โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ไขรหัสความสำเร็จลีดส์ ยูไนเต็ด และเด็กมหัศจรรย์ของพวกเขา

Main Stand

อัพเดต 27 ต.ค. 2562 เวลา 04.55 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • มฤคย์ ตันนิยม

“ผมอยากจะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลลีดส์ ยูไนเต็ด ผมอยากให้ลีดส์สร้างชื่อเสียงในระดับโลกด้วยทีมที่มีสไตล์การเล่นที่น่าดึงดูด เน้นเกมบุก และความคิดในแง่บวกในการออกไปคว้าชัย” เดวิด โอเลียรีกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีก่อน โอเลียรี กุนซือหนุ่มที่ไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก ได้สร้างปรากฎการณ์ด้วยการพาลีดส์ ยูไนเต็ด ออกอาละวาดไปทั่วภาคพื้นยุโรป  

เขาพาพลพรรคยูงทองที่อุดมไปด้วยนักเตะในวัย 20 ต้นๆ ต่อกรกับทีมยักษ์ใหญ่ทั้งในลีก และเวทียุโรป ได้อย่างสนุก จนกลายเป็นทีมลุ้นแชมป์ และเข้าไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายของยูฟ่าคัพ และ UCL 
พวกเขาทำได้อย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

ดาวรุ่งที่รอวันจรัสแสง  

ลีดส์ ยูไนเต็ด ถือเป็นหนึ่งในทีมประวัติศาสตร์ของเกาะอังกฤษ เพราะพวกเขาคือทีมสุดท้ายที่คว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 เดิม ภายใต้การคุมทีมของ โฮเวิร์ด วิลกินสัน ในปี 1991-1992 ก่อนที่มันจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “พรีเมียร์ลีก” ในฤดูกาลต่อมา 

Photo : www.thetimes.co.uk

ทว่านับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ พลพรรคยูงทอง ก็ไม่เคยกลับไปจุดเดิมได้อีกเลย ผลงานดีที่สุดหลังจากนั้นคือการจบอันดับ 5 ในฤดูกาล ทำให้ไม่นานบอร์ดบริหารก็หมดความอดทน สั่งปลด วิลกินสัน และแต่งตั้ง จอร์จ เกรแฮม อดีตกุนซืออาร์เซนอลขึ้นมาแทนที่ในปี 1996 

ในตอนนั้น ลีดส์ ถือเป็นหนึ่งในทีมที่อุดมไปด้วยแข้งดาวรุ่งฝีเท้าดีมากมาย พิสูจน์ได้จากการคว้าแชมป์ เอฟเอ ยูธ คัพ เมื่อปี 1997 ซึ่งทำให้นักเตะหลายคน รวมไปถึง แฮรี คีเวลล์ และ สเตเฟน แมคเฟล ถูกดันขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ 

“เรามีนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีเต็มทีม แต่ช่วงเวลานั้น ไม่มีอะไรที่จะชี้นำว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา เราเพียงแค่ออกไปเล่นเท่านั้น” สเตเฟน แมคเฟล ย้อนความหลังกับ The 42  

“เรามีคนที่ยอดเยี่ยมอย่าง พอล ฮาร์ท และ เอ็ดดี เกรย์ ที่ช่วยขัดเกลาฝีเท้าในทีมเยาวชน พวกเขาทำให้เรามีระเบียบวินัย เคารพรุ่นพี่ และทำงานหนัก ผมคิดว่าสิ่งนั้นช่วยขับเคลื่อนให้เราเป็นกลุ่ม”

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เกรแฮม จะให้โอกาสแข้งดาวรุ่งได้ประเดิมสนามในยุคของเขา แต่ส่วนใหญ่ คือการลงเป็นตัวสำรอง หรือให้สัมผัสเกมไม่กี่นาที ทำให้พวกเขาไม่ค่อยได้พัฒนาฝีเท้าอย่างต่อเนื่องเท่าที่ควร 

Photo : www.telegraph.co.uk

“จอร์จ เกรแฮม ถูกกดดันจากสื่อให้สนใจพวกเรา เพราะว่าในทีมตอนนั้นไม่ค่อยมีนักเตะดาวรุ่งมากเท่าไร เขาจึงดันเราขึ้นมา” แมคเฟลกล่าวต่อ 

“แต่มันกลับสร้างความลำบากให้พวกเรา ลองคิดดูคุณกำลังทำผลงานได้ดี แต่เขาก็ส่งเรากลับไป เขาบอกว่า ‘อย่าล้ำเส้น’ คุณได้เล่นไม่กี่เกม แล้วก็ต้องกลับไปอยู่ทีมเยาวชน” 

