โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไปดูต้น “มักกะลีผล” จิตรกรรมฝาผนังของฝีมือช่างพื้นบ้านที่ยังมีชีวิตในวัดนาพรม

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 21.00 น.
มักกะลีผล 15มค

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ คุณบัวไทย แจ่มจันทร์ ที่ได้บันทึกเรื่องราวของภาพแต้มสีบริเวณฝาผนังในพระอุโบสถไว้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง

ท่ามกลางอากาศร้อนระอุกลางเดือนเมษายน คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ ได้พาผมเข้าไปกราบหลวงพ่อพระครูพิศาล วัชรกิจ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนาพรม เพื่อเยี่ยมชมจิตรกรรมล้ำค่าที่ฝาผนังพระอุโบสถวัดนาพรม ตำบลนาพันสาม ซึ่งทั้งคุณทวีโรจน์ และหลวงพ่อได้ให้ความกระจ่างในเรื่องราวของโบสถ์และเจดีย์โบราณ

ผมได้พบว่าพระอุโบสถเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่หน้าศาลาการเปรียญ มีขนาดความยาว 5 ห้อง มีเสาอิงโดยรอบ แต่ไม่มีบัวปลายเสา ฐานอุโบสถเป็นฐานตรงไม่ตกท้องช้าง ฐานสกัดด้านหน้าและด้านหลัง ต่อยื่นเป็นฐานพระและใบเสมา มีมุขโถงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เฉพาะด้านหน้าเสารองรับหลังคาเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสอง มีบัวหัวเสาเพดานเป็นลายยกดอกสานด้วยไม้ไผ่ เส้นตอกชุดหนึ่งเป็นสีน้ำเงิน ที่สานอย่างเสื่อรำแพนมีลวดลายสวยงามมาก

ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่าง 3 บาน หลังคาอุโบสถทำเป็น 2 ลด มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลายส่วนอยู่ในสภาพชำรุดที่ต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงในเร็ววัน

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่เขียนขึ้นบนผนังฉาบปูน รองพื้นด้วยดินสอพอง จิตรกรรมที่เขียนขึ้นนี้มีเพียง 3 ด้าน ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหน้าพระประธาน ส่วนด้านหลังพระประธานมิได้เขียนจิตรกรรมเอาไว้ คุณบัวไทยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นได้ว่ายังมิทันได้เขียน เพราะผนังด้านซ้ายและด้านขวา ยังมีร่องรอยของการร่างภาพโดยมิได้ลงสี

กระบวนการใช้สีนั้นพบว่า สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นผสมกาว มีสีดินแดง เขียว เหลือง คราม น้ำเงิน ส้ม น้ำตาล ดำ และที่แปลกตาคือสีส้ม และสีน้ำตาล ซึ่งใช้กันไม่มากนักในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ดูจากฝีมือเข้าใจว่า เป็นช่างพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากจิตรกรรมสมัยอยุธยา

คุณทวีโรจน์ชี้ให้ดูถึงวิธีการจัดองค์ประกอบของภาพ ซึ่งไม่ยุ่งยากนัก และก็ดูลงตัว เป็นต้นว่า ที่ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ แม้จะเป็นเรื่องราวที่ต้องมีภาพประกอบมาก แต่ก็จัดร่างภาพให้น้ำหนักทั้งสองด้านเท่าๆ กัน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่กึ่งกลางภาพส่วนผนังด้านซ้ายและขวา เขียนเรื่องราวที่เป็นชาดก แต่ไม่ได้เขียนเป็นเรื่องราวติดต่อกัน

เมื่อพิจารณาดูการตัดเส้นแม้จะไม่ประณีต แต่ท่าทีของเส้นนั้นมีพลังเป็นอย่างประหลาด ทั้งการสะบัดปลายพู่กัน มีความสม่ำเสมอไม่แข็งกระด้าง เส้นที่ตัดใช้สีดินแดงและสีดำ เพื่อเน้นภาพให้เด่นงามน่าดูยิ่งขึ้น

