นั้นเลย” คุณไพรัตน์เล่าถึงความเป็นมาของการปลูกบัวฝรั่งเพื่อเป็นไม้ประดับ

เมื่อได้บัวฝรั่งมาทดลองปลูก คุณไพรัตน์ เล่าว่า ไม่ได้นำมาปลูกเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว ยังหาพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามาปลูกเพิ่มเพื่อทดลองเก็บข้อมูลการออกดอกและการติดฝัก

“ก่อนหน้านั้นผมมีข้อมูลว่า บัวฝรั่งผสมพันธุ์มันไม่ค่อยติดโดยเฉพาะในบ้านเรา แต่ที่ผมปลูกอยู่ มันเกิดติดฝักเอง ก็คือผึ้งมาผสม มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มมาสนใจการผสมพันธุ์บัว โดยเรียนรู้จากท่านอาจารย์เสริมลาภ และก็สืบค้นจากตำราที่มีอยู่ในประเทศไทย กับเว็บไซต์ต่างประเทศ” คุณไพรัตน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการคิดริเริ่มผสมพันธุ์บัวฝรั่ง

การผสมพันธุ์บัวฝรั่ง

มีขั้นตอน ดังนี้

คุณไพรัตน์ เล่าว่า ก่อนที่จะทำการผสมพันธุ์บัวฝรั่ง ได้ทำการศึกษาหาข้อมูลเป็นอย่างดีว่าพันธุ์ไหนบ้างที่เหมาะสมนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์

“ผมเข้าไปดูในเว็บไซต์ victoria-adventure.org ว่าพันธุ์ไหนที่สามารถเป็นพ่อแม่ได้ พันธุ์ไหนที่สามารถเป็นต้นแม่ได้ พันธุ์ไหนที่สามารถเป็นต้นพ่อได้ พันธุ์ไหนที่ไม่ค่อยติดฝัก ซึ่งในนั้นจะเป็นข้อมูลพื้นฐาน เป็นเอกสารของคนฝรั่งเมื่อร้อยปีมาแล้ว เขายังบอกอีกว่าได้มีการพยายามเอาบัวฝรั่งมาผสมกับบัวผัน เพื่อให้ได้บัวฝรั่งที่มีดอกสีน้ำเงิน เพราะเดิมทีบัวฝรั่งจะไม่มีดอกสีน้ำเงิน จะมีเพียง 5 สี เท่านั้น คือ สีแดง สีขาว สีชมพู สีเหลือง และก็สีแสด ซึ่งคนฝรั่งเขาอยากเห็นบัวที่มีดอกสีน้ำเงิน สีม่วง ผมก็เลยทดลองเอาบัวฝรั่งทดลองผสมกับบัวผัน จนติดฝักและมาเพาะจนได้บัวฝรั่งที่มีสีม่วงน้ำเงินได้สำเร็จ เป็นคนแรกของโลก” คุณไพรัตน์ กล่าว

หลักการสำหรับผสมพันธุ์บัวมีวิธีดังนี้ คือ

  • นำละอองเกสรจากดอกของต้นพ่อมาใส่ในน้ำต้อยบนยอดเกสรตัวเมียของต้นแม่ ซึ่งดอกของต้นแม่ต้องมีการป้องกันการผสมเกสรไว้ก่อนโดยคลุมด้วยถุงผ้าแพร โดยนำผ้าแพรคลุมดอกที่ต้องการใช้ในการผสมพันธุ์ อย่างน้อย 1 วัน
  • เลือกต้นแม่ โดยพิจารณาจากดอกที่บานในวันแรกเป็นต้นแม่ ดอกของต้นแม่ที่บานในวันแรกสังเกตได้จากส่วนกลางของดอกจะมีน้ำต้อยอยู่ที่จานยอดเกสรตัวเมีย
  • เลือกต้นพ่อ โดยใช้ดอกที่บานในวันที่ 2 หรือ 3 อับเรณูจะเปิดออกเพื่อแพร่กระจายเรณู ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 08.00-10.00 นาฬิกา
  • ใช้กรรไกรตัดอับเรณูใส่ช้อน จะสังเกตุเห็นละอองเกสรสีเหลือง จากนั้นนำอับเรณูของต้นพ่อ ลงในจานยอดเกสรตัวเมียของดอกต้นแม่ ใช้พู่กันคนเบาๆ เพื่อให้ละอองเกสรแพร่กระจาย
  • คลุมดอกต้นแม่ที่ผสมเสร็จแล้วด้วยถุงผ้าแพรเหมือนเดิม และผูกรัดไว้พร้อมทั้งเขียนรายละเอียดผูกติดไว้กับก้านดอก
  • เมื่อดอกที่ผสมบานได้ 5 วัน ดอกที่ได้รับการถ่ายละอองเกสรจะจมใต้น้ำ จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าดอกที่จมมีการเน่าแสดงว่าไม่มีการผสมข้ามเกิดขึ้น แต่ถ้ากลีบเลี้ยงและกลีบดอกยังคงอยู่ รังไข่จะขยายตัวเจริญเติบโตเป็นฝัก
  • หลังจากนั้นฝักจะติดเมล็ด ซึ่งเมล็ดจะมีการห่อหุ้มด้วยเจลาติน (ช่วยให้เมล็ดกระจายตัวไปตามน้ำ ไปงอกตามที่ต่างๆ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป) จากนั้นนำถุงผ้าแพรซึ่งมีฝักอยู่มาแช่ในน้ำสัก 2-3 วัน เจลาตินจะเริ่มเปื่อย ล้างเมือกออกจากเมล็ด แยกเมล็ดที่ดีออกจากเมล็ดที่ผิดปกติ
  • นำเมล็ดที่สมบูรณ์ใส่ลงในภาชนะขนาดเล็กที่ใส่น้ำไว้ และปิดฝ่าให้สนิท นำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4-5 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อพักตัวของเมล็ด เรียกวิธีการนี้ว่า สตราติฟิเคชั่น (stratification)
  • หลังจากนั้นนำเมล็ดที่พักตัวไว้ นำมาเพาะที่อุณหภูมิปกติ เพื่อดูบัวฝรั่งลูกผสมว่าจะให้ลักษณะเด่นหรือด้อยออกมา