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาของลีดส์กับเกรแฮม ช่างแสนสั้น หลังพาทีมจบในอันดับ 5 ของลีกในฤดูกาลแรก อดีตกุนซืออาร์เซนอล ก็ย้ายไปรับงานคุมทัพ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ อย่างกะทันหัน หลังเปิดฤดูกาลใหม่ไม่ถึง 2 เดือน 

และมันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของสโมสร 

 

กุนซือผู้ไร้ประสบการณ์ 

ตอนที่เกรแฮม ย้ายไปอยู่กับสเปอร์ส ในตอนแรกบอร์ดบริหารของลีดส์ วางตัวมาร์ติน โอนีล กุนซือเลสเตอร์ในตอนนั้นเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง เขาถือเป็นผู้จัดการทีมมากฝีมือ หลังพา ทีมเล็กอย่าง “จิ้งจอก” ผงาดคว้าแชมป์ลีกคัพเมื่อฤดูกาล 1996-1997

Photo : uk.sports.yahoo.com

อย่างไรก็ดี แผนของบริหารต้องล้มครืน เมื่อโอนีล ตัดสินใจอยู่กับเลสเตอร์ต่อ ทำให้พวกเขาต้องเสาะหากุนซือคนใหม่ ก่อนที่สุดท้ายหวยจะมาออกที่ เดวิด โอเลียรี อดีตกองหลังทีมชาติไอร์แลนด์ 

โอเลียรี คือแนวรับระดับตำนานของอาร์เซนอล เขาเคยย้ายมาเล่นให้ลีดส์ในช่วงบั้นปลายของชีวิตนักเตะอาชีพ ก่อนจะได้หวนคืนสู่ลีดส์ อีกครั้งในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมของเกรแฮม 

เขาไม่เคยคุมทีมไหนมาก่อนในชีวิต  และมีประสบการณ์ด้านงานโค้ชเพียงแค่ปีเศษสมัยที่ทำงานกับเกรแฮม ทำให้ ลีดส์ คืองานแรกในฐานะผู้จัดการทีมของเขา 

“จอร์จกำลังจะไปท็อตแนม และผู้คนก็พูดกันว่า มาร์ติน โอนีล คือคนที่ลีดส์ต้องการ ผมถูกขอร้องให้ดูแลทีม 2-3 สัปดาห์ ผมคิดว่าผมต้องอยู่ที่นั่นต่อ 2-3 สัปดาห์จนกว่าทีมงานของโอนีลจะเข้ามา” โอเลียรีกล่าวกับ The 42

“หลังจากนั้นผมไม่รู้ว่าทำไม แต่มาร์ติน โอนีล เปลี่ยนใจและอยู่เลสเตอร์ต่อ ในไม่กี่สัปดาห์ผู้คนก็คิดว่า ‘คุณเป็นคนดัง คุณทำงานได้ดีที่นี่’ หลังจากนั้นพวกเขาก็ถามมือใหม่อย่างผมว่า  ‘คุณอยากเป็นผู้จัดการทีมลีดส์มั้ย’ มันทำให้ผมช็อค แต่ผมไม่ลังเลเลย และตอบว่า ‘ครับ ผมอยากทำ’” 

ด้วยการที่ โอเลียรี เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมมาก่อน ทำให้เขาคุ้นเคยกับนักเตะดาวรุ่งจากอคาเดมี “ธอร์ปอาร์ค” ของลีดส์ หลังเข้ารับตำแหน่ง โอเลียรี ก็จัดการผ่าตัดทีม เปลี่ยนนโยบาย ด้วยการดันนักเตะดาวรุ่งหลายคนขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ 

“การทำงานภายใต้จอร์จ เกรแฮม ทำให้ผมได้เห็นเด็กดาวรุ่งมากมายในทีมสำรอง ที่รู้สึกเหมือนกับเหมือนเห็นตัวเอง ตอนยังเด็ก ผมคิดว่าผมน่าจะจัดการพวกเขาได้” โอเลียรีกล่าวต่อ 

แน่นอนว่านักเตะหลายคนที่ถูกดันขึ้นมา ล้วนมาจากชุดคว้าแชมป์ เอฟเอ ยูธคัพเมื่อปี 1997 ไม่ว่าจะเป็นโจนาธาน วูตเกต กองหลังร่างโย่ง, พอล โรบินสัน ผู้รักษาประตูจอมหนึบ และ อลัน สมิธ กองหน้าเลือดเดือด ที่เข้ามาผนึกกำลังกับ คีเวลล์ และ แมคเฟล ที่ขึ้นมาก่อน