ผนังด้านหน้ามีจุดเด่นตรงการเขียนภาพชาวฝรั่งไว้อย่างได้อารมณ์ อีกทั้งเขียนรูปสิงห์แต่หัวเป็นมนุษย์ ซึ่งแปลกตาดีมาก แม่พระธรณีก็เขียนได้อ่อนช้อยสวยงาม ทั้งลีลาและทีท่า เสื้อผ้า ตลอดจนเครื่องประดับเขียนได้สมสัดส่วน ตัวลายก็เก็บรายละเอียดได้มาก มีการสอดแทรกใส่ภายในลายด้วยการเติมแววสีต่างๆ ไว้ด้วย และการตัดเส้นก็ดูมีน้ำหนักสมส่วน

สำหรับบนผนังด้านซ้ายและขวา ก็เขียนได้ละเอียดอ่อน มีการเว้นสีพื้นและเขียนรูปดอกไม้ร่วง เล่นน้ำหนักของสีแดงจนไปถึงสีขาว ทำให้กลีบดอกไม้ดูนิ่มนวลและเป็นธรรมชาติ ที่บัลลังก์ก็เขียนลวดลายแตกต่างกัน

ส่วนผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนต้นไม้ขณะมีนกเกาะอยู่ โดยเฉพาะต้นนารีผลหรือมักกะลีผลก็เขียนได้อย่างมีชีวิตสมกับเป็นต้นไม้ในป่าหิมพานต์ ที่หลายคนอาจเคยจินตนาการไปต่างๆ ดูว่าผู้เขียนพยายามตัดเส้นและแทรกแนวคิด ส่วนพื้นหลังใช้สีดินแดง ซึ่งเน้นให้ภาพดูสง่า และโดดเด่น

ต้นมักกะลีผล เป็นต้นไม้ในป่าหิมพานต์ ออกลูกเป็นหญิงอันดึงดูดให้พวกวิทยาธร คนธรรพ์ นักสิทธิ์ นิยมเหาะมาเด็ดนารีผลไปเชยชมเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งบางทีก็ถึงกับแย่งชิงฆ่ากันตาย ศพตกลงโคนต้นไม้ และก็จะมีฤาษีศักดิ์สิทธิ์ตั้งกองไฟคอยชุบชีวิตพวกเหล่านี้ให้คืนชีพกลับไปสู่ถิ่นพำนักของตน

ที่ใต้ต้นมักกะลีผลนี้ มีจารึกตัวเขียนเส้นใต้ดำไว้ด้วย อ่านได้ความว่า “ร.ศ. 120 ยกหอสวดมนต์” ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “ร.ศ. 123 ยกช่อฟ้า” ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดนาพรม จึงน่าจะเขียนขึ้น ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม ภาพมักกะลีผล หรือต้นนารีผล เป็นภาพร่างที่ยังลงสีไม่แล้วเสร็จ สำหรับผนังด้านหน้าพระประธาน เขียนภาพชุดมารผจญตอนบนเป็นภาพยักษ์ขี่ช้าง ขี่ราชสีห์ คชสีห์ ถือของ้าว ถือดาบ ถือธนู เรียงลำดับมาเป็นแถว ใบหน้ายักษ์เขียนอย่างหน้ามนุษย์ แต่เน้นเส้นสีได้ดูดุร้าย ซึ่งคุณบัวไทยสันนิษฐานว่า น่าจะได้แนวคิดมาจากภาพจิตรกรรมวัดใหญ่สุวรรณาราม

ส่วนภาพมารแถวล่างเขียนเป็นภาพฝรั่งต่างชาติขี่ม้า ขี่เสือ ขี่วัว เหน็บมีดโต้ และภาพคนจีนไว้หางเปียขี่เสือ มีลูกชายนั่งซ้อนอยู่ข้างหลัง ซึ่งต่างก็โถมเข้าหาหมายประหัตประหารพระพุทธองค์ ร้อนถึงแม่พระธรณีต้องบีบน้ำออกจากมวยผม จนท่วมเหล่ามาร ท่าทางของแม่พระธรณี ก็ดูเส้นอ่อนพลิ้วดุจมีชีวิต

