โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ไทยเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนต่ำสุดในรอบ 10 ปี

TODAY

อัพเดต 04 มิ.ย. 2563 เวลา 06.42 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2563 เวลา 06.42 น. • Workpoint News
ไทยเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนต่ำสุดในรอบ 10 ปี

สนค.เผยไทยเข้าสู่สภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคม ติดลบร้อยละ 3.44 ต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำสุดใน 10 ปี ชี้ในทางเทคนิคเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว 

วันที่ 4 มิ.ย.2563 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.44 (YoY) โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ นอกจากนั้นฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสด ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.01 (YoY) เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.- พ.ค.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.04 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.40 (AoA)

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2563
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ นอกเหนือจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของ อุปสงค์และสงครามการค้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยทอนที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้น เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ (-1.0) ถึง (-0.2) (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0