โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ไข้เลือดออกชะลอตัว กรมควบคุมโรคย้ำเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

TODAY

อัพเดต 17 ก.ค. 2562 เวลา 08.59 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 08.55 น. • Workpoint News
ไข้เลือดออกชะลอตัว กรมควบคุมโรคย้ำเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วงนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกชะลอตัว เนื่องจากได้ดำเนินการควบคุมอย่างเข้มแข็ง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่ยังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวเด็กหญิงเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า กรมควบคุมโรคขอยืนยันว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้พบโรคไข้เลือดออกได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้

นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ โฆษกกรมควบคุมโรค

ในช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ที่พบผู้ป่วยมากเช่นกัน อาทิ ฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วย 92,267 ราย เสียชีวิต 398 ราย เวียดนาม มีผู้ป่วย 81,132 ราย และมาเลเซีย มีผู้ป่วย 62,421 ราย (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก) เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในการสำรวจลูกน้ำยุงลายและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันรณรงค์ป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ภายใต้โครงการจิตอาสาฯ เราทำความดีด้วยหัวใจ พร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้สถานการณ์การเกิดโรคชะลอลง จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในหลายพื้นที่ลดลง และยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เช่น พิษณุโลก พิจิตร และสมุทรสงคราม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทำให้การเกิดโรคชะลอลง ลดลง หรือจนควบคุมได้ในที่สุด แต่ทุกพื้นที่ยังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ต่อไป

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า ในบางพื้นที่ยังมีฝนตก ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ รวมถึงภาชนะที่ใช้เก็บกักน้ำในบ้าน อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย

ที่สำคัญประชาชนควรเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่อง คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค คือมีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา และข้อพับ และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบอาเซียน สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–9 กรกฎาคม 2562 พบผู้ป่วย 44,671 ราย เสียชีวิต 62 ราย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 4,269 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในปีนี้พบในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุดคือกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-34 ปี และแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0