โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 15 - 19 ก.ค. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 8 -12 ก.ค. 62

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 19.00 น.

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57 - 62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63 - 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (*15 - 19 ก.ค. 62) *

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากแรงหนุนของความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษและสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลง จากผลกระทบของพายุโซนร้อนแบร์รี่ที่ก่อตัวเป็นเฮอริเคน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดน้ำมันในช่วงนี้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันดิบคาดได้รับแรงหนุนจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง ล่าสุดอังกฤษทำการยึดเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติอิหร่านบริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ โดยอังกฤษระบุว่าเรือดังกล่าวกำลังมุ่งหน้าไปซีเรีย ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป อิหร่านจึงได้ออกมาตอบโต้โดยการพยายามที่จะยึดเรือสัญชาติอังกฤษขณะแล่นผ่านช่องแคบฮอร์มุซ นอกจากนี้ อิหร่านยังออกมาเตือนสหรัฐฯ ว่าอิหร่านอาจพลาดไปยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินของสหรัฐฯ ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ หลังสหรัฐฯ พยายามที่จะขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ในการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายฝั่งของอิหร่านและเยเมน
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มจะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคยังคงร่วมมือที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. 61 โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคในเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 29.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงราว 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือน พ.ค. 62 และเป็นระดับการผลิตที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับตัวลดลง ตามกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลด หลังพายุโซนร้อนแบร์รี่ ก่อตัวบริเวณอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้แหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกต้องปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับร้อยละ 59 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดในอ่าวเม็กซิโก หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยพายุโซนร้อนแบร์รี่ที่ก่อตัวเป็นเฮอริเคน อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบมากกว่าที่คาด
  • ความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มเติบโตช้าลง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2562 ลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปัจจัยที่น่าจับตามอง คือการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโลก และตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 - 12 ก.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 2.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 60.21 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 66.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอังกฤษ หลังอังกฤษยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่าน บริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้อิหร่านเกิดความไม่พอใจ ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ก.ค. 62 ปรับลด 9.5 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 945 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 62 ปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 8 เดือน จากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0