โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไปเสพโลกกว้างผ่าน Google Arts & Culture กับ 9,000 ผลงานจาก 1,200 พิพิธภัณฑ์

The Momentum

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 10.25 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 10.20 น. • ศิริวรรณ สิทธิกา

In focus

  • กูเกิลเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ Google Arts & Culture เมื่อปี 2011 เพื่อให้ทุกคนในทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงผลงานที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างเท่าเทียม ปัจจุบันมีผลงานกว่า 9,000 ชิ้นงาน จากพิพิธภัณฑ์กว่า 1,200 ทั่วโลก รวมทั้งพิพิธภัณฑ์และองค์กรด้านศิลปะของไทยด้วย
  • ด้วยเทคโนโลยีของกูเกิล ทำให้คนดูสามารถส่องรายละเอียดของผลงานเหล่านั้นได้ลึกยิ่งกว่าการเข้าชมของจริง ด้วยเครื่องมือการซูมที่ทำให้เราเห็นถึงเท็กซ์เจอร์ไปจนรอยแตกของสี รายละเอียดเล็กๆ บนผลงานของศิลปินที่ยากจะมองด้วยตาเปล่า วิดีโอ 360 องศาที่นำชมพร้อมคำบรรยายเสมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ที่แสดงเนื้อหาของงานที่คัดสรรแล้ว ฯลฯ
  • เราจะได้ดูผลงานของศิลปินที่หลากหลาย ทั้งงานที่โด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลกอยู่แล้ว และผลงานที่เราไม่เคยรู้มาก่อน รวมถึงเรื่องราวอื่นๆ ที่จะทำให้รู้จักตัวตนของศิลปินเหล่านั้นมากขึ้น ไปจนถึงผลงานของศิลปินร่วมสมัย และนิทรรศการที่น่าตื่นตาตื่นใจที่ครอบคลุมถึงเรื่องราว ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม ฯลฯ หลายเรื่องดูเพลินจนลืมเวลา

ตอนที่กูเกิลเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่แสวงกำไร Google Arts & Culture เมื่อ 8 ปีก่อน เราอดคิดไม่ได้ว่าการเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์และผลงานศิลปะผ่านอินเทอร์เน็ตแบบนั้นจะสร้างความสนใจให้กับคนดูที่ทำได้เพียงนั่งอยู่หน้าจอได้สักแค่ไหน แต่แพลตฟอร์มนี้ก็มีการพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ทั้งเทคโนโลยีที่ทำให้คนดูสามารถส่องรายละเอียดของผลงานเหล่านั้นได้ยิ่งกว่าการเข้าชมของจริง การการรุกเข้าถึงคนดูมากขึ้นด้วยการเปิดให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นบน IOS และ Android การปล่อยฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานเซลฟี่แล้วอัพโหลดรูปตัวเอง เพื่อให้แอปพลิเคชั่นจับคู่ใบหน้าของผู้ใช้งานกับใบหน้าของคนในงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม ฯลฯ 

และจากการเริ่มต้นที่ได้ความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์นานาชาติ 17 แห่ง มาถึงวันนี้ Google Arts & Culture มีข้อมูลและผลงานศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ กว่า 1,200 แห่งทั่วโลก รวบรวมไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์นี้แล้ว 

ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มนี้ก็คือ เราสามารถท่องโลกออกสำรวจงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ สิ่งสำคัญของโลก ฯลฯ ได้ด้วยปลายนิ้ว ด้วยนวัตกรรมที่กูเกิลนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุรักษ์และแบ่งปัน เราสามารถมองเห็นรายละเอียดและเท็กซ์เจอร์ที่มีรอยแตกของสีที่วินเซนต์ ฟาน ก็อกห์ ปาดฝีแปรงลงบนภาพ ‘The Starry Night’ หรือ ‘La Nuit etoilee’ ภาพเซลฟ์พอร์เทรตของฟรีดา คาห์โล ‘Self-Portrait Dedicated to Leon Trotsky’ ในชุดกระโปรงปักยาวหรูหรา งามงดด้วยเครื่องประดับขดลวดดอกไม้บนเรือนผม ไปจนถึงข้อความอุทิศตัวที่สื่อสารผ่านจดหมายในมือเธอถึงเลออน ทรอตสกี นักปฏิวัติรัสเซีย ที่เราสามารถซูมอ่านตัวอักษรได้ชัดเจน 

