โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ไขปริศนาธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ ‘อแลน ทัวริง’ คือใคร

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 05.10 น.

ธนาคารกลางอังกฤษได้เผยแพร่ภาพธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ ที่จะนำออกมาใช้ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564 เป็นธนบัตรเคลือบพลาสติกโพลีเมอร์ ที่มีภาพของบุรุษคิ้วเข้ม จมูกโด่ง ริมฝีปากบาง ระบายยิ้มอ่อนๆที่มุมปาก ลายเซ็นใต้ภาพระบุชื่อ อแลน ทัวริง (Alan Turing) หลายสงสัยว่าเขาคือใคร? ปกติบุคคลที่จะขึ้นมาปรากฏโฉมอยู่บนธนบัตรมักจะเป็นผู้นำประเทศ หรือบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ แล้วอแลน ทัวริง เป็นใคร มีบทบาทในประวัติศาสตร์ของอังกฤษอย่างไร

 

คำถามนี้ไม่ต้องเป็นปริศนาคาใจ เมื่อนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติอังกฤษมาไขข้อข้องใจด้วยตัวเอง  การจัดทำและออกแบบธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่นี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอชื่อบุคคลที่พวกเขาอยากให้ปรากฏบนหน้าธนบัตร และ“อแลน ทัวริง” ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาจำนวนเกือบๆ 1,000 คนในสาขาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานควรค่าแก่การเชิดชู   บุคคลผู้นี้เป็นนักคณิตศาสตร์ ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งปัญญาประดิษฐ์” (father of artificial intelligence) ของอังกฤษ เป็นผู้ที่ใช้ความสามารถในการ “ถอดรหัส” ทำให้อังกฤษสามารถรอดพ้นจากการถูกโจมตีโดยกองทัพนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันแถลงข่าว 15 ก.ค.2562
มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันแถลงข่าว 15 ก.ค.2562

“อแลน ทัวริง เป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถโดดเด่น ผลงานของเขามีผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อวิถีชีวิตของพวกเราในปัจจุบัน” ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษถึงกับเปรียบเทียบว่า ทัวริงนั้นเป็นเสมือนยักษ์ใหญ่ที่หลายคนทุกวันนี้สามารถเหยียบยืนบนบ่าของเขา  ในปี 2557 เคยมีการสร้างภาพยนตร์ที่เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติชีวิตของนักคณิตศาสตร์ผู้นี้ ผลงานโดดเด่นที่สุดของทัวริงคือการประดิษฐ์เครื่องมือถอดรหัสตัวเลขฐานสอง (binary code) ที่กองทัพเยอรมันใช้เป็นรหัสแทนตัวอักษรในการสื่อสารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้รัฐบาลอังกฤษรู้แผนการของนาซีและสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น  ต่อมาหลังยุคสงคราม ทัวริงยังมีผลงานร่วมพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆของโลก งานของเขาที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถคิดแทนมนุษย์ได้หรือไม่นั้น ปูพื้นฐานมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ในปัจจุบัน
 

การตัดสินใจเชิดชูให้อแลน ทัวริง เป็นบุคคลสำคัญบนธนบัตรในครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการสนับสนุนความหลากหลายทางสังคและส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างกันของบุคคลบนหน้าธนบัตร เนื่องจากทัวริงนั้น เป็นที่รู้กันในสังคมยุคอดีตว่าเป็น “ชายรักชาย’  เขาถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกันเมื่อปี 2495 ถูกลงโทษอย่างโหดร้าย และอแลน ทัวริง ปลิดชีพตัวเองในปี 2497 ต่อมาเขาได้รับการอภัยโทษ(แม้เสียชีวิตไปแล้ว)จากพระบาทสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซเบธในปี 2556 เพื่อคืนเกียรติให้กับเขา ผู้ซึ่งมีคุณูปการยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมมาจนทุกวันนี้

 

สำหรับรูปลักษณ์ของธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของอังกฤษในปี 2564 นั้น จะเป็นธนบัตรเคลือบพลาสติกโพลีเมอร์ ที่มีภาพถ่ายของอแลน ทัวริง สมัยช่วงปี 2494 ด้านหลังเป็นตารางสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เป็นผลงานทางวิชาการของเขา ประกอบด้วยภาพคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ รหัสเลขฐานสอง และคำพูดของเขาที่ว่า “สิ่งนี้เป็นเพียงรสสัมผัสแรกของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นเพียงร่างเงาของสิ่งที่กำลังจะเป็นไป” ซึ่งหมายถึงผลงานการคิดค้นคอมพิวเตอร์ในยุคต้นๆ ของทัวริง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0