โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ไขมันทรานส์" คืออะไร? ไม่ดียังไง? ทำไมต้องแบน?

Wongnai Cooking

เผยแพร่ 21 ก.ค. 2561 เวลา 15.49 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ไขมันทรานส์คืออะไร? ทำไมต้องแบน? มารู้จักกับ "ไขมันทรานส์" ให้มากขึ้น พร้อมส่องเมนูฮิต ว่ามีปริมาณไขมันทรานส์มากแค่ไหน!

     เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงเห็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เป็นราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้ “ไขมันทรานส์” แล้วสงสัยกันไหมว่า “ไขมันทรานส์” คืออะไร? ทำไมต้องแบน? แล้วจะส่งผลอะไรกับอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันหรือไม่ วันนี้ Wongnai จะมาตอบคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยกัน!

ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid) คืออะไร?

“ไขมันทรานส์” (Trans-fatty acid) คือการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acid) ด้วยการเติมไฮโดรเจนเข้าไป

ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

ทำไมต้องแปรรูป?

เพื่อเปลี่ยนสภาพไขมันไม่อิ่มตัวจากของเหลวกลายเป็นของแข็ง ณ อุณหภูมิห้อง ช่วยให้เก็บได้นานขึ้น ทนความร้อนได้สูงขึ้น ไม่เหม็นหืน และไม่เป็นไข

ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

ทำไมต้องแบนไขมันทรานส์?

“ไขมันทรานส์” นอกจากจะเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL-C) แล้ว ยังลดคอเลสเตอรอลตัวที่ดี (HDL-C) อีกด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอ้วน)

ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

ปริมาณไขมันทรานส์ที่ร่างกายได้รับต่อหนึ่งวันไม่ควรเกินเท่าไหร่?

     ตามที่ FAO/WHO กำหนดไว้ว่าคนเราไม่ควรได้รับไขมันทรานส์เกิน 1% ของพลังงานรวมที่ได้รับ เช่น ถ้าความต้องการพลังงานต่อวันโดยเฉลี่ยคือ 2000 กิโลแคลอรีต่อวัน ปริมาณไขมันทรานส์ที่ไม่ควรได้รับเกินกว่านี้คือ 2.2 กรัม/วัน

ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

ตัวอย่างเมนูที่มีไขมันทรานส์

1โดนัท

ขนมทรงกลมมีรูตรงกลางที่ใคร ๆ ต่างก็ชอบกิน แต่รู้หรือไม่ว่าโดนัทนั้นผ่านการทอดด้วยเนยขาว ทำให้อุดมไปด้วยไขมันทรานส์ในทุกคำที่กัด!

โดนัท เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
โดนัท เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

2ขนมปังปิ้งทาเนย (มาการีน)

อีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่พลาดไม่ได้เวลาไปร้านนม แต่รู้หรือไม่ว่า แต่ละแผ่นอุดมไปด้วยมาการีนแบบเต็มสูบ! เพราะบางร้านลดต้นทุนด้วยการใช้มาการีนแทนเนยสด เพราะฉนั้นก่อนจะสั่งกินที่ร้านไหน ก็อย่าลืมดูก่อนล่ะว่าที่กินเข้าไปนั้นเป็นมาการีนหรือเนยสด

ขนมปังปิ้งทาเนย เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ขนมปังปิ้งทาเนย เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

3โรตี

สำหรับลิสต์เมนูอุดมไขมันทรานส์ พลาดไม่ได้เลยกับเมนูสตรีทฟู้ดยอดฮิตอย่างโรตี เห็นก้อนเหลือง ๆ ที่ใส่ลงไปก่อนทอดโรตีนั้นไหม มาการีนเน้น ๆ !

โรตี เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
โรตี เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

4ครัวซองต์

เมนูเบเกอรี่ยอดฮิตที่พบได้ทั่วไป ถ้าเป็นร้านที่ใช้เนยสดก็จะมีราคาสูงหน่อย เพราะฉนั้นถ้าจะลดต้นทุน ก็ต้องใช้มาการีนแทรกเข้าไปในทุกชั้นของแป้งแทน!

