โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ไขข้อสงสัย ก่อน บริจาคโลหิต ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

MThai.com - Health

เผยแพร่ 20 ธ.ค. 2560 เวลา 05.00 น.
ไขข้อสงสัย ก่อน บริจาคโลหิต ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
การ บริจาคโลหิต นอกจากคุณจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้แล้ว คุณยังได้กระตุ้นร่างกายให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ มีผลให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น

การ บริจาคโลหิต ถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันนะคะ เพราะเลือดของคุณสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งการรักษาหลายๆ อย่าง เดี๋ยวนี้คนจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการบริจาคโลหิตมากขึ้น วันนี้ Health Mthai จะมาบอกข้อควรรู้ก่อนการบริจาคโลหิตให้ฟังกันค่ะ

โลหิตสำคัญอย่างไร

ในร่างกายคนเรามีเลือดไหลเวียนอยู่ในตัว เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอาหาร น้ำ ออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำสารพิษ ของเสีย และคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่างๆ เพื่อนำไปกำจัดออกจากร่างกายเพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ในเลือดมีทั้งของเหลว (ส่วนน้ำ) และเซลล์ชนิดต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ต่างกัน ดังนี้

  • เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เนื้อเยื่อออกไปขับถ่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณประมาณร้อยละ40–45 ของเลือดทั้งหมด และมีอายุเพียง 120 วัน
  • เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ให้ภูมิคุ้มกันเหมือนทหารปกป้องเชื้อโรคในร่างกาย มีปริมาณประมาณ 1% ของเลือด
  • เกร็ดเลือด ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนของเซลล์ขนาดเล็ก มีอยู่ประมาณ 5% ของเลือด
  • พลาสมา เป็นสารน้ำสีเหลือง มีโปรตีน เกลือแร่ ไขมัน ฮอร์โมน ไวตามิน มีปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด
คุณสมบัติของผู้บริจาคโลหิต
  • เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว
  • อายุ 18 – 60 ปี
  • น้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
  • ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันเลือดแข็งตัว ฮอร์โมนเพศ
  • ไม่มีประวัติเป็นโรคมาลาเรียในระยะเวลา 3 ปี
  • ไม่ได้รับการถอนฟันหรือขูดหินปูน ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด ไม่มีบาดแผลสดหรือแผลติดเชื้อใดๆ ตามร่างกาย
  • ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในระยะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ใครบ้างที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด มะเร็ง ลมชัก โรคเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก
  • ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือคู่ครอง (สามีหรือภรรยา) เป็นไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอสไอวี หรือซิฟิลิส
  • ผู้เสพยาเสพติดชนิดใช้เข็มฉีดยา
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ มีคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
เตรียมพร้อมอย่างไรก่อนบริจาคโลหิต

เพื่อมิให้ผู้บริจาคโลหิตอ่อนเพลียมากหลังบริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตจึงควรเตรียมตัวดังนี้

  • ก่อนบริจาคโลหิต 1–2 วัน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น เลือดไหลเวียนดี
  • งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมาก ก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน
  • รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิตประมาณ 4 ชั่วโมง
  • นอนหลับพักผ่อนเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมง

แต่ละครั้งโรงพยาบาลต้องการโลหิตประมาณ 350–450 ซีซี/คน ซึ่งปริมาณจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัย โลหิตที่ได้จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบก่อนนำไปให้ผู้ป่วยคือ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และตรวจหาไวรัสเอดส์

หลังบริจาคเสร็จ ต้องทำอย่างไร
  • หลังการบริจาคโลหิตเสร็จแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที รับประทานขนมหรืออาหารว่าง ดื่มน้ำ/เครื่องดื่ม 1-2 แก้ว แล้วรับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ตับ ไข่ เลือดหมู เลือดไก่ ผักใบเขียวและผักที่มีสีเหลืองฃ
  • งดสูบบุหรี่หลังบริจาคโลหิตอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แต่ถ้าจะดื่มผู้บริจาคโลหิตควรรับประทานอาหารให้มากพอก่อนดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์

เมื่อคุณบริจาคโลหิตไปแล้วเท่ากับว่า คุณได้กระตุ้นร่างกายให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ (เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน) มีผลให้สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น สำหรับผู้หญิงสามารถบริจาคได้ทุก 6 เดือน ส่วนผู้ชายบริจาคได้ทุก 3 เดือน

ที่มา :  รศ.พญ.ศศิจิต  เวชแพศย์ ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0