โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 12 - 16 พ.ย. 61

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 12 พ.ย. 2561 เวลา 19.00 น.

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58 - 63 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68 - 73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (12 - 16 พ.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน หลังสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านสามารถนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร ประกอบกับการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงยืดเยื้อ นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุน หลังสหรัฐ ฯ ยืนยันที่จะลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอย่างต่อเนื่องและมีเป้าหมายที่จะให้เหลือศูนย์ในที่สุด

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่อาจล้นตลาด หลังสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ประกอบด้วย จีน อินเดีย กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ สามารถนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร โดยการผ่อนผันดังกล่าวจะให้กับประเทศที่ลดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น ล่าสุด สหรัฐฯ ยังคงยืนยันถึงเป้าหมายที่จะลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านให้เหลือศูนย์ เพียงแต่จะทำการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อคงราคาน้ำมันดิบไม่ให้สูงเกินไป
  • อุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านอาจไม่ปรับตัวลดลงมากอย่างที่คาดไว้ หลังอิหร่านอ้างว่าสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ตามปริมาณที่ต้องการ ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ อิหร่านยังพยายามที่จะโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปต่อต้านการคว่ำบาตรนี้เช่นเดียวกับที่ตุรกีและรัสเซียทำ โดยตุรกีจะซื้อก๊าซธรรมชาติจากอิหร่าน เนื่องจากยังจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านสำหรับผลิตความร้อน และมีความเห็นว่าการคว่ำบาตรครั้งนี้จะทำให้ตลาดน้ำมันดิบโลกเสียสมดุล
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 พ.ย. 61 ปรับเพิ่มขึ้นราว 8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 432 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังโรงกลั่นกลับมาดำเนินการ ภายหลังช่วงปิดซ่อมบำรุงตามฤดูกาล
  • อุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียที่สูงขึ้น แตะระดับ 11.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 นอกจากนี้ปริมาณการผลิตในกลุ่มโอเปคในเดือน ตค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 390,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือน กย. 61 มาอยู่ที่ระดับ 33.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี
  • จับตาการเจรจาระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจีน ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลก G20 ที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศอาร์เจนตินาในปลายเดือน พ.ย.61 นี้ โดยนายทรัมป์อาจเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าจากจีน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 267,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากผลการเจรจาออกมาไม่สำเร็จ
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน จีดีพีไตรมาส 3/2561 ยูโรโซน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 - 9 พ.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ในช่วง 180 วันแรกหลังการคว่ำบาตร ทำให้หลายฝ่ายคลายความกังวลเรื่องอุปทานขาดตลาด ประกอบกับ อิหร่านยังประกาศว่าจะยังคงส่งออกน้ำมันดิบต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะโดนสหรัฐฯ คว่ำบาตร นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

----------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

โทร.02-797-2999

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0