เมื่อพิจารณาดูจะพบว่า ภาพตอนนี้แบ่งเส้นไว้ชัดเจน ด้านขวามือเป็นภาพพื้นดินเขียนด้วยสีส้มอมแดง ด้านซ้ายมือเป็นภาพน้ำท่วมเหล่ามาร เขียนด้วยเส้นคลื่นสีครามน้ำเงิน เหล่ามารแสดงอาการหวาดกลัวต่างๆ กัน บ้างว่ายน้ำหนีจระเข้ หนีปลาฉลาม บ้างประนมมือเหนือศีรษะ บ้างถูกขบกัด ดูสับสนอึงคะนึง ภาพส่วนใหญ่ใช้สีส้ม และเน้นเส้นด้วยสีครามน้ำเงิน ส่วนช้างทรงของพญายักษ์เอี้ยวศีรษะกลับหลัง เป็นการแสดงให้ทราบว่าไม่เดินหน้าอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ภาพตอนบนได้เขียนภาพเทวดา และภาพดอกไม้ร่วงลงมาเป็นแถว, ด้านละ 9 แถว ในแต่ละแถวดอกร่วงลงตรงกันพอดิบพอดี

ผนังด้านซ้ายพระประธาน เขียนภาพพระอดีตพระพุทธเจ้า 4 องค์ มีพระอัครสาวกนั่งประนมหัตถ์ข้างละองค์ เขียนยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ องค์ทางตอนหน้าโบสถ์เป็นภาพร่างยังไม่ได้ลงสี ส่วนองค์มุมด้านหลังพระประธานก็ยังไม่ได้เขียนองค์พระพุทธเจ้า แต่เขียนพระสาวกไว้ 1 องค์

ส่วนผนังด้านขวาพระประธาน เขียนแบบเดียวกับด้านซ้าย ซึ่งเขียนภาพเสร็จโดยตลอด เป็นห้องๆ เรียงต่อกัน จะสังเกตเห็นได้จากภาพฉัตรสามชั้น ปักกั้นอยู่ระหว่างห้องพื้นที่ว่าง ตอนบนของผนังเขียนภาพดอกไม้ร่วง ภาพอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิอยู่บนฐานปัทม์ มีผ้าทิพย์ทอดยาวลงมา เป็นภาพดอกบัวกลีบซ้อนเรียงกันอย่างมีระเบียบ ด้านหลังพุทธองค์เป็นซุ้มเรือนแก้ว ออกเป็นเหลี่ยม เขียนลวดลาย และเขียนพุ่มใบโพธิ์ซ้อนอยู่ข้างหลังอีกชั้นหนึ่ง

ภาพอดีตพระพุทธเจ้า พระวรกายเป็นสีเหลือง จีวรสีดินแดง พื้นหลังเป็นสีส้มพุ่มใบโพธิ์เน้นด้วยสีครามน้ำเงิน ลวดลายฐานปัทม์เน้นด้วยสีครามน้ำเงินและสีดำ ซุ้มเรือนแก้วเน้นด้วยการสลับสี ส่วนใหญ่เป็นสีส้มแดง ตัดเส้นด้วยสีครามน้ำเงินและดำ

ภาพพระอัครสาวกด้านขวาของพระพุทธองค์ กายสีขาวนวล ด้านซ้ายสีส้มอมแดง จีวรลงด้วยสีน้ำตาล

อาจกล่าวได้ว่า ลักษณะจิตรกรรมพื้นบ้าน บนฝาผนังพระอุโบสถวัดนาพรม แสดงให้เห็นถึงฝีมือและความบันดาลใจแนวคิด ของช่างพื้นบ้านที่มีความสามารถสูง ลักษณะการเขียนก็แสดงออกมาด้วยเส้นง่ายๆ แต่มีความงามอย่างน่าชื่นชมยิ่ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0