ครัวซองต์ เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ครัวซองต์ เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

5ข้าวโพดคั่ว

คอหนังจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบข้าวโพดคั่ว เนื่องจากเป็นขนมที่กินเพลิน เหมาะสุด ๆ สำหรับกินเวลาดูหนัง แต่รู้หรือไม่ว่า การที่จะคั่วข้าวโพดให้แตกนั้นใช้ความร้อนสูงจนทำให้เนยแท้ ๆ ไหม้ได้ ดังนั้นการใช้มาการีนที่ทนความร้อนจึงเป้นทางออกที่ดีเลยทีเดียว

ข้าวโพดคั่ว เมนูที่มีไขมันทรานส์  (Trans-fatty acid)
ข้าวโพดคั่ว เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

6ไก่ทอด

การจะทอดไก่ทอดให้สีเหลืองกรอบน่ารับประทาน บางร้านเลือกที่จะใช้เนยขาวในการทอด เพราะคุณสมบัติทนความร้อน ทำให้อาหารที่นำลงทอดนั้นสีสวย กรอบนาน

ไก่ทอด เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ไก่ทอด เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

7เนื้อย่างกระทะร้อน

พลาดไม่ได้กับสายปิ้งย่าง กับเนื้อย่างกระทะร้อนหอมกรุ่นกลิ่นเนย(เทียม) แต่รู้หรือไม่ว่าการจะตั้งกระทะบนเตาถ่านร้อน ๆ เป็นเวลานานนั้น ถ้าใช้เนยสดเนยจะไหม้ง่ายแบบสุด ๆ เพราะฉนั้นตามร้านเนื้อย่างกระทะร้อน ต่างใช้มาการีนเพื่อให้ทนต่อความร้อนกันแทบทั้งนั้น

เนื้อย่างกระทะร้อน เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
เนื้อย่างกระทะร้อน เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

8ขนมขาไก่

ขนมปี๊บยอดฮิตสำหรับวัยเด็ก กินเป้นประจำเวลาไปออกค่ายหรือทัศนศึกษา ทุกชิ้นที่กินอุดมไปด้วยไขมันทรานส์ เพื่อให้กรอบนาน เก็บได้นาน และไม่เหม็นหืน

ขนมขาไก่ เมนูที่มีไขมันทรานส์  (Trans-fatty acid)
ขนมขาไก่ เมนูที่มีไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

ในช่วง 180 วันก่อนราชกิจจานุเบกษาจะถูกบังคับใช้ ควรหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์อย่างไร?

- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของเนยเทียม (Margarine) หรือเนยขาว (Shortening)

- อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีข้อความว่า “Partially Hydrogenated Oil” อยู่บนฉลาก

- เลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง

- ดื่มนมไขมันต่ำ (Low fat milk) หรือนมที่ไม่มีไขมัน (Skim milk) แทนนมไขมันเต็มส่วน (Whole milk)

ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
ไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

หากไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันทรานส์ แล้วจะใช้อะไรแทน?

- ในด้านของเบเกอรี่อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้เนยสดแทน ซึ่งอาจจะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งเนื้อสัมผัสอาจจะเปลี่ยนไปจากสูตรเดิม

- ส่วนของทอดซึ่งเดิมทีอาจจะใช้เนยขาวในการทอดเพื่อให้มีเนื้อสัมผัสกรอบอร่อย สามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันปาล์ม

วัตถุดิบทดแทนไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)
วัตถุดิบทดแทนไขมันทรานส์ (Trans-fatty acid)

     เท่านี้ก็รู้คำตอบกันแล้วใช่ไหมล่ะว่า “ไขมันทรานส์” คืออะไร? และทำไมต้องแบน? การแบนไขมันทรานส์ครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงกับวงการอาหารแล้ว ก็ยังส่งผลไปถึงโรงงานหรือผู้ผลิตสินค้าโดยตรงอีกด้วย ในอนาคตก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารบางอย่างทำให้รสชาติดั้งเดิมที่เราเคยกินนั้นหายไป รวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวด้วยการปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์ทั้งหมดให้ปราศจากไขมันทรานซ์ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน ก็หวังว่าในอีกไม่ช้าพวกเราจะได้กินอาหารอร่อย ๆ ที่ปราศจากไขมันทรานส์ตัวร้าย และมีผลิตภัณฑ์ทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ ออกมาให้พวกเราได้เลือกสรรกันอย่างมีความสุข

References :  กองโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, (2013). “ตารางปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร.” เข้าถึงได้จาก: https://www.honestdocs.co/trans-fats-in-baked-and-fried-thai-food  สืบค้น 17 กรกฎาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0