ใน Google Arts & Culture จะนำเราชมสถานที่หรืองานที่จัดแสดง พร้อมด้วยเสียงบรรยายประกอบ ผ่านวิดีโอแบบ 360 องศา เช่นใน The Natural History Museum กับงานชุด Rhomaleosaurus-Back to Life ที่พาสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ใต้มหาสมุทรกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หรือให้คลิปพาเราไปนั่งฟรอนต์โรว์ในคอนเสิร์ตฮอลล์ระดับโลกอย่าง Opera National de Paris ชมการแสดงบัลเล่ต์จากคณะนักแสดงของเบนจามิน มิลล์ไพด์ (Benjamin Millepied) ซึ่งหากฟังภาษาอังกฤษไม่ทันก็ยังมีปุ่มแปลภาษาให้เราได้อ่านตามด้วย 

เทคโนโลยีสตรีทวิวของกูเกิล ก็ได้ถูกนำมาใช้บนแพลตฟอร์มนี้เช่นกัน โดยเครื่องมือนี้จะให้มุมมองการชมพิพิธภัณฑ์จากทั่วโลก เช่น ห้องจัดแสดงต่างๆ ของ British Museum เดินเข้าไปชมงานศิลปะใน The Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์ก โดยที่เราสามารถหมุนมุมมองได้เอง กระทั่งทะลุประตูเข้าไปสู่พระราชวังแวร์ซายล์ ที่เก็บมุมมองทั้งภายในพระราชวังและสวนรอบๆ มาไว้ที่หน้าจอ 

ไม่เพียงแต่พิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก หรือผลงานของศิลปินระดับอุโฆษที่เรากล่าวถึง Google Arts & Culture ยังมีพื้นที่ของศิลปินร่วมสมัย และแกลเลอรีซึ่งนำเสนอผลงานที่น่าสนใจมารวมเอาไว้ด้วย และเราขอใช้พื้นที่นี้นำเสนอนิทรรศการที่ดึงดูดให้เราคลิก กด ซูม ชม อ่าน และสำรวจโลกของศิลปะในพิพิธภัณฑ์ดิจิทัลแห่งนี้อย่างลืมเวลา 

ผลงานของเวอร์เมียร์ 36 ชิ้น จาก 18 พิพิธภัณฑ์ใน 7 ประเทศ

ถ้าคุณยังติดตากับแววตาสุกสกาวของหญิงสาวกับต่างหูมุก หรือ ‘Girl with a Pearl Earring’ ของโยฮันเนส เวอร์เมียร์(Johannes Vermeer) จิตรกรชาวดัตช์ที่โดดเด่นในด้านการวาดภาพผู้หญิงซึ่งอยู่ในภวังค์อารมณ์ ห้วงความคิด และในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความเหมือนจริง และการใช้แสงอย่างละเมียดละไม แม้จะมีความขัดสนในชีวิต แต่เวอร์เมียร์ก็เลือกใช้สีที่มีราคาแพงมาก และทำงานช้า ผลงานของเขาจึงมีออกมาไม่มากนัก และมันกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งถ้าคุณอยากจะเสพผลงานจริงของเขาให้ครบ เราเลยอยากชวนคุณย่นเวลาด้วยการเข้ามาชมคอลเล็กชั่นของเวอร์เมียร์เสียในนี้ ที่รวบรวมผลงานภาพทั้งหมด 36 ภาพของเขาเอาไว้ในที่เดียวกัน นอกจากภาพผลงานของเขาแล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับจิตรกรผู้ลึกลับคนนี้ ทำไมอยู่ๆ เขาถึงโด่งดังหลังจากเสียชีวิต สิ่งที่คุณไม่เคยรู้เกี่ยวกับเวอร์เมียร์ ฯลฯ รวมไปถึงบทวิเคราะห์ถึงนัยที่แฝงอยู่ภายใต้ผลงานของเขา 