จากการผสมพันธุ์บัวฝรั่ง คุณไพรัตน์ บอกว่า นอกเหนือจากความรู้ความเข้าใจในการผสมพันธุ์แล้ว ความขยันหมั่นเพียรในการผสม และความหลากหลายในการจับคู่ผสม นับว่ามีความสำคัญ เพราะการที่จะประสบผลสำเร็จในการผสมข้ามพันธุ์บัว ไม่ใช่เพียงแต่ให้ได้ต้นใหม่ที่ต้องการ แต่องค์ประกอบต่างๆ ของบัวที่ทำการผสมข้ามนั้น ต้องเป็นที่น่าสนใจแก่คนทั่วไปเพื่อให้ลูกผสมมีความสวยงามแปลกตาไปกว่าเดิมที่มีอยู่ และควรได้รับการนำออกเผยแพร่แก่สาธารณชนด้วย

“ผมก็เขียนเป็นผลงานวิจัยขึ้นมา ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมบัวและไม้น้ำสากล และก็ในเว็บไซต์ victoria-adventure.org ตีพิมพ์ในเอกสารนานาชาติอีกฉบับหนึ่ง และทางสมาคมปรับปรุงพันธุ์พืชก็ได้มอบรางวัลให้ผมเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชดีเด่นในปี 2551” คุณไพรัตน์ กล่าวด้วยสีหน้าที่แสดงออกถึงความภาคภูมิใจของรางวัลที่ได้รับ

จากความพยายาม

นำมาสู่ความสำเร็จ

เมื่อคุณไพรัตน์ ทดลองผสมพันธุ์บัวฝรั่งด้วยการทดลองอยู่นานหลายปี สุดท้ายเขาก็ประสบผลสำเร็จสามารถได้ลูกผสมของบัวฝรั่งที่มีสีน้ำเงินต้นแรกของโลกได้สำเร็จ และได้ตั้งชื่อว่า “สยามบลูฮาร์ดดี้”

“เมื่องานจิวัยของผมออกไป ประมาณปี 52 ทางสมาคมบัวและไม้น้ำสากล ก็ได้มอบรางวัล “Hall of Fame” จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ ต่อมาประมาณปี 54 ช่วงนั้นน้ำท่วมใหญ่ บัวสยามบลูฮาร์ดดี้ ที่ผสมนั้นมันขยายพันธุ์ไม่ได้มันก็เลยตาย โดยอาจจะเป็นหอยกัดยอดทำให้ตายไป หลังจากนั้นผมก็ทำการพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยใช้วิธีการเดิมแต่จับคู่พ่อแม่ใหม่ ก็เลยได้พันธุ์ใหม่ชื่อควีนสิริกิติ์ (Nymphaea “Queen Sirikit”)  ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้”

“ส่วนปัญหาและอุปสรรคบางครั้งผสมแล้วไม่ค่อยติดเมล็ด เพราะเราใช้การผสมข้าม บางทีคู่พ่อแม่พันธุ์ไม่เหมาะสมกัน พอติดเมล็ดแล้วเมล็ดไม่ยอมงอก หรืออีกแบบเมล็ดงอกแต่ต้นไม่สมบูรณ์ไม่ยอมออกดอกก็มี ส่วนบัวสยามบลูฮาร์ดดี้ ที่ผสมแล้วตายไม่สามารถผสมใหม่ได้แล้ว พูดถึงเสียดายไหมก็เสียดาย แต่ทำให้เราได้วิธีการที่จะทำต่อไป ผลจากสิ่งนั้นก็ทำให้เราได้พัฒนามาเป็นบัวควีนสิริกิติ์ที่สามารถแตกหน่อได้ดีมาก เมื่อเทียบกับบัวสยามบลูฮาร์ดดี้ที่ไม่สามารถแตกหน่อได้” คุณไพรัตน์ กล่าว

ความนิยม ขึ้นอยู่กับความชอบ

ของแต่ละบุคคล

สำหรับคุณไพรัตน์ มองว่าเรื่องการตลาดของบัวนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมไม่มากนัก

“ตลาดของบัวมันยังน่าจะแคบอยู่ เพราะว่ามันไม่เหมือนกับพืชอื่นๆ ตลาดยังไม่กว้างมาก เพราะเป็นความชอบส่วนบุคคลมากกว่า ส่วนคนที่จะทำเป็นอาชีพ อาจจะต้องทำเป็นบัวที่ติดตลาดทั่วๆ ไป ถ้าจะผสมขึ้นมาใหม่บางครั้งมันก็ยากหน่อย มันต้องอาศัยความรู้ด้วย ส่วนตัวผม ผมไม่ได้จำหน่ายบัวที่ผสมเอง ผมจะให้ทางคุณพราวทางสวนปางอุบลเป็นคนจัดจำหน่ายอีกทีหนึ่ง ผมก็เหมือนเป็นนักพัฒนาพันธุ์ส่งให้ทางนั้นอีกที” คุณไพรัตน์ กล่าว

สำหรับท่านใดที่สนใจบัวฝรั่งที่พัฒนาพันธุ์ที่มีดอกสวยแปลกใหม่สะดุดตา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณไพรัตน์ ทรงพาณิช หมายเลขโทรศัพท์ (089) 980-0646

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0