โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไทยกำลังเจอปัญหา ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ลงทุนแมน

อัพเดต 18 ก.พ. 2562 เวลา 10.22 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2562 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

ไทยกำลังเจอปัญหา ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว / โดย ลงทุนแมน

ตอนนี้ สังคมไทยมีผู้สูงอายุราว 1 ใน 10 ของประชากร
แต่ในอนาคตอันใกล้นี้
เรามีโอกาสเจอผู้สูงอายุได้ถึง 1 ใน 3

เรื่องดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายต่อสังคมและเศรษฐกิจ
เพราะปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทย อาจจะยังไม่พร้อมที่จะรองรับโครงสร้างประชากรในรูปแบบใหม่ได้ดีนัก

คำว่า สังคมผู้สูงอายุ อ้างอิงตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด
สังคมผู้สูงอายุ แบ่งได้เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1
สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
ประเทศมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 7% ของจำนวนประชากร

ระดับที่ 2
สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)
ประเทศมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของจำนวนประชากร

ระดับที่ 3
สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society)
ประเทศมีสัดส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของจำนวนประชากร

ในขณะนี้ โครงสร้างประชากรทั่วโลก อยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ จำนวนผู้สูงอายุ กำลังมีสัดส่วนที่สูงขึ้น

ปัจจุบัน โลกมีประชากรราว 7.5 พันล้านคน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านคน หรือราว 8%

แสดงว่า โดยเฉลี่ย โลกเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุระดับที่ 1 แล้ว

และมีการคาดการณ์ว่า โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ภายในไม่เกิน 35 ปีข้างหน้า

แนวโน้มนี้ เป็นผลมาจากยุค Baby Boomer หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อัตราการเกิดของประชากรสูงมาก ซึ่งคนกลุ่มนั้นกลายมาเป็นผู้สูงอายุในตอนนี้

ในขณะเดียวกัน ประชากรมีการศึกษาที่ดีขึ้น มุ่งเน้นในการทำงานมากกว่า ทำให้อัตราการเกิดลดลง
รวมทั้งความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น สถานการณ์ผู้สูงอายุ มีความน่าสนใจและท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว จะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ดังข้อมูลต่อไปนี้

ปี 2002 ผู้สูงอายุมีสัดส่วนมากกว่า 7% (เข้าสู่ระดับที่ 1)
ปี 2020 ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนราว 13% (สถานการณ์ปัจจุบัน)
ปี 2022 ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากกว่า 14% (เข้าสู่ระดับที่ 2)
ปี 2035 ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากกว่า 20% (เข้าสู่ระดับที่ 3)
ปี 2050 ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากกว่า 30%

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยใช้เวลาเปลี่ยนผ่านจาก สังคมผู้สูงอายุระดับที่ 1 ไปสู่ระดับ 2 ด้วยเวลาเพียง 20 ปี ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก

เมื่อเทียบกับประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจดีกว่าเรา เช่น
สหรัฐอเมริกา 72 ปี
อังกฤษ 46 ปี
ญี่ปุ่น 24 ปี

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรก ที่คาดว่าจะไต่ขึ้นไปถึงระดับที่ 3 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเร็ว แต่ความพร้อมทางคุณภาพชีวิตหลังเกษียณของคนไทย อาจจะยังไม่ดีเท่าประเทศอื่น ซึ่งปัญหานี้สะท้อนได้จากข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ เมื่อลองเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

สิงคโปร์ รายได้ต่อหัว 1.7 ล้านบาทต่อปี
เงินเดือนเฉลี่ย 115,000 บาท

ญี่ปุ่น รายได้ต่อหัว 1.5 ล้านบาทต่อปี
เงินเดือนเฉลี่ย 197,000 บาท

เกาหลีใต้ รายได้ต่อหัว 8.2 แสนบาทต่อปี
เงินเดือนเฉลี่ย 104,000 บาท

ไทย รายได้ต่อหัว 1.9 แสนบาทต่อปี
เงินเดือนเฉลี่ย 14,000 บาท

การที่รายได้ของคนไทย โดยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูง ทำให้ความสามารถในการเลี้ยงดูตนเองเมื่อยามแก่นั้น มีไม่เพียงพอ และอาจจะต้องพึ่งการเกื้อหนุนจากบุตรหลาน

นอกจากนี้ คนไทย ยังออกจากตลาดแรงงาน เร็วกว่าปกติ โดยในแต่ละปี จะมีแรงงาน 300,000 ราย เลิกทำงานตั้งแต่อายุ 45 ปี เนื่องจากต้องออกไปดูแลครอบครัว ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้

และในแง่ของเศรษฐกิจประเทศ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโต

เมื่อจำนวนคนทำงานลดลง ผลผลิตที่ได้ ย่อมมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย
ซึ่งภาครัฐอาจต้องแก้ไขปัญหา ด้วยการออกกฎหมายรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น เพื่อมาทดแทน
ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ต้องเฝ้าระวังปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่อาจมาพร้อมกับแรงงานต่างด้าว

ดังนั้น การจะทำอย่างไรให้ประเทศปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ สิ่งที่มีส่วนสำคัญคือ นโยบายภาครัฐ

ไม่ว่าจะเป็นการขยายการเกษียณอายุ ซึ่งจะทำให้คนมีเวลาสร้างฐานะได้นานขึ้น โดยไทยกำลังมีแผนเปลี่ยนอายุเกษียณ จาก 60 เป็น 63 ปี ดังในประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ขยายเป็น 65 ปี สิงคโปร์ ขยายเป็น 67 ปี

ในอีก 30 ปี ข้างหน้า
เมื่อเรามองไปรอบตัว 3 คน จะมี 1 คนที่มีอายุเกิน 65 ปี
สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
คำถามที่สำคัญคือ
เราเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตได้ดีพอแล้วหรือยัง?
———————-
อ่านเรื่อง สัดส่วนผู้สูงอายุ VS อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ในแต่ละประเทศ ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5c331fdcf54de42b3cb8e02e

โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com

สั่งหนังสือลงทุนแมน เล่ม 8 ได้ที่
Lazada https://s.lazada.co.th/s.RpFk
Shopee http://bit.ly/2HVWiqj
———————-

References
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/AgePeriodCohort.pdf
-https://www.hoonsmart.com/archives/19858
-https://tradingeconomics.com/country-list/wages
-https://tradingeconomics.com/country-list/gdp-per-capita

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0