เมื่อปิกัสโซ่วางแปรงแล้วใช้แสงวาดรูปแทน

ในงานชุด ‘When Picasso Put Down His Brushes and Painted With Light Instead’ เราได้เห็นการทำงานของปิกัสโซ่ที่ต่างไปจากที่คุ้นเคย จากการทำงานร่วมกันของปิกัสโซ่กับจีจอน มิลิ ช่างภาพชาวอัลแบเนียน สำหรับตีพิมพ์ลงในนิตยสารLifeในนิวยอร์ก เมื่อปี 1949 การทำงานชุดนี้ปิกัสโซ่ต้องวางแปรงสีแล้วถือไฟแช็กไว้ในมือเพื่อสร้างงานศิลปะในอากาศ โดยมิลิจะใช้ทักษะในการถ่ายภาพของเขาบันทึกภาพเส้นสีที่เกิดจากการวาดของปิกัสโซ่ลงบนฟิล์ม ด้วยเทคนิคนี้ทำให้ภาพที่ปิกัสโซ่วาดหายวับไปในไม่กี่วินาที แต่กล้องบันทึกก็ต่ออายุให้ผลงานชุดนี้ของเขามีอายุยืนยาวมาจนบัดนี้ 

‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ นิทรรศการไทยในรูปแบบดิจิทัล 

เชื่อว่ามีหลายคนที่พลาดชมนิทรรศการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ที่จัดไปเมื่อช่วงต้นปี แต่เรายังสามารถเข้าชมนิทรรศการชุดนี้ได้ในรูปแบบดิจิทัลและอินเตอร์แอ็กทีฟ ซึ่งถือเป็นจุดหมายเหตุในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีมิติ ที่แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน รวมผลงานสร้างสรรค์ 138 รายการ พร้อมด้วยมุมมองสตรีตวิวในการสำรวจวังหน้าในมุมมองต่างๆ ที่น่าสนใจคืองานจิตรกรรมฝาผนังที่มีความซับซ้อนซึ่งสร้างสรรค์โดยนักพฤกศาสตร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติในกรอบภาพเดียวกัน ที่เราสามารถซูมเข้าไปเห็นรายละเอียดมากกว่าที่เคย ตำราพิชัยสงครามที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระนามของพระมหากษัตริย์และขนบการตั้งพระนาม นิทรรศการผัสสะแห่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ของอินซิทู ที่ในแพลตฟอร์มนี้ยังนำเสนอผลงานเพลง Ghosts of Wang Na เอาไว้ได้อย่างไพเราะ รวมถึงการแสดงขับร้องประสานเสียง โดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูในแบบ 360 องศาซึ่งเป็นการแสดงที่ได้รับการปรับแต่งสำหรับการแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยโดยเฉพาะ ก็ได้รับการบรรจุลงบนแพลตฟอร์มนี้ด้วย 

โลกของการพับที่ชวนหลงใหลของญี่ปุ่น

ศิลปะการพับของญี่ปุ่น ปรากฏอยู่บนศิลปะการตกแต่งแบบดั้งเดิม อย่างการทำพัดกระดาษ การเก็บพับกิโมโนเข้าในกระดาษตาโตชิ ประติมากรรมพอร์ซเลนที่สะท้อนความงามของโอริกามิ ไปจนถึงการพับที่ประยุกต์สู่วงการแฟชั่น เช่น แบรนด์ Issey Miyake ที่เราคุ้นตากันดีกับงานผ้าพลีตอันโด่งดัง ด้วยเทคนิคการจับจีบพลีตจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ หรือ ‘Wizard of Jeans collection’ ของฮิโรอากิ โอยะ (Hiroaki Ohya) ที่การพับนั้นนำมาสู่กระโปรงฟูฟ่อง นิทรรศการชุดนี้มีชื่อว่า ‘The Mesmerizing world of Japanese Folds’ จัดขึ้นที่ Museum of Applied Arts and Sciences เมื่อปี 2015 ได้รับการนำกลับมาเผยแพร่ใหม่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งมีให้ชมทั้งในรูปแบบนิทรรศการภาพ มุมมองแบบขยายให้เห็นรายละเอียด และวิดีโอประกอบดนตรี

