โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไทยหวังโกยรายได้ท่องเที่ยวติด 1 ใน 6 ของโลก คาดปี 2562 ต่างชาติเดินทางแตะ 39 ล้านคน

BLT BANGKOK

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 09.51 น.
7a79c23ad30106ca18c3d6df20eb1f04.jpg

ทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยราว 39 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2-4% ซึ่งตั้งรายได้ไว้ที่ 3.38 ล้านล้านบาท เติบโต 9.5% ขณะที่มีการสำรวจพบว่าคนไทยจองตั๋วเครื่องบิน-โรงแรมผ่านมือถือมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก
คาดปี 62 ต่างชาติเที่ยวไทย 39 ล้านคน
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกปี 2562 โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับอ่อนแรงลง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงภาพรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ตัวเลขและอัตราการเติบโตชะลอลงตามที่เคยคาด ด้วยจำนวน 19.7 ล้านคน ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะฐานตัวเลขครึ่งแรกเมื่อปี 2561 ทำไว้สูง
โดยมีปัจจัยความแตกต่างในรายตลาดนักท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวจีน มีจำนวนต่ำกว่าที่ประเมิน ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน บวกกับเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน อีกทั้งชาวจีนมีทางเลือกของจุดหมายปลายทางที่หลากหลายมากขึ้น อีกด้านหนึ่ง การต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrivals ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวบางประเทศดีกว่าที่เคยประเมิน อย่างตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย เป็นต้น
เมื่อมองไปยังครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย จะบวกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยประเมินว่าจะมีจำนวนราว 20.1 ล้านคน ขยายตัว 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยด้านฤดูกาลเป็นหลัก บวกกับช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงปิดภาคการศึกษา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป เป็นต้น ตามมาด้วยวันชาติของจีนในช่วงเดือนตุลาคม และเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงท้ายปี รวมถึงการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก
ส่งผลให้ทั้งปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยไว้ที่ประมาณ 39.0-39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2-4% จากปีก่อน ขณะที่รายได้น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.94-1.97 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศจากความซบเซาของการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ประกอบกับทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงเทรนด์นักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ซึ่งสนใจจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น รวมถึงสภาพภูมิอากาศ ที่ครอบคลุมถึงปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในไทยด้วย

ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวไทยติด 1 ใน 6 ของโลก
ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประเมินตัวเลขการเติบโตของปริมาณและรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2562 ว่ายังคงมีอัตราที่น่าพอใจ แม้จะมีตัวเลขที่ลดลงเล็กน้อย และได้กำหนดทิศทางการเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย จากการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณ (Mass Tourism) เข้าสู่การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ซึ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยถึงทิศทางการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. ว่า ปี 2563 ททท. ได้วางเป้าหมายเชิงการตลาดไว้อย่างชัดเจน ในการรักษาตำแหน่งประเทศที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก สร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ประมาณ 3.718 ล้านล้านบาท แสดงว่าในปี 2562 ต้องสร้างรายได้ให้ถึง 3.38 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 9.5% ซึ่ง ททท. จะถือเป็นเป้าหมายในการทำงานและสู้อย่างเต็มที่ แม้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประเมินว่าปีนี้มีรายได้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท และขยายตัวแค่ 4.3%
ขณะที่ ททท. ได้เล็งไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับคุณค่ามากกว่าราคา โดยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อการคัดเลือก และสรรหาสินค้าและบริการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การบริโภคทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางท่องเที่ยว การลด ละ และเลิกการกระทำที่จะส่งผลต่อช่วงอายุของทรัพยากร
โดยตลาดต่างประเทศจะเน้นกลุ่มคุณภาพรายกลุ่ม (Segment) ซึ่งต่อยอดจากปีที่ผ่านมา ด้วยแนวคิด Go High มุ่งเจาะและขยายกลุ่มกำลังซื้อสูง มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม, Go New Customer ขยายกลุ่ม First Visit จากกลุ่มลูกค้าใหม่ในพื้นที่เดิม และการหาลูกค้าในพื้นที่ใหม่ๆ, Go Local เจาะกลุ่มที่สนใจการท่องเที่ยววิถีถิ่น, Go Low Season การกระตุ้นการเดินทางเข้ามาในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และ Go Digital เป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการเข้าถึงนักท่องเที่ยว ส่วนตลาดในประเทศ ได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น Gen X, Gen Y, Family and Millennial Family, Silver Age, Lady, First Jobber, Multi-Gen และ Corporate มุ่งเจาะและขยายตลาดคนไทยให้ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อขยายฐานตลาดใหม่ๆ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดกรุงเทพฯ มากจนเกินไป รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องการแย่งตลาดกันเองอีกด้วย
สำหรับในปี 2563 นั้น แคมเปญตลาดต่างประเทศที่จะใช้คือ Amazing Thailand โดยยังคงใช้คอนเซ็ปต์ Open to the New Shades มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวรู้สึกประทับใจจากประสบการณ์จริง ยังมี Amazing Thailand Week ของสำนักงาน ททท. สาขาต่างประเทศทั่วโลก กระตุ้นความสนใจนักท่องเที่ยวให้อยากเดินทางมาเมืองไทยเพิ่มเติม ส่วนตลาดในประเทศจะจัดทำชุดโฆษณาคือ amazing ไทยเท่ ภายใต้แนวคิด “เมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์” กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวคนไทยมีความสนุก ความสุข และความภูมิใจในออกแบบการท่องเที่ยว ต้องการส่งต่อวิธีเที่ยวของตนให้ผู้อื่นเกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบการท่องเที่ยวในสไตล์ของตนเองบ้าง รวมถึงจัดทำโครงการ “60 เส้นทางความสุข @ เมืองไทย เดอะ ซีรีส์” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ภายใต้แรงบันดาลใจของ 3 ฤดูกาลที่แตกต่าง

