โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ไทยเป็นชาติ “กสิกรรม” แต่ทำไม “กระดูกสันหลังของชาติ” ยังยากจน!?

Another View

เผยแพร่ 02 มี.ค. 2562 เวลา 01.00 น.

ไทยเป็นชาติ “กสิกรรมแต่ทำไมกระดูกสันหลังของชาติยังยากจน!? 

“กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม”

เราคงได้ยินเพลงนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ หลาย ๆ คนก็อาจจะเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเกษตรกรหรือปศุสัตว์ และคำกล่าวพวกนี้ก็ไม่ได้เกินเลยความเป็นจริง ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศ “ผู้ผลิต” ทางการเกษตรขนาดใหญ่ของโลกและมีการส่งออกสินค้าทางเกษตรจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา อ้อย และถั่วเหลือง

แต่ทำไม อาชีพที่ใคร ๆ ก็กล่าวว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” กลับกลายเป็นอาชีพที่ลำบากยากจนที่สุด? 

ภาพของเกษตรกรที่ออกมาร้องไห้ อดอาหาร ประท้วงเรื่องราคาค่าข้าว ภาพของลูกหลานชาวนาตาดำ ๆ ที่ต้องมาออกรายการร้องเพลงสู้ชีวิตเพื่อ “ปลดหนี้” ให้กับครอบครัวที่เป็นเกษตรกรนั้นกลับเป็นภาพที่เราเห็นได้บ่อยไม่แพ้กันตลอดชีวิตที่ผ่านมา 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่ออาชีพเกษตรกรรมสำคัญที่สุด ก็ควรจะให้ค่าตอบแทนสูงสุดไม่ใช่หรือ? เขาทั้งหลายต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้างที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขาได้อยู่ดีกินดี? 

1.) ปัญหาผลผลิตไม่แน่นอน 

ตั้งแต่ในอดีตมา ผลผลิตทางการเกษตรก็เป็นสิ่งที่ต้องขึ้นกับธรรมชาติและฤดูกาลมากอยู่แล้ว ยิ่งในยุคปัจจุบันที่โลกต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน โรคระบาด ศัตรูพืชชนิดใหม่ ๆ ก็ยิ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับผลผลิต และเมื่อจำนวนการผลิตไม่แน่นอน กำลังในการขายก็ย่อมน้อยลง และอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องภาระหนี้สินได้ เพราะต้นทุนในการเพาะปลูกสูง และให้ผลตอบแทนน้อย 

2.) ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง 

เกษตรกรรายย่อยหลายรายไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง บ้างก็รับจ้างทำนา บ้างก็ต้องทำกินบนที่ดินของนายทุน บ้างเคยมีที่ก็ต้องเอาไปจำนองเพราะปัญหาต้นทุนการเพาะปลูก บ้างก็ต้องเช่าที่ดินในการทำการเกษตรแล้วก็เป็นหนี้ วนเวียนไปอยู่อย่างนั้น เพราะไม่มีที่ดินสินทรัพย์เป็นของตัวเอง 

3.) พ่อค้าคนกลางกดราคา  

เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขายผลิตภัณฑ์การเกษตรของตัวเองกับพ่อค้าคนกลางซึ่งรับซื้อจำนวนมากในราคาถูก ๆ เพื่อนำไปขายเก็งกำไรเพิ่มในราคาที่สูงขึ้น หลาย ๆ ครั้งพวกเขาไม่รู้ราคาตลาดและถูกกดราคา ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยพ่อค้าและไม่กล้ามีปากมีเสียงเพราะกลัวว่าคราวต่อไปจะไม่มีใครมาซื้อผลิตผลของพวกเขาอีก เกษตรกรหลายครัวเรือนจึงยอมรับเงินน้อย ๆ ดีกว่าไม่ได้รับเงินเลย 

4.) ไม่รู้วิธีการเพิ่มมูลค่า 

เมื่อผลผลิตไม่ได้ถูกซื้อขายโดยตัวเกษตรกรเองแล้วเกิดการผลิตเกินจำนวนที่พ่อค้าคนกลางต้องการต่อรองซื้อขึ้นมาก็จะเกิดผลผลิตเฟ้อ ซึ่งในบางครั้งเกษตรกรไม่ได้รู้วิธีในการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และทำให้เกิดปัญหาผลผลิตทิ้งเสียและต้องเสียผลผลิตตรงนั้นไปโดยเปล่าประโยชน์ 

การแก้ไขปัญหาการเกษตร เป็น “โจทย์” หลักของแทบจะทุก ๆ รัฐบาล แต่ก็แทบไม่เคยมีรัฐบาลไหนเลยที่จะแก้ปัญหาให้เห็นผลได้จริงและยั่งยืน ดังนั้น การที่ภาคการเกษตรจะเข้มแข็งขึ้นมาได้นั้นขึ้นอยู่กับเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคเองที่อาจเริ่มสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่มาจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือนายทุนบริษัทใหญ่ เกษตรกรเองที่อาจต้องเริ่มศึกษาวิธีการขาย การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ภาครัฐเองที่จะต้องมีนโยบายในการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ผ่าน ๆ ไป 

ยิ่งช่วงนี้ใกล้หาเสียงแล้ว เรามารอดูนโยบายดี ๆ กันดีกว่า ว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเกษตรกรและพรรคไหนจะทำได้จริงบ้าง และเมื่อไหร่ ที่เกษตรกรชาวไทยจะได้มั่งมีศรีสุขสมกับฐานะและคุณค่าของอาชีพพวกเขาซึ่งเป็นดั่งกระดูกสันหลังที่แท้จริงของประเทศไทยเราสักที 

 

ภาพประกอบ

https://www.matichonweekly.com/column/article_14486

http://farmkaset.blogspot.com/2015/07/blog-post_73.html

https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/38298

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0