โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ไทยเข้ม 3 มาตรการติดตามสถานการณ์เชื้ออีโบลา

TODAY

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 04.01 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 04.00 น. • Workpoint News
ไทยเข้ม 3 มาตรการติดตามสถานการณ์เชื้ออีโบลา

*กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศ เตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวัง และป้องกันโรค เน้นดำเนิน 3 มาตรการหลักอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง หลัง WHO ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ *

วันที่ 18 ก.ค.2562 จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหลังพบการระบาดในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก  ภายหลังจากที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และองค์การสหประชาชาติ ได้เข้าไปให้การช่วยเหลือในการป้องกันและควบคุมโรค แต่การระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพบการระบาดในพื้นที่ใหม่ จึงออกประกาศดังกล่าว เพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาประเทศ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยกรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา และได้เตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย ไม่มีรายงานผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด

กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคด้วยมาตรการหลัก ซึ่งดำเนินการมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าจากองค์การอนามัยโลก เฝ้าระวังผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ทั้งในด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และในชุมชน คัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคทั้งที่ด่านควบคุมโรคที่สนามบิน ด่านทางน้ำและด่านพรมแดนทางบก
2.เตรียมความพร้อมในการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งไทยได้รับความร่วมมือจากสหรัฐฯ ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสชนิดนี้
3.มาตรการดูแลรักษา หากมีผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายสงสัย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อที่มีอันตราย เช่น ไข้หวัดนก โรคซาร์ส ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีความพร้อมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ซึ่งองค์การอนามัยโลกประเมินว่า นักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีการติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย
2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร
3.การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ
4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ
5.หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0