Photo : @LUFCHistory

“ผมคิดว่าผมรู้มาบ้างกับสิ่งที่จำเป็นต้องมีของเซ็นเตอร์ฮาล์ฟคนหนึ่งและเขาก็มีมันทั้งหมด เขา (วูดเกต) มีทั้งความเร็ว เล่นลูกกลางอากาศได้ดี อ่านเกมได้ดี และมีรูปร่างที่กำลังดี”  โอเลียรีกล่าวกับ The Guardian เมื่อปี 1999

“เขาต้องติดทีมชาติอังกฤษแน่นอน และเขาจะไม่กลัวมัน สิ่งที่เยี่ยมของวูดดี้คือเขาไม่รู้ว่าโอลด์ แทรฟฟอร์ด, แอนฟิลด์ และไฮบิวรี เป็นสนามเหย้าของทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่” 

อย่างไรก็ดี จากการที่โอเลียรี อายุเพียง 39 ปี ซึ่งถือว่ายังหนุ่มสำหรับผู้จัดการทีมในสมัยนั้น แถมตัวเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมอย่างจริงจัง กับทีมที่มีนักเตะดาวรุ่งเป็นแกนหลัก ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าลีดส์ ในยุคเขาจะไปรอดแค่ไหน 

แต่เขาก็ใช้ผลงานเป็นข้อพิสูจน์ 

 

ขุนพลพลังหนุ่ม

โอเลียรี ดำเนินนโยบายปั้นเด็กอย่างจริงจัง และเขาเองก็เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ เนื่องจากสมัยเป็นนักเตะ เขาเองก็เคยถูกส่งลงสนามตั้งแต่อายุ 17 และลงเล่นถึง 40 นัดต่อฤดูกาลตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี 

Photo : www.premierleagueheroes.com

เขาเปลี่ยนลีดส์ ให้กลายเป็นทีมพลังหนุ่ม และเปลี่ยนจากทีมที่เน้นเกมรับในสมัยเกรแฮม กลายเป็นทีมที่มีเกมรุกที่น่าดู เขาใช้ความสดของนักเตะดาวรุ่ง วิ่งไล่บดขยี้คู่แข่ง ไปพร้อมกับมอบอิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์แก่นักเตะในทีม 

“ผมอยากจะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลลีดส์ ยูไนเต็ด ผมอยากให้ลีดส์สร้างชื่อเสียงในระดับโลกด้วยทีมที่มีสไตล์การเล่นที่น่าดึงดูด เน้นเกมบุก และความคิดในแง่บวกในการออกไปคว้าชัย ไม่ใช่ฆ่าพวกเขา” โอเลียรีกล่าวกับ Telegarph 

อย่างไรก็ดี แม้แกนหลักจะเป็นพวกดาวรุ่ง แต่พวกเขาจำเป็นต้องมีผู้เล่นประสบการณ์สูงช่วยประคอง พวกเขามี ลูคัส ราเดเบ กัปตันทีมชาติแอฟริกาใต้อยู่แล้วในแนวหลัง แต่ โอเลียรี ก็ยังดึง เดวิด แบตตี เข้ามาเสริมทัพอีกรายในเดือนธันวาคม 1998 

อันที่จริง แบตตี คือเด็กปั้นของลีดส์ แต่ย้ายออกจากทีมไปเมื่อปี 1993 แม้จะหายหน้าไปจากทีมไปเกือบ 5 ปี แต่การเป็นผู้เล่นท้องถิ่น ทำให้โอเลียรีมองว่า เขาน่าจะมาช่วยแนะนำรุ่นน้อง ที่กำลังพัฒนาฝีเท้าได้ 

Photo : www.telegraph.co.uk

“เรามีนักเตะรุ่นใหญ่ที่สุดยอด ไนเจล มาร์ติน, เดวิด แบตตี, ลูคัส ราเดเบ พวกเขาทำให้เรารู้สึกเป็นที่ยอมรับจริงๆ พวกเขาให้เราเชื่อมั่นในตัวเองมากจริงๆ เรามุ่งหน้าสู่เกมใหญ่ และคิดเสมอว่าเราดีทั้งนั้นไม่ว่าใครจะได้ลงเล่น” แมคเฟลกล่าวกับ The 42   