คนไทยรองแชมป์เอเชียแปซิฟิก จองตั๋วเครื่องบิน-โรงแรมผ่านมือถือ
ทุกวันนี้การเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีการจองทางโทรศัพท์ เว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ สู่การจองผ่านมือถือและแอปฯ แทน จากการศึกษาพฤติกรรมของนักเดินทางบนเครื่องบินและในโรงแรมทั่วโลก โดยเอ็กซ์พีเดีย พบว่าในปี 2562 นักเดินทางทำการจองผ่านโทรศัพท์มือถือจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมผ่านทางมือถือมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย, ไทย, เกาหลีใต้, ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็มีสัดส่วนการใช้มือถือจองมากกว่า 50%
เมื่อดูปริมาณการเดินทางโดยเครื่องบินของนักเดินทางไทย ทั้งเดินทางเพื่อทำธุระส่วนตัว 11% เที่ยวบิน/คน/ปี หรือทำธุรกิจ 10% เที่ยวบิน/คน/ต่อปี จะจองตั๋วเครื่องบินผ่านทางโทรศัพท์มือถือสูงถึง 67% ในส่วนการจองโรงแรมผ่านทางมือถือก็มีสูงถึง 70%
ขณะเดียวกันจากการศึกษาวิจัยตลาดใหม่โดยแอพฟลายเออร์ (AppsFlyer) ผู้ให้บริการด้านอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้ในการพกพา พบว่าภายในปี 2563 ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเอเชียแปซิฟิกจะติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน คิดเป็น 50% ของการติดตั้งแอปฯ ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่นถึง 3 เท่า การเติบโตคาดว่าจะค่อยๆ ลดลงเมื่อตลาดโตขึ้น แต่จะยังคงอยู่เช่นเดิม เนื่องจากต้นทุนของสื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและปริมาณการใช้โทรศัพท์มือถือ รวมถึงแคมเปญที่ต้องชำระเงิน แอปฯ​ ที่เปิดให้บริการและตัวผู้ใช้มือถือเอง