เรื่องเล่าของงานคราฟต์จากอินเดีย

ความสนุกของอินเดียคือเราจะมองเห็นงานศิลปะอยู่ในทุกที่ ความกล้าหาญในการใช้สีอย่างฉกาจฉกรรจ์กับผลลัพธ์ที่ออกมาคือความมหัศจรรย์ที่บางอย่างก็อดทึ่งไม่ได้ ในนิทรรศการชุด ‘Crafted in India’ พาเราลุยไปส่องงานคราฟต์ ทั้งงานเย็บปักถักทอ งานแกะ งานเพนต์ ฯลฯ ที่นำมาสู่ข้าวของตกแต่ง เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงเพื่อความบันเทิงเริงใจแบบอินเดี๊ย อินเดีย ด้วยเนื้อหาที่พาเราไปรู้จักกับงานภารตะแบบลึก ที่เชื่อเถอะว่าเราจะใช้เวลากับงานชุดนี้ไปไม่น้อยเลย เพราะมันสนุกมาก! 

เดินทางสู่โลกแห่งถุง Bilum ที่ถักด้วยมือของปาปัวนิวกินี

ถุงใบเดียวมีความสำคัญแค่ไหนต่อชายชาวปาปัวนิวกินี? เราค้นคำตอบนี้กันด้วยนิทรรศการชุด ‘Bilum: The Backbone of Papua New Guinea’ ซึ่งเล่าเรื่องราวของเส้นใยบิลัม ที่ทำจากไม้แห้งบิด และหญิงชาวปาปัวนิวกินีจะถักเส้นใยนี้เป็นถุงตาข่าย ที่ชายชนเผ่าพกติดตัว บ้างสะพายพาดลำตัว บ้างทูนสายไว้บนศีรษะ ความสำคัญของมันไม่ได้เป็นแค่ถุงที่ไว้บรรจุข้าวของ แต่มันบรรจุสายใยของคนในครอบครัว ที่สืบทอดกันมาจากย่าจากยาย สู่แม่ ผ่านมาถึงตัวเขา เด็กที่เกิดใหม่ มารดาจะให้ทารกได้นอนลงในถุงกระสอบที่ทอจากบิลัมที่ถักห่วงอย่างแน่นหนา เป็นประเพณีสืบตามกันมาของชาวชนเผ่า แต่หลังการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ถุงบิลัมที่เคยเป็นประเพณีอันเหนียวแน่นและมีความหมายในเชิงวัฒนธรรมกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไร นิทรรศการที่เต็มไปด้วยสีสันนี้กำลังจะบอกเรา 

ด้วยแพลตฟอร์มที่สามารถบรรจุข้อมูลเพิ่มได้เรื่อยๆ ทำให้ปัจจุบันนี้มีผลงานกว่า 9,000 ชิ้นงานที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ดิจิทัล ของ Google Arts & Culture ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างไปถึงนิทรรศการที่เปิดโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ครอบคลุมไปทั้งประวัติศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม ฯลฯ แน่ละว่าอาจจะมีเสียงค้านว่าดูยังไงก็ไม่อิ่มตาอิ่มใจเท่าดูของจริง แต่ในเมื่อเราไม่มีโอกาสตามไปดูของจริงได้ทั้งหมด การใช้เทคโนโลยีในมือให้เป็นประโยชน์ก็เปิดประตูให้เราออกไปสู่โลกกว้างได้เหมือนกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0