แม้ว่านัดแรกของ โอเลียรี จะประเดิมความพ่ายแพ้ต่อเลสเตอร์ ซิตี้  แต่หลังจากนั้นทีมของเขาก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ไร้พ่าย 11 นัดติดต่อกัน ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยการคว้าอันดับ 4 ของตาราง 

อย่างไรก็ดี ช่วงหน้าร้อน 1999 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ จิมมี ฟลอยด์ ฮัสเซลแบงค์ ดาวยิงตัวหลักของทีม ได้ย้ายไปเล่นให้กับ แอตเลติโก มาดริด ด้วยค่าตัว 12 ล้านปอนด์ แต่นั่นก็ทำให้ โอเลียรี มีงบในการสร้างทีมแห่งอนาคตของเขา 

กุนซือชาวไอริช ยังคงใช้ปรัชญาปั้นเด็ก เมื่อเขาพยายามมองหานักเตะอายุน้อย ที่สามารถใช้งานได้ทันที ก่อนจะได้ แดนนี มิลส์ (22 ปี) จากชาร์ลตัน แอธเลติก, ดาเรน ฮัคเคอร์บี (23 ปี) จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ไมเคิล บริดจ์ (21 ปี) จากซันเดอร์แลนด์  

ผู้เล่นใหม่เข้ามาผสมผสานกับทีมชุดเดิมได้อย่างลงตัว ทำให้ลีดส์ กลายเป็นทีมแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง ผู้เล่นตัวจริงของพวกเขาล้วนอยู่ในวัยรุ่นหรือ 20 ต้นๆเกือบทั้งทีม ไม่ว่าจะเป็น เอียน ฮาร์ท (23 ปี) แบ็คซ้ายจอมเตะฟรีคิก, ลี โบวเยอร์ (22 ปี) กองกลางจอมขยัน, เอริค บัคเค (22 ปี)  ตัวรุกจากนอร์เวย์ เสริมด้วยนักเตะจากอคาเดมีอย่าง สมิธ (19 ปี) , วูดเกต (19 ปี)  และ แมคเฟล (20 ปี)  

Photo : www.irishnews.com

แต่นักเตะคนสำคัญที่สุดคือ แฮร์รี คีเวลล์ เพลย์เมกเกอร์วัย 21 ปี ชาวออสเตรเลีย ถูกดันขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ตั้งแต่ปี 1996 ก่อนที่ โอเลียรี จะเข้ามารับตำแหน่ง แต่ก็ไม่ได้มีผลงานอะไรเด่นชัด 
แต่ภายใต้การคุมทีมของโอเลียรี ที่ชอบใช้ระบบ 4-4-2 หรือ 4-3-1-2 และค่อนข้างให้อิสระในตัวนักเตะ ทำให้คีเวลล์ สามารถเค้นศักยภาพของตัวเองออกมา จนกลายเป็นหนึ่งในตัวรุกที่อันตรายที่สุดในเกาะอังกฤษ 

และมันก็ทำให้ลีดส์ของโอเลียรี ทำผลงานได้อย่างสุดยอด พวกเขาขึ้นไปนำเป็นจ่าฝูง ตอนปีใหม่ ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 ในฤดูกาล 1999-2000 พร้อมได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นในยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกในรอบ 10 กว่าปี 

แถมในยูฟ่าคัพ พวกเขายังไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศ และเอาชนะทีมดังอย่างโรมา ก่อนจะจอดป้าย เพราะกาลาตาซาราย ทีมดังแห่งตรุกี และแชมป์ในปีดังกล่าว 
ก่อนที่มันกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ 

 

เด็กนรกเขย่าเวทียุโรป 

การกลับมาเล่นฟุตบอลถ้วยใหญ่สโมสรยุโรป ทำให้ลีดส์ เดินหน้าเสริมทัพอย่างหนัก แต่โอเลียรี ก็ยังคงนโยบายเดิม คือมองหาแต่ผู้เล่นอายุไม่มากที่ใช้งานได้เลย และทำให้พวกเขาได้นักเตะอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์ (21 ปี) , โอลิวิเยร์ ดาร์กู (25 ปี) , มาร์ค วิดูกา (24 ปี) และ โดมินิค มัตเตโอ (26 ปี) มาร่วมทีม ด้วยค่าตัวรวมกันกว่า 30 ล้านปอนด์

Photo : semuanyabola.com

แม้จะใช้เงินมากกว่าปกติ แต่ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อนักเตะใหม่เหล่านี้ เข้ามาผนึกกำลังกับแข้งดาวรุ่งของลีดส์ได้อย่างกลมกลืน จนทำให้ทีมทำผลงานได้อย่างสุดยอดในฤดูกาลนั้น โดยเฉพาะสโมสรยุโรป 