เจาะลึกเทรนด์การเดินทางของ Gen Z
เจเนอเรชัน Z (Gen Z) หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ16-24 ปี คือวัยที่กำลังเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และจะก้าวขึ้นมากำหนดเทรนด์ในอนาคต Booking.com จึงได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการและสิ่งจำเป็นของผู้เดินทางกลุ่ม Gen Z ใน 29 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย โดยพบพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแผนการเดินทางเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงมุมมองเกี่ยวกับชีวิต ดังนี้
นักผจญภัยใจมุ่งมั่น แม้เพิ่งจะผ่านวัยเด็กแต่คน Gen Z ส่วนใหญ่มีแผนเดินทางที่ตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง 67% รู้สึกตื่นเต้นกับทุกที่ที่จะได้ไปเยือนในอนาคต โดย 4 ใน 10 วางแผนเยือนอย่างน้อย 3 ทวีปในช่วง 10 ปีนี้ ขณะเดียวกันยังเป็นนักเดินทางประเภทขาลุย ซึ่งต้องการประสบการณ์ผจญภัย เช่น เล่นพาราไกลดิ้ง บันจี้จัมพ์ หรือเดินป่า รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ระหว่างที่เดินทาง ไม่เพียงเท่านั้นกว่าส่วนใหญ่เลือกท่องเที่ยวในประเทศของตน เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้นด้วย
พร้อมลุยเดี่ยว คน Gen Z จำนวนมากเริ่มเดินทางท่องเที่ยวโดยไปกับครอบครัว โดย 2 ใน 5 ระบุว่าที่ต้องไปกับครอบครัว เพราะทำให้ได้ไปทริปที่ถ้าไปเองก็คงมีงบไม่พอ แต่เมื่อมีความพร้อมก็ต้องการที่จะลุยเดี่ยวมากกว่า ซึ่งความเป็นอิสระเป็นสิ่งที่คนรุ่นนี้ให้ความสำคัญ โดยวางแผนว่าจะเดินทางคนเดียวอย่างน้อยสักครั้งภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ 1 ใน 3 ชอบอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ตอนที่เดินทาง มีสัดส่วนมากกว่าคนวัยอื่นๆ และมี 18% อยากไปแบ็กแพ็กคนเดียวหลังเรียนจบ
ลิสต์จุดหมายห้ามพลาดไว้แล้ว กว่า 2 ใน 3 ได้ลิสต์สิ่งที่อยากทำและสถานที่ที่อยากไปสักครั้งในชีวิตไว้แล้ว แต่เหตุผลที่ลิสต์สิ่งที่ห้ามพลาดนั้นต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น รู้สึกสนุกกับการจินตนาการถึงสถานที่จะได้เดินทางไป พอใจหากได้ไปเยือนสถานที่ในลิสต์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะได้เพิ่มจุดหมายอื่น อีกทั้งยังวางแผนว่าจะไปออกทริปตามลิสต์อย่างน้อย 5 ครั้งภายใน 10 ปีนับจากนี้ ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 มองว่าการมีลิสต์ช่วยให้ได้รู้จักจุดหมายอันน่าทึ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยแรงบันดาลใจมาจากการเห็นอินฟลูเอนเซอร์แชร์ผ่านสื่อออนไลน์อย่าง อินสตาแกรม อย่างไรก็ตามคน Gen Z ที่ไม่มีลิสต์ เพราะรู้สึกว่าความชื่นชอบเปลี่ยนไปมาบ่อยๆ ส่งผลต่อจุดหมายที่อยากไป ต้องการเดินทางตามความรู้สึกในขณะนั้นมากกว่า และไม่อยากวางแผนล่วงหน้า
การเดินทาง VS เป้าหมายชีวิต ในส่วนของแผนการใช้เงินในช่วง 5 ปีนับจากนี้  โดย 6 ใน 10 มองว่าการลงทุนกับการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเสมอ และเมื่อจัดลำดับสิ่งที่จะนำเงินไปใช้จ่าย ปรากฏว่าอันดับ 1 เป็นการออกเดินทางไปสำรวจโลกกว้าง รองลงมาอันดับ 2 ลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต (ซื้ออสังหาริมทรัพย์)
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยครึ่งปีหลังจากนี้ นับว่าเป็นที่จับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้หรือไม่ แต่สิ่งที่น่าจับตามองยิ่งกว่าคือเมื่อได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนใหม่แล้ว จะขับเคลื่อนทิศทางการท่องเที่ยวไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างยิ่ง 

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร - ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
“ททท. ได้วางเป้าหมายเชิงการตลาดในปี 2563 ไว้อย่างชัดเจน ในการรักษาตำแหน่งประเทศที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก  สร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% หรือประมาณ 3.71 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป้าหมายด้านการสร้างความยั่งยืนทางการท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย และสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง”

[English]
Thailand aims to boost tourism revenue 
The tourism industry remains a key economic growth engine for Thailand but the overall situation showed a sign of weakness during the first half of this year, specifically among the number of foreign arrivals.
Kasikorn Research Center (KResearch) found that tourist revenue from Chinese visitors, in particular, fell below the estimate because of the economic slowdown as a result of the U.S.-China trade conflict and because of the stronger baht.  However, Thailand’s extension of the visa on arrivals waiver has benefited some markets, such as India.
For the second half of the year, KResearch expects the overall growth of foreign arrivals to register a small increase when compared with the first half of 2019.
Accordingly, KResearch forecast the total arrival of tourists to end at 39.0-39.8 million, a 2%-4% on-year growth, while the foreign tourism revenue is projected to total 1.94-1.97 trillion baht in 2019.
Meanwhile, Tourism Authority of Thailand (TAT) said that it is still satisfied with the overall tourism situation, despite a mild slowdown.
Looking into 2020, TAT aims to collect the total tourism revenue that is high enough to be in the world’s top-6 through a 10% increase to 3.38 trillion baht from an estimated 3.2 trillion baht in 2019.
TAT is also going to put more focus on quality tourists with high purchase power and implementing various programs for different segments it has set an eye on, including “Go High”, “Go New Customer”, “Go Local”, “Go Low Season”, and “Go Digital.”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0