โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไต้ฝุ่นอยู่ตรงไหน แผ่นดินไหวแรงเท่าไหร่ แนะนำเว็บไซต์เช็กสุขภาพโลก

The MATTER

เผยแพร่ 18 ก.ย 2561 เวลา 12.08 น. • Brief

เรามักสงสัยกันเสมอว่าโลกใบนี้ยังสบายดีอยู่รึเปล่า ปีนี้ฝนเยอะไปมั้ย พายุมากกว่าปกติรึเปล่า อุณหภูมิบ้านเราร้อนกว่าคนอื่นบ้างไหมนะ ทั้งหมดนี้ข้อมูลตัวเลขและข้อมูลจากเรดาร์สำคัญๆ บอกเราได้ และเราสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหลายได้ในระดับเกือบเรียลไทม์ The MATTER อยากแนะนำเว็บไซต์สำคัญที่ให้ข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับโลกใบนี้ ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ดาวเคราะห์ (planet) และในฐานะบ้านของเรา (world)

เว็บไซต์ planet.parts เป็นเว็บไซต์ที่รวมข้อมูลเกือบเรียลไทม์ ให้เราได้เห็นภาพรวมของเราและโลกจากคลังข้อมูลทั่วโลก และ ourworldindata.org เป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลตัวเลขของโลกใบนี้ทั้งในปัจจุบันและภาพรวมย้อนหลัง

Global data streams: Planet parts เป็นเว็บไซต์รวมฐานข้อมูลที่สังเกตความเป็นไปของโลกใบนี้ที่อัพเดตข้อมูลเกือบจะเรียลไทม์ (จริงๆ ก็ค่อนข้างเรียลไทม์แหละ) โดยฐานข้อมูลที่ทาง Planet parts รวบรวมไว้กินพื้นที่แทบจะทุกแง่มุมของโลกใบนี้ เราสามารถดูได้ตั้งแต่ข้อมูลทางธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ ชั้นบรรยากาศ ข้อมูลทางชีววิทยา ข้อมูลจากดาวเทียมต่างๆ ให้เราได้เห็นว่า เราอยู่ตรงไหนของโลกกลมๆ ใบนี้ สภาวะแวดล้อมและความเป็นไปของเราเป็นยังไงบ้าง

ฐานข้อมูลที่น่าสนุกจาก Planet Parts เช่น Climate Reanalyzer บอกข้อมูลพื้นฐานของโลกใบนี้ผ่านแผนที่ เช่น อุณหภูมิทั่วไป อุณหภูมิน้ำทะเล แรงลม เราสามารถดูได้ว่าที่เราบ่นว่าร้อนๆ มีที่ไหนร้อนหรือเย็นบ้าง เผื่อว่าจะวางแผนไปเที่ยวถูก หรือเว็บไซต์ Air Pollution in World: Real-time Air Quality Index Visual Map (aqicn.org) เป็นฐานข้อมูลที่จะบอกเราได้เวลาที่เรากังวลเรื่องมลภาวะ ฐานข้อมูลนี้จะให้ตัวเลขว่าอากาศแต่ละพื้นที่มีค่ามลพิษเท่าไหร่ จากตัวเลขตอนนี้ ค่ามลพิษบ้านเราก็ดูกลางๆ มีแถวๆ ขอนแก่นที่มีเป็นสีแดงๆ นอกจากนี้ Planet parts ก็มีตัวข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับโลกที่เราอาจสนใจอีกหลายฐาน เช่นพวกสถิติว่าด้วยภัยธรรมชาติแทบจะทุกประเภท พายุ แผ่นดินไหว ไฟป่า

จากข้อมูลเรียลไทม์ที่ทาง Planet parts รวบรวมไว้แล้ว เราก็มีเว็บไซต์ Our World in Data เว็บไซต์ของทาง Oxford Martin Programme on Global Development จาก The University of Oxford ตัวเว็บไซต์ต้องการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญๆ เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงแง่มุมทางสังคม

ตัวข้อมูลของ Our World in Data ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังที่ทำออกมาเป็นกราฟรูปแบบต่างๆ  ในแง่สิ่งแวดล้อมก็จะมีตัวเลขสถิติย่อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเราอยู่ เช่น ตัวเลขภาพรวมรายงานภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก รายงานเรื่องชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงรายงานเรื่องมลพิษ หรือการปนเปื้อนทั้งหลาย

ข้อมูลของ Our World in Data—ด้วยตัวเว็บไซต์เองและการใช้คำว่า 'world' ชุดข้อมูลของเว็บไซต์จึงรวมข้อมูลอื่นๆ ที่มองโลกใบนี้ในฐานะโลก ‘ของเรา’ นอกจากข้อมูลที่เป็นตัวเลขจากการวัดประเมินทางภูมิศาสตร์แล้ว ทางเว็บไซต์จะมีพวกข้อมูลสถิติทางสังคมหรือข้อมูลที่สภาวะแวดล้อมนั้นกระทบกับตัวเราอย่างเป็นรูปธรรมด้วย เช่น ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ อัตราการเข้าถึงแหล่งน้ำ ไปจนถึงตัวเลขสถิติทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ

โดยรวมแล้วเว็บไซต์ทั้งสองพาเราให้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับโลกใบนี้ ทั้งในมิติทางภูมิศาสตร์ว่า เราอยู่ตรงไหน ท้องฟ้าสีฟ้าที่เรามอง สายฝนที่ตกอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราเผชิญไปพร้อมๆ กับผู้คนบนผืนทวีปอื่นๆ บนโลก ในขณะที่ข้อมูลย้อนหลังทำให้เราเห็นความเป็นไป และความสัมพันธ์ที่เราทุกคนต่างเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อโลกกลมๆ ใบนี้ ก่อนที่โลกจะกลับมากระทบกับเราต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

planet.parts

ourworldindata.org

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0