ลีดส์ สร้างปาฎิหาริย์ตั้งแต่รอบแรก ด้วยการเอาตัวรอดในกลุ่มแห่งความตายที่มีทั้ง บาร์เซโลนา และเอซี มิลาน ทั้งที่ประเดิมสนามด้วยความพ่ายแพ้ต่อบาร์ซาถึง 0-4 แต่ก็สามารถเปิดบ้านเอาชนะมิลาน เสมอกับบาร์เซโลนาแบบเกือบชนะ ก่อนจะบุกไปยันเสมอกับปีศาจแดงดำ จนเข้ารอบมาได้สำเร็จ 

ในรอบต่อมา แม้จะอยู่ในกลุ่มแห่งความตายอีกครั้ง หลังถูกจับมาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ เรอัล มาดริด, ลาซิโอ และ อันเดอร์เลชท์ แต่เด็กของโอเลียรี ก็ไม่หวั่น พวกเขาเดินหน้าเก็บแต้ม รวมทั้งการบุกไปเอาชนะอินทรีฟ้าขาวถึงถิ่น จนผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมได้สำเร็จ ก่อนจะมาจอดป้ายในรอบ 4 ทีมสุดท้ายด้วยน้ำมือของบาเลนเซีย 

“เราต้องไปในที่อย่างมิลาน, บาร์เซโลนา พวกเขาคือกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่ง เด็กหนุ่ม และไม่ได้มีอะไรน่าเกรงขามตอนที่พวกเขาอบอุ่นร่างกายในสนาม พวกเขาไม่ได้กลัวจนตัวแข็ง พวกเขาสนุกกับโอกาสที่ได้ และออกไปทำผลงานให้ดีที่สุด” โอเลียรีย้อนความหลังกับ The 42  

“เราออกไปผจญภัย และไปถึงบาเลนเซีย ซึ่งเป็นทีมที่ดีกว่าเรา พวกเขาน่าจะมีประสบการณ์มากกว่าเราในเรื่องรับมือกับโอกาสทั้งสองเกม เราเข้าใกล้ และทำได้เหมือนกับหนึ่งปีก่อนหน้า (ในยูฟ่าคัพ) เราเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เจอกับทีมที่เก่งอย่างกาลาตาซาราย ที่ตลอดสองนัดมอบประสบการณ์ให้เรามาก” 

แม้ว่าลีดส์ จะไปไม่ถึงดวงดาว แต่พวกเขาก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในฤดูกาลนั้น โดยเฉพาะโอเลียรี ที่กล้าใช้กลุ่มเด็กวัยกระเตาะ จนสามารถสร้างปรากฎการณ์สุดเหลือเชื่อ ในเวทียุโรป 

“เรามีกลุ่มคนที่ดีจริงๆ ลี โบวเยอร์ เป็นกองกลางที่ยอดเยี่ยมตอนที่ผมอยู่ที่นั่น มาร์ค วิดูกา สุดยอดในแดนหน้า เรามีดาวรุ่งอย่างอลัน สมิธ โจนาธาน วูดเกต ก็พิเศษมาก เขาได้รับบาดเจ็บเกือบตลอดชีวิตนักเตะอาชีพ แต่ถ้าเขาฟิต วูดเกต คือ เซ็นเตอร์แบ็ค ที่สุดยอดคนหนึ่ง” โอเลียรี กล่าว 

“แต่ที่สุดยอดที่สุดในหมู่พวกเขาคือ ริโอ เฟอร์ดินานด์ อย่างไม่มีข้อสงสัย เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เขาไปเล่นให้ แมนฯ ยูไนเต็ด และคว้าแชมป์มากมายกับพวกเขา เขามีระดับและสามารถเล่นได้กับทุกทีม ข้อดีของเขาคือสิ่งนั้น” 

“เขาสามารถรับมือกับแรงกดดัน เขาคือผู้เล่นระดับท็อปคลาส เขาเก่งในลูกกลางอากาศ เร็ว และเยี่ยมกับลูกบนพื้น สามารถจ่ายบอล เซ็ตเกม ทุกสิ่งเกี่ยวกับเขามีระดับทุกอย่าง” 

Photo : www.irishmirror.ie

แต่นอกจากนักเตะใหม่ที่เข้ามายกระดับทีมแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ลีดส์ ชุดละอ่อนทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมคือสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของดาวรุ่งที่เติบโตมาด้วยกัน ความสนิททำให้พวกเขาเข้าขากันแบบมองตาก็รู้ใจ

