โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 08 พ.ค. 2563 เวลา 04.04 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 04.40 น. • Thansettakij

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 25-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 31-36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
                                  
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 – 10 เมย.63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังซาอุดีอาระเบียเรียกประชุมฉุกเฉินกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตลาดคาดว่ามีแนวโน้มจะกินเวลานานหลายเดือน อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลกปิดเมือง และจำกัดการเดินทางของประชาชน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่หลายประเทศประกาศพร้อมใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 

การตอบรับของตลาดต่อกระแสข่าวที่กลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะหันหน้ากลับมาเจรจากันอีกครั้ง หลังซาอุดีอาระเบียเรียกประชุมฉุกเฉินกลุ่มโอเปกและพันธมิตรในวันจันทร์ที่ 6 เม.ย. นี้ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการสร้างเสถียรภาพของตลาดน้ำมันหลังตลาดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตลาดคาดการณ์ผลของการเจรจาว่าซาอุดิอาระเบียอาจจะลดกำลังการผลิตลงที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมี.ค. 63 

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ สื่อสารผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าได้มีการหารือกับรัสเซียและซาอุดีอาระเบียเบื้องต้นเพื่อหาหนทางในการรักษาระดับราคาน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ตัดสินใจเรียกประชุมผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการผลิตสูง เพื่อหารือถึงมาตรการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือธุรกิจการผลิตน้ำมันดิบของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามราคาในขณะนี้ 

ตลาดน้ำมันยังคงถูกกดดันต่อเนื่อง หลังหลายประเทศประกาศปิดเมือง จำกัดการเดินทางของประชาชน งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ระงับการเดินทาง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา คาดว่าประชากรทั่วโลกกว่า 3 พันล้านคนถูกจำกัดการเดินทางและกักตัวอยู่บ้าน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างหนัก และทำให้ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี โดยล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 จะปรับลดลงกว่า 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวของความต้องการใช้น้ำมันที่มากสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

 

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 27 มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากโรงกลั่นลดกำลังการผลิต ตามความต้องการใช้ที่ปรับตัวลดลง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังฉุดให้เศรษฐกิจโลกซบเซา และส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่ม G20 ตกลงร่วมกันที่จะอัดฉีดเงินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรับมือต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสหรัฐฯ ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ของกลุ่มยูโรโซน รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศจีนและสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 มี.ค. – 3 เมย. 63) 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 6.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 28.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 9.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 34.11 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 24.65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก หลายประเทศจำกัดการเดินทางของประชาชน และงดกิจกรรมต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกดดันความความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก 

ที่มา : บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2563
     

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0