“เราทุกคนอยู่ด้วยกันในสนามซ้อม เราจึงมักไปห้องโถงหลังอาหารเย็นเพื่อเตะบอลอัดกำแพงด้วยกัน หรือไปยกเวตที่ยิมเพื่ออยู่ว่าใครแข็งแกร่งที่สุด และแค่อยากทดสอบกันเอง เราแค่อยากดีขึ้นกันทั้งกลุ่ม” แมคเฟลอธิบาย 

“เราไม่มีเด็กไม่ดีในห้องแต่งตัว ไม่เคยมีสักครั้งที่เราคิดว่า ‘เราต้องเอาพวกเขาออกไป’ เราทุกคนต่างยอดเยี่ยม ถ้าเราต้องเจอการแข่งขันที่แย่ คุณจะมี แกรี เคลลี หรือ เดวิด แบ็ตตี ที่ยืนขึ้นแล้วพูดว่า ‘เชี่ยเอ้ย เราดีกว่าพวกเขา’ พวกตัวเก๋าเหล่านั้นต่างมอบความเชื่อมั่นให้เรา”

อย่างไรก็ดี น่าเศร้าที่ฟอร์มในแชมเปียนส์ลีกปี 2000-2001 กลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดของลีดส์ ที่เคยทำได้จวบจนถึงปัจจุบัน พวกเขาจบในอันดับ 4 ของตารางในปีนั้น และพลาดสิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นใน UCL ที่ทำให้ขาดรายได้อย่างมหาศาล 

แม้ว่าฤดูกาลถัดมา พวกเขาจะพยายามทุ่มเงินเสริมทัพ แต่สุดท้ายทีมทำได้ดีที่สุดแค่อันดับ 5 ของตาราง และพลาดโอกาสไปเล่น UCL อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ยังทำให้ โอเลียรี ถูกปลดจากตำแหน่งในช่วงหน้าร้อนปี 2002 

การไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลถ้วยใหญ่สโมสรยุโรป ทำให้ลีดส์ประสบปัญหาทางการเงิน พวกเขาจำเป็นต้องเทขายนักเตะล้างหนี้ ซึ่งทำให้ทีมทรุดหนักขึ้น ก่อนที่สุดท้ายจะร่วงต้นชั้นจากพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2003-2004 แถมยังเคยร่วงลงไปถึงลีกวัน และไม่เคยกลับขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดอีกเลย

Photo : www.leedsunited.com

ผ่านมากว่า 20 ปี ทีมของลีดส์เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นักเตะในทีมชุดนั้น ต่างแขวนสตั๊ดกันเกือบหมดแล้ว แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือการให้โอกาสนักเตะเยาวชนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ลีกระดับไหน พวกเขาก็ยังสร้างนักเตะดาวรุ่งขึ้นมาประดับวงการเรื่อยมา ชื่อของ เจมส์ มิลเนอร์ และฟาเบียน เดลฟ์ หรือลูอิส คุก คือข้อพิสูจน์เป็นอย่างดี

ในฤดูกาลนี้ ลีดส์เอง ก็ยังมีนักเตะดาวรุ่งหลายคนที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในทีมไม่ว่าจะเป็น คัลวิน ฟิลลิปส์ (23 ปี), เจมี แชคเคิลตัน (20 ปี) และ ไทเลอร์ โรเบิร์ต รวมไปถึงนักเตะที่ยืมตัวมาอย่าง เบน ไวท์ (22 ปี) , แจ็ค แฮร์ริสัน (22 ปี) และ เอ็ดดี เอนเคเทียห์ (20 ปี)  

ราวกับว่าปรัชญาในการปั้นเด็กที่เคยสร้างชื่อให้กับพวกเขา มันไม่เคยเปลี่ยนไป แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.the42.ie/leeds-united-2001-champions-league-stephen-mcphail-2748279-Oct2016/ 
https://www.telegraph.co.uk/sport/football/2428210/New-approach-needed-for-shattered-OLeary.html 
https://www.footballwhispers.com/blog/david-olearys-leeds-the-team-that-never-grew-up 
https://thelinesman.org/2017/04/10/leeds-united-1998-2002-david-oleary-and-the-what-if-generation/ 
https://www.theguardian.com/football/1999/jan/29/newsstory.sport2 
https://www.the42.ie/david-oleary-interview-3866496-Feb2018/ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0